“คมนาคม” เร่งสปีดโครงการสำคัญ รถไฟฟ้า 20 บาท เตรียมเพิ่ม Feeder เชื่อมโครงข่ายรถไฟฟ้าเร่งด่วน อีก 30 เส้นทาง

วันอังคารที่ 02 เมษายน พ.ศ. 2567

“คมนาคม” เร่งสปีดโครงการสำคัญ รถไฟฟ้า 20 บาท เตรียมเพิ่ม Feeder เชื่อมโครงข่ายรถไฟฟ้าเร่งด่วน อีก 30 เส้นทาง


“คมนาคม” เร่งสปีดโครงการสำคัญ รถไฟฟ้า 20 บาท ตอบโจทย์ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 26.99 % เตรียมเพิ่ม Feeder เชื่อมโครงข่ายรถไฟฟ้าเร่งด่วน อีก 30 เส้นทาง คืบหน้ารถไฟทางคู่ นครปฐม - ชุมพร พร้อมเร่งรัดรถไฟความเร็วสูงฯ กรุงเทพฯ – นครราชสีมา

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เร่งรัดทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมร่วมขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 1/2567 โดยมีผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในสังกัดเข้าร่วมประชุม ในวันที่ 2 เมษายน 2567 ณ ห้องประชุมคมนาคม กระทรวงคมนาคม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า วันนี้ได้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานโครงการสำคัญตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ทุกหน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีการดำเนินงานโครงการสำคัญ ดังนี้ 

- นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย (รถไฟชานเมืองสายสีแดงและรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง) เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน พบว่ามีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 26.99 % ปัจจุบันมีรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยปรับปรุงเส้นทางรถโดยสารประจำทางหมวด 1 ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่องให้เชื่อมต่อกับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 15 เส้นทาง เป็นรถโดยสาร ขสมก. 8 เส้นทาง รถบริษัทไทยสมายล์บัสและบริษัทในเครือ 7 เส้นทาง นอกจากนี้ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการจัดเส้นทาง Feeder เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยจะผลักดันดำเนินการระยะเร่งด่วน 30 เส้นทาง ภายในปี 2567 เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดง ส่วนระยะกลางภายในปี 2568 - 2569 จะผลักดันอีก 15 เส้นทางรองรับการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว สายสีชมพู และสายสีส้ม และอีก 66 เส้นทางจะดำเนินการในระยะถัดไปตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป 

- การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม - หัวหิน และช่วงประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร มีความคืบหน้าสัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม - หนองปลาไหล มีผลงาน 98.05% สัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล - หัวหิน มีผลงาน 99.12% สัญญาที่ 3 ช่วงหัวหิน - ประจวบคีรีขันธ์ เสร็จแล้ว 100% อยู่ระหว่างส่งมอบงานตามสัญญา สัญญาที่ 4 ประจวบคีรีขันธ์ - บางสะพานน้อย มีผลงาน 95.46% สัญญาที่ 5 ช่วงบางสะพานน้อย - ชุมพร มีผลงาน 99.08% และสัญญาที่ 6 การจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม มีผลงานสะสม 57.76% คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการทั้งเส้นทางได้ในเดือนสิงหาคม 2567 

- โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ กรุงเทพฯ - นครราชสีมา งานโยธา ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา มีผลงานสะสม 31.92 % ข้อมูล ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ประชุมได้มอบหมายให้ รฟท. เร่งรัดการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงาน ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้การก่อสร้างล่าช้า ให้หลีกเลี่ยงการต่อขยายสัญญาออกไปอีก เว้นแต่เป็นกรณีเหตุสุดวิสัยตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมอบให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ช่วยกำกับดูแลการก่อสร้างของ รฟท. ให้เป็นไปตามแผนงาน ตลอดจนเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง 

- โครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จภายในกลางปี 2568 ได้มอบให้กรมทางหลวง (ทล.) กำหนดตัวบุคคลเพื่อรับผิดชอบดูแลแต่ละสัญญา โดยแผนงานการก่อสร้างฯ ซึ่งปัจจุบันล่าช้ากว่าแผนงาน ให้นำแผนฯ มาทำ recovery plan เพื่อให้โครงการฯ แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด และผู้รับผิดชอบแต่ละสัญญา ต้องรายงานมายังอธิบดี และรายงานมายังกระทรวงฯ ทราบเป็นรายเดือน

- การเร่งรัดการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตของ ทล. ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทล.4027 ช่วง บ้านพารา - บ้านเมืองใหม่ โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 (ทางลอดท่าเรือ) โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ช่วง บ้านเมืองใหม่ - สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต (ทางเลี่ยงเมือง) โดยทั้ง 3 โครงการจะแล้วเสร็จภายในปี 2569 สำหรับการดำเนินโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 (ทางลอดท่าเรือ) ที่ กม. 34+680 (ทล.402) มีความละเอียดอ่อน ทั้งในมิติของการอัญเชิญอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ตลอดจนการบริหารจัดการการจราจรในปัจจุบัน และระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้ ทล. นำข้อกำหนดต่าง ๆ ใส่ไว้ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำ TOR ด้วย นอกจากนี้ ได้มอบหมาย ทล. กำหนดคุณสมบัติผู้รับจ้างเป็นลำดับชั้นพิเศษ เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างที่มีมาตรฐาน/เทคโนโลยีสูงสุด และกำหนดบทปรับสูงสุด เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้ผู้รับจ้างที่มีคุณภาพ สำหรับการแก้ไขปัญหาจราจรในปัจจุบัน และการบริหารการจราจร ได้มอบหมายให้หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจ และ สนข. เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวต่อไป

- การแก้ไขเรือขนาดใหญ่ไม่สามารถผ่านสะพานสารสินได้ โดย ทล. มีโครงการก่อสร้างสะพานสารสินแห่งใหม่ เสนอขอจัดสรรงบประมาณเพื่อออกแบบรายละเอียดในปี 2568 วงเงิน 80 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2572 ส่วนกรมเจ้าท่า (จท.) มีแนวทางขุดลอกร่องน้ำให้มีความลึก 4 - 4.5 เมตร พัฒนาเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำปากพระ - สารสิน จังหวัดภูเก็ต โดยจะใช้งบประมาณศึกษาความเหมาะสมฯ 10 ล้านบาท จากงบประมาณเหลือจ่ายปี 2567 ของ จท.

 - การอนุญาต Super Yacht เข้าในราชอาณาจักร โดย จท. ได้จัดทำข้อมูลเรื่องการดำเนินการรองรับนักท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตที่เดินทางโดยเรือสำราญ Yacht/Super Yacht รวมทั้งศึกษาความจำเป็นของขั้นตอนแนวทางการปฏิบัติและระยะเวลาการขออนุญาตตามกฎหมาย กรณีการนำเรือ Super Yacht เข้ามาในประเทศไทย เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการขออนุญาตให้มีความรวดเร็ว และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเพิ่มขึ้น

- การพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ตามนโยบายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของรัฐบาล จท. ได้วางแผนพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ครอบคลุมเส้นทางเดินเรือฝั่งอ่าวไทยรองรับการเดินเรือในเส้นทางจากท่าเรือต้นทางที่สิงคโปร์และท่าเรือปลายทางที่ฮ่องกง โดยจอดที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี สำหรับฝั่งอันดามันรองรับการเดินเรือในเส้นทางจากท่าเรือต้นทางที่สิงคโปร์ แวะเข้าจอดที่เกาะภูเก็ต และจังหวัดกระบี่ ปัจจุบันโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ณ ท่าเรือแหลมฉบัง และบริเวณฝั่งอันดามันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ความคุ้มค่า รูปแบบการลงทุนพัฒนารวมถึงวิเคราะห์การดำเนินการตามแนวทาง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 สำหรับโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือฯ อำเภอเกาะสมุย ศึกษาความเหมาะสมฯ แล้วเสร็จ

- การติดตามความคืบหน้าด้านกฎหมายสำคัญ อาทิ ความคืบหน้าการผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระทรวงฯ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในหลักการ หลังจากนั้น ขร. จะขอรับการสนับสนุนเพื่อผลักดันในประเด็นการเร่งรัดและติดตามการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ของฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้โดยเร็ว ซึ่งหาก พ.ร.บ. การขนส่งทางราง พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้จะทำให้มีกฎหมายที่จะช่วยคุ้มครองผู้โดยสารและผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางราง รวมทั้งมีบทกำหนดโทษผู้ที่กระทำการใด ๆ ที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขใด ๆ ตามที่กฎหมายนี้กำหนด เช่น กรณีเกิดอุบัติเหตุระบบรางจะมีบทลงโทษและบทบัญญัติที่เข้มข้นขึ้น ส่วน (ร่าง) พ.ร.บ. ตั๋วร่วม พ.ศ. .... ขณะนี้คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วมเห็นชอบในหลักการแล้ว อยู่ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) พิจารณา จากนั้นจะนำเรื่องเข้า ครม. พิจารณาอนุมัติต่อไป  ทั้งนี้ พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ คาดว่ามีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2568

- สำหรับความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมผลักดันให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่มาตรฐานการบินขององค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA CAT1) เพื่อให้สายการบินของไทยกลับไปให้บริการในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งจะทำให้สายการบินของไทยสามารถให้บริการเข้าสหรัฐอเมริกาได้ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อมในทุกด้าน ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จะได้ประสานงาน FAA เพื่อเข้าตรวจภายในปี 2567

นอกจากนี้ นายสุริยะ ได้มอบนโยบายแนวทางการดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเพื่อเตรียมประชุมครั้งต่อไป ดังนี้ 
1. แนวทางการขับเคลื่อนโยบาย Aviation Hub ของรัฐบาล โดยได้มอบหมายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กพท. และสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) บูรณาการแนวทางการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมร่วมกัน โดยให้ ทอท. และ กพท. พิจารณาดำเนินการ ดังนี้ 

1) ให้ ทอท. เร่งดำเนินการ ดังนี้  

• เร่งรัดศึกษาทบทวน แผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสาร 80 ล้านคนในระยะสั้น 1 - 3 ปีนี้ และ 150 ล้านคนในระยะยาว ตามข้อสั่งการของรัฐบาล 

• ศึกษาแนวทางการรับโอนบริหารจัดการท่าอากาศยานในภาพรวม ของ ทย. เพื่อลดปัญหาการลงทุนภาครัฐ การขาดทุนของท่าอากาศยาน และการบริหารจัดการสายการบิน

• จัดทำ Action Plan การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และท่าอากาศยานอีก 4 แห่ง และที่จะสร้างใหม่อีก 2 แห่ง ทั้งที่ล้านนาและอันดามัน ให้เป็นรูปธรรม  

• จัดทำ Action Plan การบริการภาคพื้นและภายในอาคารผู้โดยสาร
2) ให้ กพท. 

• ร่วมกันกับผู้บริหารท่าอากาศยาน และสายการบินในการรื้อปรับเปลี่ยน slot การบินเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยสูงสุด ให้เหมาะสมที่จะดึงสายการบินมาใช้ท่าอากาศยานของประเทศไทย โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในการเป็น Transit Hub 

• ปรับปรุงกฎระเบียบในการให้บริการ จดทะเบียน  และอำนวยความสะดวกในการใช้อากาศยานส่วนบุคคล เพื่อให้ ประเทศไทย เป็น Hub ของ Private jet อย่างเต็มรูปแบบ ให้ดี และสะดวกที่สุดในภูมิภาค

• เตรียมระเบียบและกฎหมาย รองรับอากาศยานไร้คนขับ เพื่อควบคุมการใช้ให้ปลอดภัยทั้งกับประชาชนและท่าอากาศยาน

• ศึกษาและวางแผนการใช้ Sustainable Aviation Fuel (SAF) เชื้อเพลิงอากาศยานอย่างยั่งยืน (SAF) ในการจัดทำข้อกำหนดการผสมเชื้อเพลิง SAF สำหรับอากาศยานระหว่างประเทศที่มีการเติมในประเทศไทย โดยคำนึงถึงข้อกำหนดของ ICAO EU และสิงคโปร์ เพื่อให้ประเทศไทยมีการพัฒนาด้าน SAF อย่างเหมาะสม

นายสุริยะ กล่าวต่ออีกว่า การขับเคลื่อนและติดตามโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมที่ต้องดำเนินการในปี 2567 และปี 2568 ในทุกมิติทั้งทางบก ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความสะดวก ปลอดภัย และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยมีโครงการที่สำคัญรวม 72 โครงการ พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดภายใต้กรอบนโยบาย “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ต่อไป



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ