เมื่อครั้งอดีต ‘แท็กซี่’ ถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับคนขับและเถ้าแก่เป็นอย่างมาก การผลักดันให้เปิดเสรีแท็กซี่จึงเกิดขึ้น เพื่อตอบสนองผู้โดยสารที่หันมาใช้บริการรถสาธารณะทางเลือกมากขึ้น
วันเวลาผ่านไป อาชีพแท็กซี่ กำลังเข้าสู่ทางตัน เพราะการระบาดหนักของไวรัสร้าย ‘โควิด-19’ ได้ทำลายทุกวงการให้ต้องทำมาหากินยากมากขึ้น เพราะผู้คนต่างหวาดกลัวซึ่งกันและกัน จากอดีตที่คนใช้บริการอย่างแพร่หลายกลับหดหายไปอย่างดื้อๆ ส่งผลให้คนขับและอู่ต่างๆ ต้องปรับตัวต่อสู้กับวิกฤตครั้งนี้ เพื่อไม่ให้อาชีพนี้ต้องล้มหายตายจากไป
จากวิกฤตโควิดที่เลวร้ายแล้ว ก็ยังมีวิกฤตด้านพลังงาน ที่ปรับตัวขึ้น-ลงเป็นรายวัน ยิ่งส่งผลกระทบต่อวงการแท็กซี่เป็นอย่างมาก ส่งผลให้ยอดแท็กซี่ลดลงฮวบๆ จาก 1 แสนคัน เหลือวิ่งตามท้องถนนเพียงแค่ 4-5 หมื่นคัน
เมื่อบรรดาแท็กซี่เจอวิกฤตทั้งโรคระบาดและพลังงานที่ไม่นิ่ง การคำนวณรายได้ในแต่ละวันจึงเป็นปัญหาใหญ่ ให้คนขับเลือกที่จะจอดรถทิ้งแล้วไปทำอาชีพอื่นที่อาจจะมั่นคงกว่าการขับแท็กซี่
ทว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเร่งผลักดันให้มีพลังงานทางเลือกที่ถาวรกว่า นั่นก็คือ พลังงานไฟฟ้า เพราะชาวโลกอยู่ระหว่างทำหมันเครื่องยนต์สันดาปที่เป็นมลพิษต่อโลก และวางเป้าให้ปี 2035 จำหน่ายรถยนต์ได้ต้องเป็นพลังงานไฟฟ้า 100% เท่านั้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า วงการแท็กซี่ส่วนบุคคล ยังไม่มีพลังงานไฟฟ้าวิ่งบนท้องถนนเลย แต่ใครจะเชื่อว่า ปัจจุบันมีนักธุรกิจคนไทย 100% ได้ผลักดันให้มีแท็กซี่ไฟฟ้า เข้าสู่วงการเรียบร้อยแล้ว โดยมีแผนใหญ่เบิ้มที่จะผลักดันให้มีแท็กซี่ไฟฟ้าในอนาคตมากกว่า 1 หมื่นคันทีเดียว
ทีมข่าว “สยามธุรกิจ” ได้จับเข่าคุยกับนักธุรกิจไฟแรง “ดร.อัครนันท์ อริยศรีพงษ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออโต้ ไดร์ฟ อีวี จำกัด ผู้ริเริ่มผลักดันให้มีแท็กซี่ไฟฟ้าส่วนบุคคลเจ้าแรกในไทย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
จุดเริ่มต้นแนวคิดโครงการรถแท็กซี่ไฟฟ้าสีขาว
ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 อย่างหนัก และตนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงมีแนวคิดว่า อยากช่วยหาวิธีช่วยลดมลภาวะทางอากาศเป็นพิษให้กับบ้านเราเอง เมื่อลงรายละเอียดลึกๆ แล้ว รถแท็กซี่ ก็คือธุรกิจที่น่าสนใจ เพราะมีจำนวนมากกว่า 1 แสนคัน แต่กลุ่มแท็กซี่ก็มีปัญหาเรื่องพลังงานที่ไม่นิ่ง บางวันขับรถแล้วก็เหลือตังค์กลับบ้านไม่เท่าไหร่ เพราะหมดไปกับค่าแก๊ส
ดังนั้น ทางบริษัทฯ จึงเร่งหาพันธมิตรในการจัดหารถยนต์ไฟฟ้า เพื่อดำเนินจดทะเบียนให้ได้ เมื่อทำการศึกษามาสักพักก็ได้เล็งเห็นว่า รถยนต์ไฟฟ้าของค่าย MG ตอบโจทย์ที่สุด ทางบริษัทฯ จึงร่วมมือกับสหกรณ์แท็กซี่ และยื่นจดทะเบียนเป็นรถแท็กซี่ (สีขาว) พลังงานไฟฟ้า 100% เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยลดมลภาวะทางอากาศ
จับมือค่ายรถ MG ผลิตแท็กซี่ไฟฟ้าสีขาวเจ้าแรกในไทย
บริษัทฯ เป็นผู้จัดหารถยนต์ไฟฟ้า เพื่อนำมาใช้เป็นแท็กซี่ไฟฟ้า โดยได้ลือกใช้รถไฟฟ้า ยี่ห้อ MG รุ่น EP เพื่อไปดำเนินการขอยื่นจดทะเบียนกับทางกรมการขนส่งทางบก ให้เป็นรถรับจ้างบรรทุกโดยสาร (แท็กซี่) พลังงานไฟฟ้า 100% ซึ่งได้รับอนุมัติเป็นที่เรียบร้อย และถือเป็นเจ้าแรกในไทยที่นำร่องให้มีแท็กซี่ไฟฟ้า (สีขาว) ส่วนบุคคลในไทย ในวันที่ 31 ม.ค. 2565 ซึ่งตรงกับวันตรุษจีนพอดี โดยมีอัตราค่าบริการตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด (เท่ากับรถแท็กซี่ในปัจจุบัน) อย่างไรก็ดี แท็กซี่ไฟฟ้านี้ จะใช้ตัวถังรถเป็นสีขาว ส่วนสีของข้อความและสัญลักษณ์ต่างๆ ให้ตัดกับสีของตัวถังรถและมองเห็นได้อยางชัดเจน เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่สนันสนุนการใช้รถ EV ในประเทศไทย
โควิด-19 ทำพิษ แท็กซี่จอดทิ้งเกิน 50%
สำหรับรถแท็กซี่ที่วิ่งในปัจจุบันก่อนมีการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 มีประมาณ 1 แสนคัน ตอนนี้ออกมาวิ่งเหลือประมาณ 4-5 หมื่นคัน และตอนนี้มีรถแท็กซี่ที่จอดทิ้งไว้ไม่สามารถขับได้เป็นจำนวนมาก หากทำการซ่อมแซมปรับปรุงต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 120,0000 บาทต่อคัน ซึ่งมองแล้วไม่คุ้ม จึงเป็นโอกาสที่ดี สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 100% ที่จะออกมาบริการในสถานการณ์ตอนนี้
เตรียมแผนจัดซื้อปีนี้ 500 คัน อนาคตเพิ่มเป็น 1 หมื่นคัน
ภายในปี 2565 ทางบริษัทฯ ได้เตรียมแผนจัดซื้อรถแท็กซี่ EV MG EP จำนวน 500 คัน ในวงเงินกว่า 500 ล้านบาท และในอนาคตจะเพิ่มขึ้น 10,000 คัน อย่างแน่นนอน เพราะพลังงานไฟฟ้ากับพลังงานน้ำมัน หรือพลังงานแก๊ส แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยไฟฟ้า 100% จะช่วยลดมลภาวะ ฝุ่น PM 2.5 ได้ประมาณ 15% จากการใช้รถยนต์บนท้องถนนในปัจจุบัน ที่สำคัญยังลดภาระค่าใช้จ่ายของคนขับ แท็กซี่ รวมถึงยังลดต้นทุนของผู้ประกอบการอีกด้วย
มีแท็กซี่ไฟฟ้าแบบขาย และเช่าขับ
สำหรับการดำเนินธุรกิจแท็กซี่ไฟฟ้าครั้งนี้ ทางบริษัทฯ มีทางเลือก 2 แบบ คือ 1.จัดจำหน่ายในราคาที่สมเหตุสมผล 2.ให้เช่าขับ ซึ่งรายได้จะเป็นการ sharing ระหว่างผู้ประกอบการ และคนขับแท็กซี่ ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่ารถแท็กซี่ในปัจจุบันแน่นอน
รถไฟฟ้า MG-EP คุ้ม วิ่งไกล 380 กม./ชาร์จ
การที่บริษัทฯ เลือกใช้รถยนต์ของค่าย MG รุ่น EP เพราะด้วยสมรรถนะดี ประหยัด คุ้มค่า รูปทรงที่ทันสมัย พื้นที่ด้านหลังสามารถจุสัมภาระได้ทุกขนาด ได้ถึง 1,456 ลิตร การขับเคลื่อนได้ไกลกว่า ประหยัดกว่า ต้นทุนการบำรุงรักษาต่ำ และต้นทุนการเป็นเจ้าของที่คุ้มค่ากว่า ที่สำคัญสามรถวิ่งได้ไกลกว่า 380 กม. ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง โดยการชาร์จนั้น จะมี 2 รูปแบบ คือ 1. Quick Charge ใช้เวลาประมาณ 40 นาที (ชาร์จพลังงาน 0% - 80%) และ 2.Normal Charge ใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง15 นาที (ผ่าน MG Home Charge 0% - 100%)