หลังจาก นายสุทธิพงษ์ คงพูล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (มาตรฐานและความปลอดภัย) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เข้าวินมาเป็นที่ 1 แซงหน้า นายจุฬา สุขมานพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และอดีตผู้อำนวยการ กพท. ผู้ปลดธงแดง ICAO แบบเฉียดฉิวแค่ 10 คะแนน
โดยคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (บอร์ดกำกับ กพท.) ได้รายงานความคืบหน้าคณะอนุกรรมการสรรหาและคัดเลือกผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. ที่ประชุมบอร์ดกพท.ได้ให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือก ตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ เสนอผลการคัดเลือกผู้สมัครจำนวน 12 ราย โดยได้เรียงตามผลคะแนน 3 ลำดับแรก ดังนี้ ลำดับที่ 1 นายสุทธิพงษ์ คงพูล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (มาตรฐานและความปลอดภัย) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ได้ 461 คะแนน ลำดับที่ 2 นายจุฬา สุขมานพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม อดีตผู้อำนวยการ กพท. ได้ 451 คะแนน ลำดับที่ 3 นายเชิดพันธ์ โชติคุณ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง (DT) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ 448 คะแนน
โดยขั้นตอนต่อไป คณะกรรมการสรรหาฯ จะต่อรองรายได้ (เงินเดือนและผลประโยชน์อื่น) กับผู้ได้คะแนนลำดับที่ 1 โดยได้เร่งรัดการดำเนินการในกระบวนการที่เหลือให้เสร็จภายในเดือนมกราคม 2564 นี้ เพื่อให้ได้ ผอ.กพท.คนใหม่ เริ่มทำงานซึ่งมีภารกิจอีกมากตามนโยบายของคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) และบอร์ด กพท. โดยเฉพาะช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับปรุงมาตรฐานต่างๆ ของ aviation business เพื่อเตรียมตัวรองรับอุตสาหกรรมการบินได้อย่างแข็งแรงเมื่อธุรกิจการบินกลับมาเหมือนเดิม
สำหรับผลงานของ นายสุทธิพงษ์ ที่ผ่านมานั้น ประกอบด้วย 1.ด้านการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) และด้านการบริหารความปลอดภัย (Safety Management) ซึ่งปี 2547 เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มวางระบบและพัฒนางานด้านการบริหารความเสี่ยงของ บวท. ตามนโยบายของรัฐบาล ทำให้ บวท. เป็นหน่วยงานภาครัฐลำดับแรกๆ ที่มีการดำเนินงานด้านการบริหารความเสี่ยงที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ปี 2548 เป็นผู้ริเริ่มนำระบบการบริหารความปลอดภัย (Safety Management System – SMS) เข้าใช้งานใน บวท. เพื่อให้ทันต่อการเปิดใช้งานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
2.(Airspace Management) โดยปี 2549 เป็นผู้ริเริ่มและนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารจัดการห้วงอากาศ (Airspace Organization and Management) ของประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการด้านการบินของประชาคมโลกและเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเติบโตของกิจการบินของประเทศที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
3.ด้านการพัฒนาระบบการเดินอากาศของอาเซียน ปี 2551 เป็นผู้ดำริ จัดทำ และนำเสนอนโยบาย “ห้วงอากาศไร้พรมแดนอาเซียน (ASEAN Seamless Sky)” ปัจจุบันรากฐานแนวคิดและการดำเนินการดังกล่าวร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนถูกพัฒนาเป็น “แผนแม่บทการบริหารจราจรทางอากาศอาเซียน (ASEAN ATM [Air Traffic Management] Master Plan)” ซึ่งยังคงยึดถือแนวคิดการพัฒนาห้วงอากาศภายในอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อเป้าหมายร่วมกันภายใต้สโลแกน “ASEAN Seamless Sky: One Sky for One Vision, One Identify, One Community”
4.ด้านยุทธศาสตร์การขนส่งทางอากาศและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปี 2554 เป็นผู้นำเสนอแนวคิดและมีส่วนผลักดันการพัฒนา “แผนหลักการขนส่งทางอากาศ” ของประเทศไทย
และ 5.ด้านการบริหารโครงการโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการการเดินอากาศ ปี 2553 เป็นผู้จัดทำและนำเสนอโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการการเดินอากาศ ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของระบบการเดินอากาศของประเทศ เนื่องจากเห็นว่าแนวคิดในการจัดหาระบบมาทดแทนระบบปัจจุบันที่ใช้งานและหมดอายุลงในขณะนั้น ไม่สอดคล้องกับวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีทางการบินซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ระบบใหม่ จึงเสนอแนวคิดให้มีการปรับปรุงไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการการเดินอากาศทั้งระบบพร้อมกันทั่วประเทศ โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 ต่อมาเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินงานโครงการ ได้รับมอบหมายเป็นผู้บริหารโครงการ (Project Manager) ภายหลังทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการกำกับโครงการ และเป็นหัวหน้าคณะทำงานในการถ่ายโอนระบบ (Transition Team) จนแล้วเสร็จ ทำให้ประเทศไทยมีระบบการให้บริการจราจรทางอากาศที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก