วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) โดยนายศรัณย เบ็ญจนิรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาเศรษฐกิจการบิน พร้อมด้วยฝ่ายกำกับดูแลทางเศรษฐกิจ เข้าร่วมการประชุม AOC Full Board Meeting ประจำเดือนพฤษภาคม 2568 ร่วมกับคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ ซึ่งประกอบไปด้วยสายการบินจำนวน 106 สายการบิน ณ อาคาร AOB (Airport Operation Building) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ในการประชุมครั้งนี้ CAAT ได้ชี้แจงและสร้างความเข้าใจให้กับสายการบินถึงข้อบังคับคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ฉบับที่ 101 ว่าด้วยมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารเที่ยวบินแบบประจำในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป ข้อบังคับใหม่นี้ได้เพิ่มการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในกรณีเที่ยวบินล่าช้าและยกเลิกอย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยขยายความคุ้มครองจากเดิมที่มีเฉพาะเที่ยวบินภายในประเทศ ให้ครอบคลุมถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศที่เดินทางออกจากประเทศไทยด้วย ทั้งในด้านการจัดหาอาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์สื่อสาร การดูแลที่พัก และการชำระค่าชดเชย ตลอดจนเหตุยกเว้นที่สายการบินไม่ต้องชำระค่าชดเชย เช่น สภาพอากาศ อากาศยานขัดข้อง หรือเหตุอื่นที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของสายการบิน รวมถึงเพิ่มมาตรการคุ้มครองในกรณีล่าช้าขณะผู้โดยสารอยู่ในห้องโดยสารบนภาคพื้น (Tarmac Delay)
โดยข้อบังคับฉบับดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้โดยสารได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ CAAT ในการยกระดับมาตรฐานการให้บริการของอุตสาหกรรมการบินไทยให้ทัดเทียมระดับสากล พร้อมทั้งคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของผู้โดยสารเป็นสำคัญ โดยเชื่อมั่นว่าการบังคับใช้ข้อบังคับอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยส่งเสริมให้สายการบินมีมาตรฐานการดูแลผู้โดยสารที่ชัดเจน เป็นธรรม และโปร่งใสมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การยกระดับความพึงพอใจและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยในภาพรวม ทั้งนี้ CAAT จะเดินหน้าสื่อสาร สร้างความเข้าใจ และติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ข้อบังคับฉบับใหม่นี้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้โดยสารและทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการบิน