"วิถีเกษตร" ทางรอดวิกฤตโควิด-19

วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2563



การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังขยายวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม

หลายคนตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนา ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่คนพากันกักตุนอาหารจนอาจนำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหารขึ้นได้ ‘เกษตรกรรม’ ต้นสายแห่งการผลิต ‘อาหาร’ อันเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ กลายเป็นหนทางรอดของกลุ่มแรงงานกลับภูมิลำเนาที่จะช่วยให้ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ไปได้

ดร.วรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮาส์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย หรือ ไททา (TAITA) กล่าวว่า วิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 นี่เป็นโอกาส สำหรับแรงงานที่มีความจำเป็นต้องกลับภูมิลำเนา ชีวิตคนต่างจังหวัดมีโอกาสมากกว่าคนในเมืองทั้งในแง่ของพื้นที่ ซึ่งที่อยู่อาศัยคนในกรุงเทพฯเป็นคอนโดเสียส่วนใหญ่ ที่ดินเหลือเปล่ามีจำกัด ในขณะที่คนในต่างจังหวัดจะมีพื้นที่ในบ้านเพียงพอที่จะเพาะปลูกพืชผักเพื่อบริโภคในครัวเรือนได้ หรืออาจมีเพียงพอที่จะเจียดผลผลิตส่วนหนึ่งออกขาย สร้างรายได้เพื่อนำมาใช้จ่ายจิปาถะในครัวเรือนได้ด้วย

นอกจากนี้การเข้าถึงปัจจัยการผลิตทางการเกษตรในต่างจังหวัดก็ง่ายกว่าในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และปัจจัยการผลิตอื่นๆ สำหรับแรงงานที่มีความจำเป็นต้องกลับภูมิลำเนาที่อาจไม่ได้มีพื้นที่ หรือทรัพยากรในการลงทุนมากนัก

การทำ ‘เกษตรผสมผสาน’ เป็นตัวเลือกที่จะทำให้ได้ผลผลิตที่หลากหลาย จึงสามารถลดความเสี่ยงให้มีผลผลิตบริโภคและเหลือขาย นอกจากนี้การคิดและวางแผนให้กิจกรรมทางการเกษตรต่างๆเกื้อกูลประโยชน์ต่อกัน ยังสามารถลดค่าใช้จ่าย และลดการใช้ปัจจัยการผลิตภายนอก ทำให้เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง วิกฤตครั้งทำให้เราต้องหันกลับมามองตัวเองว่า เราควรมีแผนสองในการดำรงชีวิตเสมอ และควรยึดหลักการอยู่อย่างพอเพียงตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จะช่วยให้เราสามารถผ่านวิกฤตไปได้อย่างดีมีสุข ดังนั้นการเริ่มต้นจากการหันมาปลูกพืชผักในยามนี้ จะเป็นทางออกที่ทำได้โดยง่ายและยั่งยืน”

การทำการเกษตรให้ประสบความสำเร็จ ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพนั้น เกษตรกรในยุคก่อนอาจต้องใช้เวลาและประสบการณ์มากในการลองผิดลองถูกเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ และหาทางแก้ปัญหาต่างๆไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง หรือโรคระบาด แต่ในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาวิจัยและพัฒนาตัวช่วยที่จะทำให้เกษตรกรสามารถผลิตผลิตผลทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

ดร.วรณิกา แนะนำว่า ให้ศึกษาหาข้อมูลและวางแผนให้ดีก่อนลงมือทำ ต้องทำความรู้จักพื้นที่ของตนทั้งดิน น้ำ และสภาพภูมิอากาศ เพื่อจะสามารถเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสมได้ ควรเริ่มต้นจากการปลูกพืชระยะสั้น เน้นไว้ทำครัวในบ้าน เหลือจึงนำออกขายสร้างรายได้ เช่น ผักกาดหอม ต้นอ่อนทานตะวัน กวางตุ้ง เป็นต้น แล้วจึงค่อยเลือกปลูกพืชที่ใช้ระยะเวลายาวนานขึ้นควบคู่ไปด้วย

เน้นให้ผลผลิตออกในช่วงที่ราคาสูง เช่น ขายมะนาวช่วงหน้าแล้ง การปลูกพืชผักจำเป็นต้องมีการเตรียมดินให้อุดมสมบูรณ์ มีสารอาหารครบตามที่พืชต้องการ จึงควรบำรุงดินด้วยปุ๋ยวิทยาศาสตร์ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ อีกขั้นตอนที่ต้องใส่ใจมากคือการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพและปริมาณผลผลิต ควรเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ตระกูลดี ทนทานต่อโรคและศัตรูพืช และควรทดสอบเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก เพื่อดูปริมาณความงอก จะได้ไม่ต้องเสี่ยงลงทุนลงแรง และเสียเวลาไปโดยได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ