"เฉลิมชัย" เตรียมเจรจาการค้ากับจีน หนุนกระจายสินค้าหลังโควิดคลี่คลาย

วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2563



นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบ COVID-19 โดยทันทีที่สถานการณ์การระบาดในจีนคลี่คลายจะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ไปเจรจาการค้าอีกครั้งเพื่อให้จีนเปิดตลาดและอำนายความสะดวกในการขนส่งสินค้าเกษตรผ่านด่านพรมแดน ทั้งนี้จากการประเมินขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า จีนควบคุมโรคได้มีประสิทธิภาพและเป็นไปได้สูงที่จะเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววัน ซึ่งคาดว่า ความต้องการสินค้าเกษตรในจีนจะมากขึ้น เป็นโอกาสที่จะได้ไปเจรจาต่อเนื่องจากที่ไปขยายตลาดในจีนไว้ก่อนหน้านี้

การเปิดตลาดใหม่ยังดำเนินการในอินเดีย CLMV ตะวันออกกลาง ยุโรป ออสเตรเลีย ตุรกี เกาหลี เป็นต้น โดยจะทำควบคู่กับการรณรงค์บริโภคสินค้าเกษตรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ภาคตะวันออกซึ่งจะเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่เดือนเมษายนนี้

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ประสานกับห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง ตลาดอ.ต.ก. ตลาดไท สถานีบริการน้ำมัน และอื่นๆ เพื่อจัดงานจำหน่ายผลไม้เกรดพรีเมียมในราคาเป็นธรรม ขอความร่วมมือทุกส่วนราชการและผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเสิร์ฟอาหารและผลไม้ไทยในงานประชุม สัมมนา และอบรมต่างๆ โดยใช้ดอกไม้ไทยประดับสถานที่ เชิญชวนภาคเอกชนที่มีศักยภาพสนับสนุนสินค้าเกษตรไทยในลักษณะเดียวกัน

นอกจากนี้เตรียมขายผ่านตลาดออนไลน์เช่น LAZADA Shopee Alibaba เป็นต้น ตลอดจนคัดเลือกเกษตรกรและเกษตรกรแปลงใหญ่ที่ผลิตสินค้าคุณภาพลงทะเบียนกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดเพื่อส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคโดยตรงเรียบร้อยแล้ว โดยกรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนงบประมาณให้แก่ไปรษณีย์ไทยเพื่อเป็นค่าบรรจุภัณฑ์ โดยนำมาเป็นส่วนลดค่าขนส่งของเกษตรกรจากกิโลกรัมละ 10 บาทเหลือ 5 บาท มั่นใจว่า มาตรการทั้งหมดนี้จะบรรเทาผลกระทบแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการจากการระบาดของ COVID-19 ได้มาก

“เตรียมพร้อมทุกด้านในการป้องกันไม่ให้สินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ในฤดูกาลผลิตปี 2563 ออกมากระจุกตัว จนล้นตลาด จึงดำเนินทุกมาตรการเพื่อพยุงราคา กระทรวงเกษตรจะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสให้ได้” นายเฉลิมชัยกล่าว

ขณะที่นายระพีพัฒน์ จันทร์ศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ได้ขอความร่วมกับจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผ่อนปรนการชำระหนี้แก่เกษตรกร โดยให้ปรับโครงสร้างหนี้และปลอดการชำระหนี้ 3 ปี เกษตรกรหรือลูกหนี้รายบุคคลให้ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปได้ไม่เกิน 15 ปี

ส่วนผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกรให้ขยายเวลาได้ไม่เกิน 20 ปี อีกทั้งยังสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยรายบุคคลให้กู้ไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย -0.25 จากสินเชื่อปกติและสถาบันให้กู้ไม่จำกัดวงเงิน อัตราดอกเบี้ย MLR-0.5 นอกจากนี้ยังชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรที่กู้เงินจากสถาบันเกษตรกรไม่เกินร้อยละ 3 ซึ่งเป็นอีกมาตรการสำคัญในการรักษาเสถียรภาพราคาผลไม้ภาคตะวันออกให้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ต่อภาคการเกษตรและเศรษฐกิจประเทศให้น้อยที่สุด



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ