งัดม. 44 ผุดโรงไฟฟ้า VSPP ปลดล็อก 1.2 หมื่นเมก

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

งัดม. 44 ผุดโรงไฟฟ้า VSPP ปลดล็อก 1.2 หมื่นเมก


คสช.ปลดล็อกส่งเสริมโรงไฟฟ้า VSPP ออกคำสั่ง ม.44 ยกเว้นพลังงานทดแทน “โซล่าร์ฟาร์ม-ชีวมวล-ขยะ” ไม่เข้าข่ายโรงงานอุตสาหกรรม ก่อสร้างในเขตพื้นที่สีเขียวได้ชี้หนุนแผนพีดีพีผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ ด้านส.อ.ท. จี้แก้อีกปมพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เตรียมเข้าพบ “อภิศักดิ์” รมว.คลัง เสนอแนวทางแก้ไขสัปดาห์หน้า เผยรัฐชะลอเปิดประมูลใบอนุญาตใหม่ ทำให้เอกชนไล่กว้านซื้อไลเซ่นส์แพงลิบลิ่ว
ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ได้กำหนดให้ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ในปี 2579 ไว้มากถึง 12,105 เมกะวัตต์ แต่ที่ผ่านมาผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากพื้นที่ติดตั้ง ติดปัญหาผังเมือง ปัญหาเข้าข่ายโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงความ ล่าช้าจากการดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จากการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมโครงการ แต่ล่าสุด คสช. ได้มีคำสั่ง ม.44 ปลดล็อกยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับกิจการพลังงานทดแทน และพลังงานขยะ
คสช.ออกคำสั่ง ม.44 ช่วย VSPP
นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย กับ “สยามธุรกิจ” ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท โดยให้ยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่มีคำสั่งนี้ หรือที่จะมีผลใช้บังคับภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่มีคำสั่งวันที่ 20 มกราคม 2559
ทั้งนี้ การประกอบกิจการ ได้แก่ การประกอบกิจการคลังน้ำมันตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง และการประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 88 ตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติ โรงงาน พ.ศ.2535 ตามที่กำหนดไว้ ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2558-2579 และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ.2558-2579 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 และกิจการอื่นที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลิต ขนส่ง และระบบจำหน่ายพลังงานตามแผนดังกล่าว
นอกจากนี้ กรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงแผน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในภายหลังด้วยให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดของโครงการหรือกิจการที่อยู่ในแผนซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วตามวรรคหนึ่งหน้า 4 เล่ม 133 ตอนพิเศษ 15 ราชกิจจานุเบกษา 20 มกราคม 2559
รวมถึงการประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 89 โรงงานลำดับที่ 101 โรงงานลำดับที่ 105 และโรงงานลำดับที่ 106 ตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 และกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการกำจัดมูลฝอยด้วย
จ่อบุกคลังเสนอแก้พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
นายพิชัย กล่าวว่า การออกคำสั่งดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการลงทุนพลังงานหมุนเวียนจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก หรือ VSPP โดยเฉพาะโครงการโซล่าร์ฟาร์มที่การลงทุนบางโครงการพื้นที่มีปัญหาผังเมือง เมื่อ คำสั่งนี้ออกจะสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะได้รับการยกเว้นการลงทุนพลังงานทดแทนไม่เข้าข่ายโรงงานอุตสาหกรรม และสามารถก่อสร้าง ในพื้นที่สีเขียวได้
“คำสั่ง ม.44 สามารถแก้ปัญหาการลงทุนพลังงานทดแทนได้ 20% เกี่ยวกับพื้นที่ก่อสร้างไม่เข้าข่ายโรงงาน และใช้พื้นที่สีเขียวได้ แต่ปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งที่โซล่าร์ฟาร์มยังแก้ไข ไม่ตกคือ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ซึ่งค่อนข้างใช้เวลามาก ตามขั้นตอนต่างๆ แล้วต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง หรือปี 2561 ถือว่าสิ้นสุดการรับซื้อไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แล้ว ส่วนพลังงานชีวภาพ ชีวมวลจะมีปัญหาสายส่งไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ไม่เพียงพอ” นายพิชัย กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้าทางภาคเอกชนที่ลงทุน โซล่าร์ฟาร์ม จะเข้าพบ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอการแก้ปัญหาพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพื่อส่งเสริมอุตสาห-กรรมพลังงานทดแทน ที่คาดว่าจะมีวงเงินลงทุนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท
กว้านซื้อไลเซ่นส์พลังงานทดแทน
ด้าน นายภูษณ ปรีย์มาโนช ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์-เนชั่นเนิลเอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ IEC เปิดเผยว่า ปีนี้การลงทุนพลังงานทดแทนยังไม่สดใสมากนัก เนื่องจากติดปัญหาผังเมืองและ ปัญหา รง.4 นอกจากนี้ การที่ภาครัฐยังไม่ได้เปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ เกิดการแย่งซื้อใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า VSPP หรือไลเซ่นส์เก่า เพื่อจะได้ขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐในราคาสูง โดยการซื้อไลเซ่นส์ประเภทนั้นโซลาร์ฟาร์ม อยู่ที่ 140-150 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ พลังงานชีวภาพ ชีวมวลอยู่ที่ 10 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์
จับมือยักษ์ใหญ่จีนลุยพลังงานขยะ
สำหรับปี 2559 IEC มีแผนลงทุนพลังงานทดแทนประมาณ 30-40 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันรับรู้ได้อยู่จำนวน 23 เมกะวัตต์ โดยโครงการที่สนใจ จะลงทุนมีทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ และโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ล่าสุด มีโครงการที่ IEC จะเข้าไปร่วมลงทุนกับ บริษัท ยูนานวอเตอร์ อินเวสเมนต์ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ในฮ่องกง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ จ.นนทบุรี กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ มูลค่า 4 พันล้านบาท โครงการ โรงไฟฟ้าชีวภาพบ้านบึง ขนาด 6 เมกะวัตต์ มูลค่า 600 ล้านบาท
“รูปแบบการลงทุนพลังงานทดแทนกับยูนานฯ นั้น ทางยูนานฯ จะให้เงินกู้ 50% ที่เหลืออีก 50% ยูนานฯ ก็จะลงทุนด้วยเงินสดอีกครึ่งหนึ่ง และเมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ยูนานฯ ได้ซื้อกิจการไฟฟ้าขยะใน จ.ภูเก็ต มาแล้วมูลค่า 2.5 พันล้านบาท” ส่วนโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้วสามารถจะรับรู้รายได้ในปีนี้ ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส จ.กำแพงเพชร กำลังการผลิต 5.25 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้า ไบโอแก๊ส จ.สุพรรณบุรี กำลังการผลิต 10.6 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวลจังหวัดสระแก้ว แห่งที่ 2 กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตเม็ดพลาสติกจากพลาสติกปนเปื้อน เพื่อการส่งออก ที่หาดใหญ่ กำลังการผลิตวันละไม่น้อยกว่า 60 ตัน ถ้าประเมินมูลค่ากิจการจากปัจจัยพื้นฐานพบว่าบริษัทมีมูลค่ากิจการมากกว่า 7 พันล้านบาท


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ