ยื่น"เพ้ง"รับมือไฟฟ้าดับทั่วประเทศ

วันจันทร์ที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ยื่น


นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.ได้หารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เกี่ยวกับมาตรการดูแลป้อง-กันไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง โดยกำหนดให้ทำแผนฉุกเฉินระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รองรับหากระบบแก้ปัญหาอัตโนมัติที่มีอยู่แล้วเกิดความผิดพลาด รวมถึงการกู้ระบบไฟฟ้าให้กลับมาจ่ายไฟได้เร็วกว่าปัจจุบัน โดย เฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะออกเป็นระเบียบปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรได้ภายใน 2 สัปดาห์
"หากมีแผนฉุกเฉินที่ชัดเจนจะทำให้ปัญหาไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างลดน้อยลง การแก้ไขและจ่ายไฟฟ้าคืนให้ประชาชนรวดเร็วขึ้น โดยจะคำนึงความ มั่นคงด้านไฟฟ้าเป็นหลัก"
ทั้งนี้ ได้มีการระบุถึงข้อกฎหมายมาตรา 87 ที่อำนาจอยู่ที่การไฟฟ้าทั้งหมด โดยระบุว่า ศูนย์ควบคุมระบบโครงข่ายพลังงาน มีหน้าที่ควบคุม บริหารและกำกับดูแล ให้ระบบพลังงาน มีความสมดุล มั่นคง มีเสถียรภาพ ประ-สิทธิภาพ และความน่าเชื่อถือ รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการอื่น ตามที่คณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขการออกใบอนุญาติ แต่ กกพ.เข้าใจทางฝ่ายปฏิบัติของการไฟฟ้า ที่คงมีความกังวลใจ หากเกิดเหตุการณ์ซ้ำและต้องตัดสินใจเลือกพื้นที่ดับไฟ เพื่อไม่ให้พื้นที่อื่นได้รับผลกระทบ รวมถึงยังเกรงว่า จะมีปัญหาเช่นเดียวกับเมื่อเหตุการณ์ที่เคยปล่อยน้ำในเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี จนน้ำท่วมและมีการตั้งกรรมการตรวจสอบความผิดกับผู้ปฏิบัติ
ขณะที่นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากกรณีไฟฟ้าดับพร้อม กันใน 14 จังหวัดภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและสร้างความเสียหายแก่ผู้ประกอบการ โดยเบื้องต้นสภาอุตสาหกรรมภาคใต้อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย โดยจะเสนอมาตรการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าต่อนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่อไป
สำหรับข้อเสนอที่ส.อ.ท.จะเสนอ 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอให้ทบทวนแผนพลังงานไฟฟ้าของประเทศโดยมีกำลังผลิต ไฟฟ้าสำรองที่เพียงพอต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาคใต้ และมีการกระจาย โรงไฟฟ้าในทุกภูมิภาครวมถึงกระจายประเภทเชื้อเพลิงในการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันมากถึงเกือบ 70% 2.สร้างความมั่นคงและสถียรภาพในระบบไฟฟ้าทั่วประเทศ โดยมีการบริหารความเสี่ยงการจัดการและการแก้ปัญหา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ 3.สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น เชื้อเพลิงชีวมวลและชีวภาพ และ 4.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านพลังงานไฟฟ้า
ด้านนายพีระ เพชรพาณิชย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ กล่าวว่า หากมองในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้มีการพูดคุยกันภาพรวมหากนับเป็นมูลค่าความ เสียหายแล้วไม่น่าจะมีความเสียหาย เพราะเนื่องจากช่วงเวลาที่ไฟฟ้าดับนั้นเป็นช่วงเวลาประมาณ 19.00 น. ถือว่าภาคอุตสาหกรรมเกินกว่าครึ่งได้เลิกการดำเนินกิจการไปแล้ว โดยผลกระทบไม่น่าเสียหายเท่าไหร่อีกทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ได้มีการสำรองไฟฟ้าไว้ใช้เพื่อการดำเนินกิจการด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาตใต้มี 4 อุตสาหกรรมหลัก ประกอบด้วยอุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมไม้ยางพารา กลุ่มอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หากจะประเมินความเสียหายเบื้องต้นนั้นพบว่าภาคใต้มีมูลค่าการผลิตอุตสาหกรรมทั้งปีอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท คิดเป็นมูลค่าชั่วโมงละ 200 ล้านบาท โดยภาพรวมการผลิตวันละ 8 ชั่วโมง หากคำนวณเวลาที่ไฟฟ้าดับเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ชั่วโมง จะเฉลี่ยอยู่ที่ 600 ล้านบาท
"ช่วงไฟฟ้าดับถ้าลบช่วงเวลาที่กลุ่มอุตสาหกรรมได้เลิกเวลาการผลิต มากสุดก็ไม่น่าเกิน 300 ล้านบาท ขณะนี้ให้ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมรวบ รวมรายละเอียดความเสียหายเพื่อให้ได้ตัวเลขที่ชัดเจน แต่มูลค่าความเสียหายไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาทแน่นอน"


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ