ดัน ‘ภูเก็ต-เชียงใหม่-ขอนแก่น’ TOP 100 สมาร์ทซิตี้โลก

วันพุธที่ 03 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ดัน ‘ภูเก็ต-เชียงใหม่-ขอนแก่น’ TOP 100 สมาร์ทซิตี้โลก


รัฐปักธง 15เมืองนำร่องสมาร์ทซิตี้ ชูภูเก็ตก้าวหน้ามากสุดในการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ ทั้งการติดตั้งจีพีเอสในรถขนขยะ พัฒนาสายรัดข้อมือให้นักท่องเที่ยวใช้ระบุตำแหน่งที่อยู่และใช้เป็นกระเป๋าอัจฉริยะ ทำให้ไม่ต้องพกเงินสดเพื่อความปลอดภัย ขณะที่ภาคเอกชนท้องถิ่นได้รวมตัวกันจัดตั้ง บริษัท ภูเก็ต พัฒนาเมือง จำกัด ช่วยพัฒนาเมืองภูเก็ต จัดการจราจรแก้ปัญหารถติด ด้าน ‘เชียงใหม่’ ลุยรถไฟฟ้า-สนามบินแห่งที่ 2 ททท.ปลุกกระแสธุรกิจ MICE ‘ขอนแก่น’ กระทรวงดีอี MOU เอกชน 17 บริษัท ร่วมพัฒนา 17 เมือง

แผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือ สมาร์ทซิตี้ ทั่วประเทศกำหนดเป้าหมายการพัฒนาในปีที่ 1 จำนวน 7 เมือง ปีที่ 2 จำนวน 8 เมือง และตั้งแต่ปีที่ 3-5 จำนวน 25 เมืองเป็นอย่างน้อย เป้าหมายคือดำเนินการให้ครบ 77 เมือง ทั้งการนำเมืองเดิมมาปรับใหม่ให้เป็นสมาร์ทซิตี้ และการสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาเลย

โดยคอนเซปต์เมืองอัจฉริยะต้องเป็นเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล หรือนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด ในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การบริหารจัดการเมือง การลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากร การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเมืองประกอบด้วย 6 สาขาอัจฉริยะ  ได้แก่ เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ระบบขนส่งและการสื่อสารอัจฉริยะ (Smart Mobility) พลังงานและสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Energy & Environment) ระบบบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) และ การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living)

ปักธงนำร่อง 15 เมือง

สำหรับเมืองอัจฉริยะนำร่อง 7 พื้นที่แรกที่รัฐบาลดำเนินการ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร บริเวณศูนย์กลางคมนาคมขนส่งบางซื่อ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง และ ฉะเชิงเทรา ในปี 2562 จะดำเนินการอีก 8 พื้นที่ ได้แก่ นครราชสีมา พิษณุโลก  อุบลราชธานี อุดรธานี สงขลา นครสวรรค์ สุโขทัย และ ย่านบางรักในกรุงเทพมหานคร ซึ่งหลักเกณฑ์คัดเลือกจะดูที่ความพร้อมของจังหวัดและการเข้ามาร่วมทำงานของภาคเอกชน โดยการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ไม่จำเป็นต้องทำทีละเมือง แต่สามารถทำไปพร้อมกันได้ แต่ต้องพูดคุยกับคนในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่ายในรูปแบบประชารัฐ ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดภูเก็ตเป็นหนึ่งพื้นที่ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ เนื่องจากได้ดำเนินการล่วงหน้ามาก่อนหน้านี้หลายปี เช่น การติดตั้งจีพีเอสในรถขนขยะและออนไลน์เข้ามาที่จังหวัด เพื่อใช้ในการมอนิเตอร์รถขยะว่ามีต้นทางและปลายทางที่ใด ป้องกันการลักลอบทิ้งขยะ การพัฒนาสายรัดข้อมือให้นักท่องเที่ยวใช้ระบุตำแหน่งที่อยู่และใช้เป็นกระเป๋าอัจฉริยะ ทำให้ไม่ต้องพกเงินสดเพื่อความปลอดภัย ขณะที่ภาคเอกชนท้องถิ่นได้รวมตัวกันจัดตั้ง บริษัท ภูเก็ต พัฒนาเมือง จำกัด ช่วยพัฒนาเมืองภูเก็ต จัดการจราจรแก้ปัญหารถติด เป็นต้น

ต่อยอดสู่ 77 จังหวัด

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวในงานสัมมนา Digital Thailand Big Bang 2018 จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต กระจายความเจริญให้กับประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเมือง และมอบหมายให้ตนเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อเสนอร่างยุทธศาสตร์และแผนแม่บท บูรณาการการดำเนินงาน ตลอดจนเอื้ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้เกิดกลไกต่างๆ ในการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

“นอกจากกำหนดกรอบการพัฒนาเมือง 6 ด้านแล้ว ทางรัฐบาลยังคำนึงถึงการใช้เครื่องมือต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ อาทิ สนับสนุนด้านเทคโนโลยีและทักษะ ลดช่องว่างทางกฎหมาย หรือมาตรการของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ที่เป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาเมือง ซึ่งสมาร์ทซิตี้จะเน้นไปในเรื่องของสุขภาพ หากต้องการสร้างที่อยู่อาศัยก็ต้องไม่เป็นมลพิษ” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวต่อว่าคณะกรรมการจึงได้พิจารณาแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่กำหนดเป้าหมายเมืองอัจฉริยะ เป็น 2 กลุ่ม คือ 1.เมืองน่าอยู่ หรือสมาร์ทซิตี้เมืองเดิม และ 2.เมืองใหม่อัจฉริยะ โดยกำหนดเป้าหมายพัฒนาจนครบ 77 จังหวัด โดยจะเปิดโอกาสให้เมืองที่สนใจเข้าสู่กระบวนการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งต้องเริ่มจากการประเมินความพร้อมของตนเองก่อน และเข้าสู่ขั้นตอนการประเมินเมืองตามเกณฑ์ 8 ข้อ จากนั้นจะได้เข้าสู่กระบวนการขับเคลื่อนเป็นเมืองอัจฉริยะ

หวังขึ้นทำเนียบ TOP 100

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทั่วโลกต่างแข่งขันกันสร้างสมาร์ทซิตี้ มีการจัดประกวดอันดับสมาร์ทซิตี้ที่ดี 1 ใน 100 ซึ่งประเทศไทยยังไม่ติดอันดับ แต่เรากำลังดำเนินการใช้ดิจิทัลขับเคลื่อนในหลายมิติ เพื่อให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ซึ่งขณะนี้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมแล้วเหลือเพียงการสร้างความร่วมมือร่วมใจและความพร้อมของบุคลากรที่จะมารองรับและต่อยอดเพื่อให้เมืองน่าอยู่อย่างไรก็ตามการพัฒนาสมาร์ทซิตี้หรือเมืองอัจฉริยะต้องพูดคุยกับคนในพื้นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่ายในรูปแบบประชารัฐ

‘ภูเก็ต’ ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ

ด้านนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) กล่าวว่า สมาร์ทซิตี้เป็นการวางคอนเซปต์แบบหลวมๆ ไม่ได้เจาะจง เพียงแต่ว่าสมาร์ทซิตี้จะมุ่งเน้นไปในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะพ่วงด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อแก้ปัญหาในบางเรื่อง อาทิ จ.ภูเก็ต ที่มีปัญหาในเรื่องของขยะ จึงได้มอบหมายให้ทางบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) หรือ CAT เข้าไปช่วยในเรื่องของการติดตั้งระบบ โดยการนำเซ็นเซอร์ไปติดที่รถขยะ และทำการปล่อยสัญญาณทั่วเกาะภูเก็ต เพื่อที่จะได้ทราบว่าตอนนี้รถขยะอยู่ตรงไหน หรืออาจจะนำมาช่วยในเรื่องของการแก้ไขการจราจร เป็นต้น

“ในส่วนของพื้นที่ภูเก็ต เอกชนกว่า 14 ราย เล็งเห็นช่องทางในการพัฒนาเมือง จึงรวมตัวกันจัดตั้งบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด เพื่อร่วมกันพัฒนาและบริหารจัดการเมืองภูเก็ต ซึ่งแนวคิดนี้ถือว่าเป็นการสร้างสมาร์ทซิตี้เช่นเดียวกัน แต่เป็นการสร้างเมืองอัจฉริยะที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งหลังจากนี้จะมอบให้เมืองภูเก็ตเป็นต้นแบบของสมาร์ทซิตี้ เพราะมีความหลากหลายและมีการพัฒนาที่ไปไกลกว่าจังหวัดอื่นแล้ว” นายพิเชฐ กล่าว

เชียงใหม่ลุยรถไฟฟ้า-สนามบินแห่งที่ 2

นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังเร่งเดินหน้าการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ โดยยุทธศาสตร์เชิงรุกมุ่งการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ พร้อมเตรียมเปิดเวที Chiang Mai Forum เพื่อพบปะหารือกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน และสถาบันการศึกษาราว 20-30 คน โดยนำหัวข้อการพัฒนาสมาร์ทซิตี้เป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งปัจจัยหนึ่งของการเป็นสมาร์ทซิตี้คือมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรของเมืองโดยล่าสุด รัฐบาลได้อนุมัติให้เร่งดำเนินการโครงการรถไฟฟ้า 3 สาย ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่ สนข.ได้ทำการศึกษา ซึ่งเร็วๆ นี้ สนข.และ รฟม.จะเข้ามาหารือในแผนการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าดังกล่าว ขณะเดียวกัน ในส่วนของภาคเอกชน (RTC) ได้มีการลงทุนให้บริการรถบัสโดยสารประจำทาง (Smart Bus) ในจังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นโอกาสการพัฒนาเมืองที่สำคัญ

ขณะที่ก่อนหน้านี้นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผยถึงการเสนอแผนพัฒนาท่าอากาศยานแห่งใหม่ คือ ท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2รองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าสู่เชียงใหม่มากขึ้น

ปลุกกระแสธุรกิจ MICE ขอนแก่น

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) เดินหน้าจัดโครงการ“ประชุม…เที่ยว เรื่องเดียวกัน ที่ขอนแก่น” ภายใต้โครงการ Khon Kean New Biz ปี2561 เพื่อกระตุ้นให้นักเดินทางกลุ่มไมซ์เข้ามาที่จังหวัดขอนแก่นมากขึ้น รองรับวัตถุประสงค์ประชุม สัมมนา ดูงาน และท่องเที่ยว เชื่อมโยงตามคอนเซปต์ครบเครื่องประชุมและท่องเที่ยวภายในทริปเดียวกันทั้งนี้ ขอนแก่น เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักที่มีความพร้อมของการเป็นเมืองเศรษฐกิจใหญ่ เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การคมนาคม จึงมีศักยภาพของการเป็นศูนย์กลางตามกลยุทธ์การพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อการประชุมและนิทรรศการ ทั้งยังเป็นไมซ์ซิตี้ 1 ใน 5 พื้นที่ของประเทศที่มีความพร้อมรองรับการท่องเที่ยวและจัดประชุมระดับภายในประเทศและระดับนานาชาติ ขอนแก่นยังมีแผนพัฒนาภายในตัวจังหวัดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะที่อยู่ระหว่างดำเนินการขยายสนามบินขอนแก่นสู่สนามบินนานาชาติ รองรับเที่ยวบิน นักท่องเที่ยว และนักเดินทางกลุ่มไมซ์ที่เพิ่มขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายให้มีผู้มาเยือนเพิ่มขึ้น จำนวนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคนต่อปี

แนะคลายกฎให้อำนาจท้องถิ่น

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า การสร้างสมาร์ทซิตี้ต้องเกิดจากการสนับสนุนของภาครัฐมีนโยบายการขับเคลื่อนไปในทิศทางใด อย่างไรก็ตาม ต้องคลายข้อกฎหมายให้กับท้องถิ่นด้วยเพื่อให้สามารถบริหารเรื่องของการซื้อและขายไฟฟ้าได้อย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนมากขึ้น ขณะที่นายมนต์ทวี หงษ์หยก กรรมการบริหาร บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง กล่าวว่า ภูเก็ตเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะที่เอกชนทำงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่ระดมทุนเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหา พัฒนาจังหวัดในด้านต่างๆ แม้ภูเก็ตจะเริ่มพัฒนาไปบางส่วนแล้ว แต่ยังต้องการให้รัฐสนับสนุนงบประมาณพัฒนาในด้านอื่นๆด้วย และควรนำข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีอยู่ ร่วมพัฒนาพื้นที่ ปลดล็อกปัญหาต่างๆในจังหวัดภูเก็ต รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงด้วย

MOU ขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

ล่าสุด ได้มีการลงนาม MOU ขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดีอี กับ 17 เมืองนำร่อง ได้แก่ บริษัท เชียงใหม่นครพิงค์ พัฒนาเมือง จำกัด, บริษัท เชียงใหม่ พัฒนาเมือง จำกัด, บริษัท โคราช พัฒนาเมือง จำกัด, บริษัท กรุงเทพมหานคร พัฒนาเมือง จำกัด, บริษัท ขอนแก่น พัฒนาเมือง จำกัด, บริษัท ชลบุรี พัฒนาเมือง จำกัด, บริษัท พิษณุโลก พัฒนาเมือง จำกัด, บริษัท สุโขทัย พัฒนาเมือง จำกัด, บริษัท ภูเก็ต พัฒนาเมือง จำกัด, บริษัท ระยอง พัฒนาเมือง จำกัด, บริษัท สงขลา พัฒนาเมือง จำกัด, บริษัท สระบุรี พัฒนาเมือง จำกัด, บริษัท อุดรธานี พัฒนาเมือง จำกัด, บริษัท อุบลรวมใจ พัฒนาเมือง จำกัด, บริษัท อุบลราชธานี พัฒนาเมือง จำกัด, บริษัท สมุทรสาคร พัฒนาเมือง จำกัด และเมืองพัทยา ทั้งนี้ จากความร่วมมือดังกล่าว ดีป้า จะทำหน้าที่สนับสนุน โดยมี 17 บริษัท เป็นหน่วยงานหลักของภาคเอกชนในพื้นที่รับนโยบายจากภาครัฐและให้ข้อเสนอแนะแก่ภาครัฐในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง ส่งเสริมให้เกิดหน่วยธุรกิจบริการของบริษัทในการพัฒนาเมืองอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ