ส.ทีวีโฮมช้อปปิ้ง ชู “The Symbol of Trust” สร้างธุรกิจโฮมช้อปปิ้งไทยมาตราฐานสู่สากล

วันศุกร์ที่ 09 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ส.ทีวีโฮมช้อปปิ้ง ชู “The Symbol of Trust”  สร้างธุรกิจโฮมช้อปปิ้งไทยมาตราฐานสู่สากล


สมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง  ยัน  ประเด็น กระทะ“โคเรียคิง” ไม่ส่งผลตลาดโฮมช้อปปิ้ง  มั่นใจปีนี้ยังโตต่อเนื่อง15-20%  ล่าสุด  6 บริษัทผู้ประกอบธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง “ทรูช้อปปิ้ง-ช้อปแชนแนล-โอช้อปปิ้ง-ทีวีดีโมโม่-ไฮช้อปปิ้ง-ทีวีไดเร็ค” ผนึกกำลังสร้างมาตรฐานการทำงานธุรกิจ ทีวีโฮมช้อปปิ้งในประเทศไทย เพื่อยกระดับสร้างมาตรฐานการประกอบธุรกิจโฮมช้อปปิ้งให้ได้มาตรฐานสากล และการดูแลผู้บริโภค ให้ได้รับสิทธิอันชอบธรรมจากการใช้บริการโฮมช้อปปิ้ง ด้วยสัญลักษณ์แห่งความเชื่อมั่น (The Symbol of Trust)

นายทรงพล ชัญมาตรกิจ นายกสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) หรือ (THA)  กล่าวว่า สมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) หรือ THA จัดตั้งขึ้นด้วย 6 บริษัท ประกอบด้วย ช่องทรูซีเล็คท์, ช้อปแชนแนล, โอช้อปปิ้ง, ทีวีดีโมโม่, ไฮช้อปปิ้ง และทีวีไดเร็ค ด้วยทุนจดทะเบียนกว่า 2,760 ล้านบาท และมีมูลค่ารายได้รวมกันกว่า 8,000 ล้านบาท คิดเป็น 2 ใน 3 ของภาพรวมตลาดโฮมช้อปปิ้ง 12,000 ล้านบาทในปีก่อน ส่วนปีนี้มองว่าตลาดยังโตได้ 15-20%

ทั้งนี้  จากเหตุการณ์กระแสข่าวกระทะที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภค สอบถามถึงมาตรฐาน ประสิทธิภาพ จริยธรรม ของการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมถึงการทำงานของ ทีวี โฮมช้อปปิ้ง อย่างไรก็ตามสมาคมฯ มีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าธุรกิจโฮมช้อปปิ้งในประเทศไทยเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ดูแลผู้บริโภคอย่างดีที่สุด ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริง ศักยภาพ สรรพกำลังของผู้ประกอบการโฮมช้อปปิ้ง จึงมั่นใจได้ว่าผู้บริโภคจะได้รับสิทธิอันชอบธรรมจากการใช้บริการโฮมช้อปปิ้ง ด้วยมาตรฐานของสมาคมฯ ที่มีข้อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ให้สมาชิกได้ปฏิบัติตาม เพื่อจะบรรลุมาตรฐานธุรกิจที่เราทำร่วมกัน และประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค

                สำหรับเรื่องกระทะโคเรียคิงตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ ยืนยันว่าไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง เพียงกระทบต่อบริษัทใดบริษัทหนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญในกลุ่มสินค้ากระทะจากธุรกิจโฮมช้อปปิ้งไม่ได้ลดลง ยกตัวอย่าง เช่น กระทะ Happy Call ยังมียอดขายที่ดีอยู่ ซึ่งขายมากว่า 5 ปี ยอดขายรวมกว่า 1,000 ล้านบาท  ในส่วนกระทะโคเรียคิง ถือเป็นธุรกิจในรูปแบบทีวีช้อปปิ้ง ทำการขายในลักษณะซื้อโฆษณาเท่านั้น ไม่มีการขายแบบโฮมช้อปปิ้งที่ทำการขายแบบผ่านรายการแนะนำสินค้า อีกทั้งไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมฯ

                อย่างไรก็ตาม   จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผล 4 ข้อใหญ่ คือ 1. ผู้ประกอบการใส่ใจมากขึ้นทั้งในเรื่องกำหนดราคา การทำโฆษณามีที่มาที่ไปมากขึ้น 2. ภาครัฐขยับตัวในการตรวจสอบและดูแล 3. ผู้บริโภคมั่นใจในการทำงานของภาครัฐมากขึ้น ส่วนธุรกิจโฮมช้อปปิ้งจะต้องใช้เวลาในการสร้างความเชื่อใจให้กลับมา และ 4. เป็นความท้าทายของโฮมช้อปปิ้งเพื่อยกระดับตัวเองขึ้นไปอีกขั้น

นายกสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย)  กล่าวต่อว่า  สำหรับรูปแบบการทำ ทีวี โฮมช้อปปิ้ง เป็นรายการทีวีที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอ และจำหน่ายสินค้า โดยการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภค มีเรื่องราวนำเสนอที่สนุก เร้าใจ และกระตุ้นให้คนดู “ตัดสินใจซื้อทันที” โดยนำเสนอในรูปแบบการพรีเซนต์สินค้าด้วยโชว์ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละโฮมช้อปปิ้ง พร้อมให้ข้อมูลและรายละเอียดของสินค้า ราคาและโปรโมชั่นของแถม เบอร์โทรติดต่อ รวมไปถึงการรับประกันสินค้าที่ชัดเจน

จากการที่ทางสมาคมฯ ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ โดยมีการสร้างความเชื่อมั่นในตราสินค้า The Symbol of Trust ที่มีมาตั้งแต่ต้น ล่าสุดทางสมาคมฯ ได้จัดทำสปอตโฆษณา 30 วินาที เพื่อการันตีความมั่นใจ "The Symbol of Trust" ให้ผู้บริโภคแน่ใจว่าจะได้รับสิทธิคุ้มครอง 5 ข้อ คือ นโยบายรับคืนสินค้า, รับประกันคุณภาพสินค้า, การรับผิดชอบต่อความปลอดภัยในการใช้สินค้า, บริการหลังการขาย และการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่หน่วยงานรัฐกำกับดูแลธุรกิจโฮมชอปปิ้ง โดยสมาชิกของสมาคมฯ จะช่วยกันประชาสัมพันธ์และติดโลโก้ "The Symbol of Trust" ไว้ในช่วงเวลาขายต่อไป เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นและมั่นใจในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางโฮมช้อปปิ้งต่อไป

ด้าน นาย องอาจ ประภากมล รองนายกสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) และในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู จีเอส จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจโฮมช้อปปิ้งช่อง ทรู ช้อปปิ้ง กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันสินค้าจากทางสมาชิกของสมาคมฯ มีมากกว่า 1,000 รายการ ซึ่งมีทั้งสินค้านำเข้าและจากโลคัล ซึ่งจากเหตุการณ์โคเรียคิง ทำให้ได้กลับมาตรวจสอบพบว่ามีสินค้าที่มีการกำหนดราคาสูงไว้เพียงเล็กน้อย หลังจากนี้จะมีการกลับไปทบทวนพูดคุยกับซัปพลายเออร์เพื่อหาราคาที่เหมาะสมต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีการลดราคาระดับ 80% อาจจะเห็นน้อยลง หรือมีการกำหนดราคากันใหม่ก่อนจะนำกลับมาขายอีกครั้ง โดยทางสมาคมฯ มีนโยบายการตั้งราคาสินค้ารูปแบบโฮมช้อปปิ้งต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพและราคาที่ถูกใจ ภายใต้คู่ค้า 2 แบบ คือ 1. จากต่างประเทศ และ 2. แบบโลคัล ภายใต้การตั้งราคาที่นำเสนอที่ตั้งจากซัปพลายเออร์และราคาขายที่จัดในช่วงโปรโมชันต่างๆ

ทั้งนี้  ขณะที่การคุ้มครองผู้บริโภคนอกจากจะมี สคบ. แล้วนั้น ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่บังคับใช้สำหรับการทำโฮมช้อปปิ้ง เช่น 1.)พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2545 2.)พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550 3.)พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551 4.)พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2556 5.)พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 6.)พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 7.)พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 8.)พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 9.)พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย 10.)พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และ 11.)มาตรฐานด้านจริยธรรมของสมาชิกสมาคมทีวี โฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย)



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ