กระทรวงคมนาคม มุ่งพัฒนารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศไทยเป็นหลัก พร้อมมุ่งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมให้กับบุคลากรด้านระบบราง เพื่อรองรับการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง
การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ภายใต้ความร่วมมือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นการเชื่อมต่อ(Connectivity) เส้นทางการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจีน ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งสอดรับกับนโยบาย One belt One Road ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ได้ประชุมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง 18 ครั้ง ซึ่งประเด็นการร่วมลงทุนพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงฯดังกล่าว ได้มีการหารือมาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมฝ่ายจีนได้ตกลงที่จะร่วมลงทุนกับฝ่ายไทยและจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุน(SPV) ในส่วนการเดินรถและการซ่อมบำรุง ต่อมาภายหลัง ฝ่ายไทยได้เสนอให้ฝ่ายจีนร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านงานโยธาเพิ่มขึ้น แต่ในท้ายที่สุดในการประชุมหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับนายกรัฐมนตรีจีน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 ได้ข้อยุติในหลักการว่าไทยจะเป็นผู้ลงทุนในโครงการเองทั้งหมด รวมทั้งเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานจากรถไฟความเร็วปานกลางเป็นรถไฟความเร็วสูงที่ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยเส้นทาง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะดำเนินการก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นจะต่อขยายจากนครราชสีมา จนถึงหนองคาย เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจีน
จากผลการหารือทวิภาคีดังกล่าวซึ่งได้ข้อยุติว่าฝ่ายไทยจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด โดยรัฐบาลจีนจะยังคงให้ความร่วมมือในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงในช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ต่อไป โดยจีนจะเป็นผู้ออกแบบ ควบคุมการก่อสร้าง เพื่อให้เป็นไปตามแผนติดตั้งระบบรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมให้แก่บุคคลากรฝ่ายไทยด้วย การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ และในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฯ ในอนาคต ซึ่งการพัฒนาพื้นที่จะดำเนินการโดยฝ่ายไทยเท่านั้น
ทั้งนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมดำเนินโครงการความร่วมมือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้ริเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี2553 และได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ(MOU) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี2557 เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย ซึ่งเป็นการขนส่งรูปแบบใหม่ของประเทศไทย ที่ให้บริการประชาชนในการเดินทางอย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
โดยกระทรวงคมนาคมได้เตรียมการรองรับการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง โดยที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างประเทศไทย และรัฐบาลจีนมาอย่างต่อเนื่อง สาระสำคัญประการหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายได้ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ คือเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรม ซึ่งได้มีการดำเนินการไปแล้วบางส่วน ดังนี้
1.การดำเนินการบันทึกความเข้าใจ(MOU) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สาระสำคัญประการหนึ่งของบันทึกความเข้าใจ(MOU) กำหนดให้ฝ่ายจีนจัดให้มีการฝึกอบรมให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานและพัฒนาด้านระบบรถไฟความเร็วสูง โดยที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ส่งบุคลากรของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ไปฝึกอบรมที่ประเทศจีน จำนวน 2 รุ่น รุ่นละ 40 วัน รวมจำนวน 80 คน เพื่อให้บุคลากรของ รฟท. มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระบบรถไฟความเร็วสูงของจีน การบริหารจัดการเดินรถไฟความเร็วสูง และการซ่อมบำรุงดูแลรักษาทั่วไป
2.ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยกระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เสนอหลักสูตรฝึกอบรมเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงให้แก่บุคลากรไทยแบบให้เปล่า เพื่อให้บุคลากรไทยได้มีองค์ความรู้ด้านระบบรถไฟความเร็วสูง ซึ่งตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ได้ดำเนินการไปแล้วจำนวน 170 คน และล่าสุดได้จัดให้มีการฝึกอบรมในหัวข้อ "2017 Seminar on Railway for Thai Lecture" โดยกระทรวงคมนาคมได้พิจารณาคัดเลือกผู้แทนไทยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินงานด้านระบบราง และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เข้ารับการฝึกอบรมและสัมมนาดังกล่าวจำนวน 25 คน ระหว่างวันที่ 17 มิถุนายน-6 กรกฎาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัย Beijing Jiaotong กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยหลักสูตรดังกล่าวนี้ฝ่ายจีนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ฝ่ายไทยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่ได้นำมาคิดเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนแต่อย่างใด
นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมได้กำหนดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรม โดยกำหนดให้มีบุคลากรไทยปฏิบัติงานร่วมกับบุคลากรจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาการออกแบบรายละเอียด สัญญาการความควบคุมงานก่อสร้าง และสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องจัดเตรียมงานอย่างเป็นระบบร่วมกันต่อไป