กรมทางหลวง เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัย และการควบคุมงานก่อสร้างสะพาน โครงสร้างสะพานแบบระบบประกอบชิ้นส่วนสำเร็จรูป ช่วยงานก่อสร้างเร็วขึ้นลดปัญหาการจราจรระหว่างดำเนินงาน เน้นคุณภาพและความปลอดภัยมาก่อน
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผย ภายหลังเป็นประธานในการสัมมนาฝึกอบรมโครงการมาตรฐานความปลอดภัย และการควบคุมงานก่อสร้างสะพาน โครงสร้างสะพานแบบระบบประกอบชิ้นส่วนสำเร็จรูป ให้แก่เจ้าหน้าที่ปฎิบัติงาน บริษัทที่ปรึกษาควบคุมงาน วิศวกรผู้ควบคุมโครงการก่อสร้าง บริษัทก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข7 (สายกรุงเทพ –บานฉาง)ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 (สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา) และทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 (สายบางใหญ่ – บ้านโป่ง – กาญจนบุรี) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 ว่า ปัจจุบันกรมทางหลวงมีการใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างสะพานในโครงการก่อสร้างของกรมทางหลวง โดยใช้ระบบประกอบชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete Bridge Construction) มาใช้
ซึ่งช่วยให้เพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความรวดเร็วในการก่อสร้างได้ เป็นการตอบสนองต่อภารกิจของกรมทางหลวง และนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพ และทันต่อสภาวการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองทั้งสามสายทาง อย่างไรก็ตามวิธีการก่อสร้างด้วยระบบประกอบชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปของสะพานเกี่ยวข้องกับการออกแบบ การผลิต การขนส่งและติดตั้งชิ้นส่วนของสะพานที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่และวิธีการพิเศษกว่าการก่อสร้างสะพานในรูปแบบปกติ
ดังนั้นจ้าหน้าที่ปฎิบัติงาน บริษัทที่ปรึกษาควบคุมงาน วิศวกรผู้ควบคุมโครงการก่อสร้าง ตลอดจนบริษัทก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีความเข้าใจในมาตรฐานความปลอดภัย และมีแนวทางปฎิบัติในการควบคุมงานก่อสร้างระบบประกอบชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete Bridge Construction) เพื่อให้งานดังกล่าวดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและเกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่โครงการ
อธิบดีกรมทางหลวง ยังกล่าวต่อไปอีกว่านอกเหนือจากให้เจ้าหน้าที่ปฎิบัติงาน บริษัทที่ปรึกษาควบคุมงาน วิศวกรผู้ควบคุมโครงการก่อสร้าง และบริษัทก่อสร้างที่เกี่ยวข้องได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัย และการควบคุมงานก่อสร้างสะพานได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และยังได้ตระหนักถึงความปลอดภัยอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการควบคุมและตรวจสอบงานก่อสร้างสะพานของกรมทางหลวง
พร้อมทั้งยังได้ให้นโยบายให้กับเจ้าหน้าที่ ในด้านการออกแบบสะพานรวมถึงอุโมงค์ต่างๆของกรมทางหลวงว่าต่อไปนี้ให้คำนึงถึงสถาปัตยกรรม และรูปแบบการก่อสร้างเข้าไปด้วยโดยเฉพาะการออกแบบสะพานที่ข้ามแม่น้ำขนาดใหญ่ เช่นแม่น้ำเจ้าพระยาคือต้องไม่มีต่อม่อในแม่น้ำ และออกแบบให้เป็นแลนด์มาร์ก เพราะจะได้ประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวอีกช่องทางหนึ่ง รวมถึงจะได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆในการก่อสร้างแต่ทั้งนี้สิ่งที่เป็นนโยบายที่สำคัญของกรมทางหลวง คือคุณภาพของงานและความปลอดภัยระหว่างก่อสร้างด้วย