12 ปี NEDA เน้นร่วมมือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนบ้าน

วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

12 ปี NEDA  เน้นร่วมมือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนบ้าน


กระแสโลกาภิวัตน์ทําใหภูมิทัศน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของโลกเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจสังคมอุตสาหกรรมมุ่งสู่เศรษฐกิจสังคมดิจิทัล สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสําคัญในทุกมิติ เงื่อนไขภายนอกที่สําคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต ขณะเดียวกันการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาค นําไปสู่การเชื่อมโยงทุกระบบ ในขณะที่ศูนย์รวมอํานาจทางเศรษฐกิจโลกเคลื่อนย้ายมาสู่เอเชีย

ดังนั้น การรวมกลุ่มชาติอาเซียน เพื่อให้มีอำนาจการต่อรองกับชาวโลกจึงต้องเกิดขึ้นตามความร่วมมือของทั้ง 10 ชาติให้เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

และไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ระบบการขนส่งของทั้ง 10 ชาติอาเซียน ยังเชื่อมโยงกันไม่สมบูรณ์ ความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานจึงต้องเกิดขึ้น โดยหน่วยงานที่เข้าถึงเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิดในขณะนี้ เห็นจะเป็น “สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA”

โดยตลอดระยะเวลา 12 ปี NEDA ได้ให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านในโครงการต่างๆ รวมทั้งสิ้น จำนวน 72 โครงการ วงเงิน 15,730.47 ล้านบาท ประกอบด้วย ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนและเงินให้เปล่า เพื่อเป็นค่าใช้งานการดำเนินโครงการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างทางด้านพื้นฐาน จำนวน 23 โครงการ วงเงิน 15,466.28 ล้านบาท และความช่วยเหลือทางวิชาการในรูปแบบเงินให้เปล่า เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการ รวมถึงการออกแบบสำหรับงานก่อสร้างของโครงการต่าง ๆ ด้วย จำนวน 16 โครงการ วงเงิน 244.00 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้มีศักยภาพสูงขึ้น โดยจัดโครงการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ประเทศเพื่อนบ้านใน 33 โครงการ วงเงิน 20.19 ล้านบาท รวมมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมทั้งสิ้น จำนวน 407 คน

รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการบริหาร NEDA เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา NEDA ได้ดำเนินงานอย่างมุ่งมั่น เพื่อสนับสนุนและดำเนินงานให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลไทยในด้านนโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมถึงยุทธศาสตร์ของประเทศไทยด้านการสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค โดยให้ความสำคัญในการร่วมมือกันพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพ และความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อันจะนำมาสู่การเพิ่มมูลค่าการค้า และการลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ NEDA ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และสนับสนุนการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง (Transport Corridors) เหล่านี้ไปสู่ระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridors) ทำให้เกิดการค้า การลงทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดกับประเทศไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน

“ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา NEDA ได้ให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านในโครงการต่าง ๆ โดยมีการดำเนินโครงการความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือในภูมิภาค อาทิ ASEAN GMS ACMECS และ BIMSTEC โดยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งการสร้างถนน สร้างทางรถไฟ สนามบิน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการพัฒนาเมือง การพัฒนาระบบไฟฟ้า น้ำประปา และระบบสาธารณสุข ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ประเทศเพื่อนบ้าน ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทางวิชาการของ NEDA เพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีศักยภาพสูงขึ้น ดังจะเห็นได้จากโครงการต่าง ๆ ที่ NEDA ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้านในการเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านตามแนวระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ การสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน”

ขณะที่ คุณเนวิน สินสิริ ผู้อำนวยการ NEDA กล่าวว่า โครงการต่าง ๆ ที่ NEDA ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบก้วย 1.การพัฒนาเส้นทางหมายเลข 3 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC) เชื่อมโยงประเทศไทยทางตอนเหนือ จากจังหวัดเชียงราย ผ่าน สปป.ลาว ไปยังตอนใต้ของประเทศจีน

2.การพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรสตึงบทและถนนเชื่อมโยงไปยังถนนหมายเลข 5 ของกัมพูชา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) และการสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณจังหวัดสระแก้วของไทย ตลอดจนการเพิ่มศักยภาพรองรับการข้ามแดนของปริมาณการขนส่งสินค้าเข้า-ออกจากจุดผ่านแดนถาวรคลองลึก-ปอยเปต และลดขั้นตอนทางศุลกากรและการตรวจคนเข้าเมืองระหว่างไทยและกัมพูชา 3.การพัฒนาระบบประปา 5 แห่ง ใน สปป.ลาว ประกอบด้วย เมืองแบ่ง แขวงอุดมไช เมืองคอบ แขวงไชยะบุลี เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว เมืองไชบุลี แขวงสะหวันนะเขต และเมืองโขง แขวงจำปาสัก

นอกจากนี้ NEDA ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการเป็นหุ้นส่วนกับรัฐบาลเมียนมาและรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนการดำเนินโครงการทวายที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของเมียนมาแล้ว NEDA และเมียนมา ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันในการปรับปรุงถนนสองช่องทางเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายสู่ชายแดนไทย-เมียนมา บริเวณบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ตลอดจนการท่องเที่ยวระหว่างไทย-เมียนมาบริเวณที่กล่าว และจะกลายเป็นถนนยุทธศาสตร์สายสำคัญของภูมิภาคในการเชื่อมโยงทั้งสองประเทศให้กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือและทางบกที่สำคัญของเอเชีย

 

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ