ปฏิรูปนักการเมือง เดินหน้าสร้างประชาธิปไตยสไตล์คสช.

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560

ปฏิรูปนักการเมือง เดินหน้าสร้างประชาธิปไตยสไตล์คสช.


เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) โดยมีน.ส.วลัยลักษณ์ ศรีอรุณ รองประธานสปท.คนที่ 2 เป็น ประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เรื่องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธานกรรมาธิการฯ โดยมีสาระสำคัญคือ การปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้เป็นบุคคลมีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรมจริยธรรม และมีความรับผิดชอบทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ โดยเสนอแนะแนวทางปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 4 ด้านได้แก่

1.การปฏิรูปมาตรการคัดกรอง ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเปิดโอกาสให้ประชาชน พรรคการเมือง ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมตรวจสอบประวัติและคุณสมบัติตั้งแต่ก่อนการรับสมัครดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2.การควบคุมตรวจสอบจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยกำหนดให้การพิจารณาไต่สวนนักการเมืองที่กระทำฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมต้องมีประสิทธิภาพ กำหนดระยะเวลาให้ชัดเจน

3.การปฏิรูปมาตรการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ 4.การปฏิรูปค่าตอบแทนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยควรพิจารณาปรับปรุงค่าตอบแทนให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ แต่การพิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนควรดำเนินการภายหลังร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ไปแล้ว 5 ปี

ในนั้นสมาชิกสปท.ได้อภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่เห็นด้วยข้อเสนอการปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้มีคุณธรรมจริยธรรม เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในอดีต ตลอดจนการแก้ปัญหานักการเมืองไม่มีคุณภาพ และการที่นายทุนเข้ามาครอบงำพรรคการเมือง โดยใช้เสียงข้างมากลากไป ขณะที่พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช และพล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อภิปรายสนับสนุนข้อเสนอของ สปท.ด้านการเมืองที่ให้ปรับเพิ่มค่าตอบแทนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกว่าในปัจจุบัน โดยยกตัวอย่างนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ที่ได้ค่าตอบแทนปีละ 80 ล้านบาท หากเทียบกับนายกรัฐมนตรีไทยที่มีรายได้ 1.8 ล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับภารกิจที่มีมากมาย และทำงาน 24 ชั่วโมง

หลังจากที่สมาชิกสปท.อภิปรายจนครบถ้วนแล้ว ที่ประชุม สปท.มีมติเห็นชอบรายงานการปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยคะแนน 162 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ก่อนที่จะส่งรายงานไปให้ครม.พิจารณาดำเนินการต่อไป

“ต้องยอมรับว่าปัญหาสำคัญซึ่งมีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ของประเทศ คือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ขาดคุณธรรมและจริยธรรมมีการใช้อำนาจในตำแหน่งเพื่อแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง จำเป็นต้องสร้างกระบวนการคัดกรองและตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ”

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ก่อนการรับสมัครเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเปิดโอกาสให้ประชาชน พรรคการเมือง และชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการได้ มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และมีกระบวนการตรวจสอบผู้จะเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน

โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญได้มีบทบัญญัติในการควบคุมตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันการกระทำที่ก่อให้เกิดความ เสียหายต่อประชาชนและประเทศชาติ

นอกจากนี้ การส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะถือเป็นกลุ่มบุคคลที่เข้ามาทำงานอาสาให้กับประชาชน เป็นผู้รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและสื่อสารปัญหาให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขและช่วยเหลือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน มีหน้าที่ความรับผิดชอบในทางนิติบัญญัติ ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่ในทางบริหารกำหนดนโยบายสำคัญของประเทศ

“ด้วยอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ ดังกล่าว นอกจากจะต้องมีมาตรการควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเข้มข้นแล้ว ควรต้องมีมาตรการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ส่วนการพิจารณาค่าตอบแทนที่มีความเหมาะสมกับภารกิจหน้าที่และความรับผิดชอบ ซึ่งภารกิจสำคัญของการทำงานและการปฏิบัติหน้าที่ มีความจำเป็นที่จะต้องมีค่าตอบแทนเป็น รายได้ที่จะต้องนำมาใช้จ่ายกลับคืนสู่ประชาชน ทว่าค่าตอบแทนที่กำหนดไว้เดิมนั้น ไม่มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย

อย่างไรก็ดี จึงเสนอให้ใช้ในระยะอีก 5 ปีข้างหน้า ถึงจะมีผลใช้บังคับ เพื่อมิให้ถูกข้อครหาว่าเป็นข้อเสนอของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในปัจจุบัน ดังนั้นจึงเห็นควรให้จำเป็นต้องมีการพิจารณาทบทวนปรับปรุงค่าตอบแทนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นอกจากนี้ พรรคการเมืองถือเป็นองค์กรที่มีความสำคัญในการคัดสรร คัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมให้เข้ารับการเลือกตั้งหรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำคัญ อาทิ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นจะต้องเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยกับสมาชิกพรรคการเมืองและประชาชน

ขณะเดียวกัน มีบทบาทในการกำกับควบคุมคุณธรรมจริยธรรมของสมาชิกพรรค และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยผู้บริหารพรรคการเมืองจึงเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อพรรคการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นผู้กำหนดทิศทาง ควบคุมการบริหารของพรรคให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ดำรงสถานะของพรรคให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน ผู้บริหารพรรคการเมืองจึงควรได้รับค่าตอบแทนเหมาะสมจากพรรคการเมืองด้วย

อย่างไรก็ตาม แผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เรื่อง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การสร้างกลไกและวิธีการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และรับผิดชอบต่อประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

เมื่อบุคคลใดดำรงตำแหน่งเป็น ผู้แทนประชาชน จักต้องมีคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ คุณธรรม และจริยธรรมสูงกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป

จึงจำเป็นต้องมีกลไกและวิธีการให้มีกระบวนการคัดกรองและตรวจสอบ บุคคลที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ก่อนการรับสมัครดำรงตำแหน่ง โดย เปิดโอกาสให้ประชาชน พรรคการเมือง และชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ