คมนาคมเอาจริง! 10 ล้อน้ำหนักเกิน ระดมทีมจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักทุกพื้นที่ทั่วไทย หวังลดความเสียหายของถนน ด้านกรมทางหลวงชนบทเตรียมเสนอแนวทางแก้ปัญหาถาวร หากพบความผิด 3 ครั้งยึดรถเป็นของรัฐ
ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมตรวจสอบรถบรรทุกที่ขนส่งสินค้าน้ำหนักเกินกำหนดทั่วประเทศ นอกจากนี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก บูรณาการร่วมมือกับจังหวัด กระทรวงมหาดไทย ทหารและตำรวจ เพื่อดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดในการจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักยานพาหนะ ไม่ให้มีรถบรรทุกน้ำเกินในพื้นที่ของประเทศ เพื่อลดความเสียหายของถนนและลดการเกิดอุบัติเหตุ
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ในเดือนพฤศจิกายน2559 ที่ผ่านมา กรมทางหลวงโดยสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ สามารถจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ 316 คัน โดยส่วนใหญ่เป็นรถที่บรรทุกสินค้าประเภท หิน ดิน ทราย สินค้าทางเกษตร และวัสดุก่อสร้าง สำหรับพื้นที่ที่ทำการจับกุมได้มากที่สุดได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดสระบุรี และ จังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้ กรมทางหลวงมีนโยบายที่จริงจังและเข้มงวดในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว จึงได้สั่งการให้ สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง และตำรวจทางหลวง ทำงานร่วมกัน
“กรมทางหลวงได้มีนโยบายในเรื่องปรับปรุงเครือข่ายด่านชั่งน้ำหนักถาวร และด่านชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ทั่วประเทศอยู่แล้ว และจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดไม่มีการผ่อนผันให้ผู้ประกอบการในการบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งจะส่งผลให้ลดงบประมาณในการซ่อมบำรุงรักษาทางและลดความเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดกับโครงสร้างสะพานและทางลอด นอกจากนี้ หากพบเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินก็พร้อมที่จะลงโทษทั้งวินัยและอาญา กรมทางหลวงจึงขอความร่วมมือประชาชนผู้ใช้ทางหากพบเห็นรถบรรทุกที่สงสัยว่าบรรทุกน้ำหนักเกิน โทรแจ้งสายด่วนกรมทางหลวง 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชม.)”
ด้าน นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ในส่วนของกรมทางหลวงชนบท ได้กำหนดมาตรการในการดำเนินงานโดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 1.ระยะสั้น จัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่แบบบูรณาการกับหน่วยงานภายนอก เช่น กรมทางหลวง ทหาร ตำรวจ กรมการขนส่งทางบก และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปรับเพิ่มแผนการดำเนินงานเน้นการทำงานเชิงรุกในสายทางที่มีความเสี่ยงในการบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด เข้มงวดให้การควบคุม กำกับน้ำหนักบรรทุกให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเพิ่มปริมาณความถี่ ในการตั้งด่านชั่งน้ำหนัก
รวมทั้งปรับแผนเน้นเข้าดำเนินการกำกับควบคุมน้ำหนักบรรทุกในสายทางที่มีความเสี่ยงที่จะมีการบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด เช่น สายทางที่มีแหล่งวัสดุก่อสร้าง โรงงานน้ำตาล ผลผลิตทางการเกษตร และสินค้าอื่นๆ อยู่ในสายทาง เพื่อเป็นการควบคุมน้ำหนักบรรทุกจากต้นทาง
2.ระยะกลาง ได้กำหนดแผนในการก่อสร้างสถานีด่านชั่งน้ำหนักยานพาหนะ ในพื้นที่สายทางที่มีปริมาณรถบรรทุกสูง ถนนสายหลัก โดยวิเคราะห์ความเหมาะสมจากปัจจัยทางด้านวิศวกรรม และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่กรมทางหลวงชนบท ใช้เพื่อกำกับป้องปรามรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน
และ 3. ระยะยาว โดยกรมฯ จะประสานกับกระทรวงคมนาคม/กรมทางหลวง เพื่อที่จะเสนอแนวคิดให้มีการแก้ปัญหาควบคุมน้ำหนักบรรทุกให้มีประสิทธิภาพ และมีบทลงโทษรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น ผลจากการกระทำความผิด ต้องรวมถึงผู้จ้างวาน/เจ้าของกิจการ , มีการปรับเป็นอัตราก้าวหน้า เช่น ครั้งที่ 1 ปรับ 20% ของมูลค่ารถที่ทำความผิด ครั้งที่ 2 ปรับ 50% ของมูลค่ารถที่ทำความผิด ครั้งที่ 3 ให้ทำการยึดพาหนะ ให้เป็นทรัพย์สินของราชการสามารถนำมาขายทอดตลาด เพื่อนำมาชดเชยค่าซ่อมบำรุง , ผู้กระทำความผิดต้องมีส่วนรับผิดชอบในการซ่อมฟื้นคืนสภาพให้แก่ถนน แม้ถนนจะอยู่ระหว่างค้ำประกันสัญญา , สามารถดำเนินการทางกฎหมายกับยานพาหนะที่ขัดขืนไม่เข้าชั่งให้ถือเป็นกรณีแสดงเจตนากระทำความผิด เป็นต้น
ขณะที่ นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า กรมฯ เข้มงวดตรวจสอบรถบรรทุกบนถนนสายหลักและสายรองให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากพบรถที่มีการแก้ไขดัดแปลงตัวถังเพื่อให้สามารถบรรทุกได้มากกว่าปกติ ดำเนินการเปรียบเทียบปรับขั้นสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ฐานแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงสภาพเครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบของรถ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน พร้อมทั้งสั่งหยุดใช้รถทันทีทุกราย จนกว่าจะดำเนินการแก้ไขและนำกลับมาให้สำนักงานขนส่งตรวจสภาพก่อนจึงนำรถกลับไปใช้งานได้ และหากพบการฝ่าฝืนซ้ำซาก กรมการขนส่งทางบกอาจพิจารณามาตรการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาดที่สูงขึ้นทั้งคนขับรถและผู้ประกอบการเพื่อป้องกันพฤติกรรมการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งส่งผลให้ถนนชำรุดเสียหาย และรัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการซ่อมแซมแต่ละปีเป็นจำนวนมาก