โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างด้าว

วันเสาร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2556

โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างด้าว


ต่อจากฉบับที่แล้ว กรณีมีผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดฯ แห่งหนึ่ง สอบถามประเด็นเรื่องการ โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างด้าวว่าจะชี้แจง บรรยายพื้นที่การถือกรรม-สิทธิ์ในห้องชุดต่อเจ้าพนักงานที่ดินอย่างไร? ปัญหาของท่านคือ มีเจ้าของร่วมในอาคารชุดฯ ของท่านซึ่งเป็นคนไทยประสงค์ที่จะขายห้องชุดให้กับคนต่างด้าว และผู้ซื้อห้องชุดที่เป็น คนต่างด้าว ประสงค์ให้ระบุชื่อเจ้าของร่วม ในด้านหลังของหนังสือกรรมสิทธิ์ ห้องชุด เป็น 2 รายชื่อ คือ ทั้งคนต่างด้าวและคนไทย ท่านสงสัยว่า ห้องชุดนี้ ถือเป็นของคนต่างด้าวหรือคนไทย และสามารถแบ่งแยกการถือครองกรรมสิทธิ์คนละครึ่งได้หรือไม่?
ซึ่งฉบับที่แล้วค้างไว้ในเรื่องของมาตรา 19 ตรี การโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดให้แก่คนต่างด้าว หรือนิติบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 ให้ผู้ขอโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดแจ้งรายชื่อคนต่างด้าว หรือนิติบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 พร้อมทั้งอัตราส่วนเนื้อที่ของห้องชุดที่คนต่างด้าวหรือนิติบุคคลดังกล่าวถือกรรมสิทธิ์อยู่แล้วต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และให้คนต่างด้าวหรือนิติบุคคลผู้ขอรับโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดแสดงหลักฐานดังต่อไปนี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย
1) สำหรับคนต่างด้าวตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 (1) ต้องแสดงหลักฐานการเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
2) สำหรับคนต่างด้าวตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 (2) ต้องแสดงหลักฐานการเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
3) สำหรับนิติบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 (3) ต้องแสดงหลักฐานการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย
4) สำหรับนิติบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 (4) ต้องแสดงหลักฐานการเป็นผู้ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
5) สำหรับคนต่างด้าวและนิติบุคคลตามมาตรา 19 (5) ต้องแสดงหลักฐานการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรหรือหลักฐานการถอนเงินจากบัญชีเงินบาทของ บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศหรือถอนเงินจากบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศในจำนวนไม่น้อยกว่าค่าห้องชุดที่จะซื้อ
มาตรา 19 จัตวา เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับเอกสารและหลักฐานตามมาตรา 19 ตรี และตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นเอกสารและหลักฐานที่ถูกต้องตามมาตรา 19 ตรี และอัตรา ส่วนการถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของคนต่างด้าวหรือนิติบุคคลตามมาตรา 19 ทั้งผู้ที่ถือกรรมสิทธิ์อยู่แล้วและผู้ที่ขอรับโอนไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 ทวิ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับห้องชุดตามหมวด 4 ให้แก่คนต่างด้าวหรือนิติบุคคลผู้ขอรับโอนนั้น
นอกจากนั้นแล้ว ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ได้ระบุว่า {quot}กรรมสิทธิ์ในห้องชุดจะแบ่งแยกไม่ได้{quot}
ดังนั้น กรณีที่จะระบุชื่อเจ้าของร่วมทั้งคนต่างด้าว และคนไทย ในหนังสือกรรมสิทธิ์ ห้องชุดนั้น เชื่อว่าเจ้าพนักงานที่ดิน สามารถดำเนินการให้ท่านได้ครับ แต่การแบ่งกรรมสิทธิ์ กันคนละครึ่งนั้นไม่สามารถดำเนินการได้ เหตุเนื่องจากกรรมสิทธิ์ในห้องชุดไม่สามารถแบ่ง แยกได้ ตามมาตรา 12 ที่กล่าวถึงข้างต้น และห้องชุดที่มีชื่อเจ้าของร่วมเป็นคนต่างด้าว ถือว่า ห้องชุดนี้เป็นคนต่างด้าวครับ ในส่วนของการบรรยายพื้นที่การถือครองกรรมสิทธิ์ในห้องชุด ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ท่านต้องตรวจสอบด้วยว่าห้องชุดที่จะทำการโอนกรรมสิทธิ์นี้ พื้นที่รวม ของการถือครองกรรมสิทธิ์ของคนต่างด้าวในห้องชุดเกิน 49% ของเนื้อที่ของห้องชุดทั้งหมด ในอาคารชุดหรือไม่ (ตามมาตรา 19 ทวิ) ครับ


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ