ปัญหา.. บ้านทรุด มีรอยร้าว

วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557

ปัญหา.. บ้านทรุด มีรอยร้าว


มีท่านเจ้าของบ้านในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง มีข้อสงสัยขอปรึกษาดังนี้ ท่านเล่าให้ฟังว่า {quot}เมื่อประมาณปี 2554 ได้ซื้อบ้านเดี่ยวกับโครงการบ้านจัดสรร ช่วงแรกก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ต่อมาเมื่อประมาณช่วงต้นปี 2556 จึงทราบว่าตัวบ้านทรุด/เอียงและมีรอยร้าว จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของโครงการเข้ามาทำการตรวจสอบ ช่างของโครงการฯ แจ้งคร่าวๆ ว่าจะต้องซ่อมฐานรากประมาณ 6-8 เดือน สำหรับตัวบ้านใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือน ถ้าเป็นลักษณะเช่นนี้มีความเป็นไปได้หรือไม่? ที่จะขายบ้านคืนให้เจ้าของโครงการฯ หรือเขาจะรับผิดชอบให้เพียงการซ่อมแซมให้เท่านั้น กรุณาให้คำแนะนำด้วยครับ ขอขอบคุณล่วงหน้า{quot}
ปัญหานี้ ไม่ทราบว่าบ้านหลังอื่นในบริเวณข้างเคียงบ้านของท่าน ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันอย่างนี้หรือไม่ กรณีที่เป็นเฉพาะบ้านของท่านหลังเดียวก็น่าจะเกิดจากผู้รับเหมา แต่หากบ้านข้างเคียงบ้านท่านมีลักษณะเช่นเดียวกันประเด็นนี้น่าเป็นห่วงครับ
ในเรื่องนี้จึงได้ไปปรึกษา/หารือ กับผู้รู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างบ้าน เพื่อนำข้อมูลมาตอบข้อสงสัยให้กับท่านครับ ซึ่งผู้รู้ดังกล่าวได้กรุณาให้ข้อคิดเห็นไว้ดังนี้ครับ {quot}บ้านไม่ว่าจะสร้างใหม่หรือสร้างมาเป็นระยะเวลายาวนานแล้วก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่พบเห็นได้ค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ก็คือปัญหาบ้านหรืออาคารทรุดตัว ช่วงนี้ก็เพิ่งผ่านฤดูฝนกำลังย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากพื้นดินด้านล่างเกิดการทรุดตัว ดังนั้นในกรณีที่พื้นที่ซึ่งได้ทำการถมดินใหม่ๆ หรือพื้นที่ที่ดินอ่อนตัว หากไม่แน่ใจว่าดินจะเกิดการทรุดตัวในอนาคตก็ควรเพิ่มความแข็งแรงของเข็มให้มากกว่าปกติ เพราะหากพื้นดินเกิดการทรุดตัวลงแล้ว ไม่ว่าโครงสร้างบ้านจะแข็งแรงอย่างไรก็ตาม ย่อมมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน และหากปล่อยทิ้งไว้ปัญหาดินยุบตัวหรือทรุดข้างใต้ (ตัวบ้าน) ก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับจนเป็นอันตรายต่อโครงสร้างของบ้านได้{quot}
แนวทางการแก้ไขในกรณีที่ชั้นดินใต้โครงสร้างของบ้านเกิดการทรุดตัวลงที่ได้ผลดีที่สุด ก็คือการเพิ่มหรือเสริมเสาเข็มเข้าไปช่วยรับน้ำหนัก โดยมีแนวทางในการแก้ไขดังนี้
1) กรณีเกิดการเคลื่อนตัวของดินทำให้เสาเข็มเดิมเกิดการเสียหายอาคารเกิดการทรุดตัว กรณีนี้จะต้องปรับปรุงและต้องให้ดินเดิมมีความเสถียรภาพก่อน ถึงจะทำการแก้ไขฐานรากของอาคารโดยที่เสาเข็มที่เสริมใหม่ปลายเสาเข็มควรใกล้เคียงปลายเสาเข็มอาคารเดิม หรืออยู่ชั้นดินเดียวกับอาคารเดิม
2) กรณีเสาเข็มเดิมของอาคารเป็นเสาเข็มสั้นหรือปลายเสาเข็มอยู่ในชั้นดินเหนียวอ่อน มีฐานรากบางฐานในอาคารเกิดการทรุดตัวมากจนอาคารเสียหาย ควรแก้ไขด้วยการทำเสาเข็มเสริมเสาเข็มใหม่เฉพาะฐานรากที่เกิดการทรุดตัวเท่านั้นเพื่อหยุดยั้งการทรุดตัว เสาเข็มที่เสริมเข้าไปใหม่ควรมีความยาวใกล้เคียงกับเสาเข็มเดิม และไม่ควรใส่ปลายเสาเข็มหยั่งลงในชั้นดินต่างชนิดกับเสาเข็มเดิม มิฉะนั้นฐานรากที่ไม่ได้เสริมเสาเข็มจะทรุดตัวมากกว่าในภายหลัง ส่วนแนวทางแก้ไขอื่นๆ นั้นจะนำเสนอต่อในฉบับหน้าครับ


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ