Toggle navigation
วันศุกร์ ที่ 18 กรกฎาคม 2568
หน้าแรก
ข่าวสาร
วิเคราะห์-บทความ-ต่างประเทศ
ประกัน
ยานยนต์
การเงิน-ธนาคาร
หุ้น-กองทุนรวม
อสังหาริมทรัพย์
พลังงาน-คมนาคม-โลจิสติกส์
อุตสาหกรรม-เออีซี-เอสเอมอี
ไอที
การศึกษา-กทม
การตลาด-ซีเอสอาร์
เกษตรยุคใหม่-ภูมิภาค
บันเทิง
ขายตรง
ประชาสัมพันธ์
PR NEWS -ข่าวประชาสัมพันธ์
ไลฟ์สไตล์
ท่องเที่ยว
แฟชั่นโซไซตี้-ดูดวง
ช๊อป-ชิม-ชิล
สุขภาพ-ความงาม
วิดีโอ-คลิปข่าว
E-Book
นสพ. สยามธุรกิจ
ติดต่อเรา
สามารถส่งข้อมูล ข่าวสาร ทางอีเมลล์ : siamturakijonlinenews@gmail.com และ สำหรับฝ่ายโฆษณา ทางอีเมลล์ : siamturakijadvertising@gmail.com
หน้าแรก
อสังหาริมทรัพย์
ไทยอยู่อันดับ38ดัชนีความโปร่งใสตลาดอสังหาฯโลกปี2559
ไทยอยู่อันดับ38ดัชนีความโปร่งใสตลาดอสังหาฯโลกปี2559
วันพฤหัสบดีที่ 07 กรกฎาคม พ.ศ. 2559
Tweet
(7 กรกฎาคม 2559) - รายงาน Global Real Estate Transparency Index 2016 ระบุตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยมีดัชนีความโปร่งใสอยู่ในอันดับที่ 38 ของโลก จากตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด 109 แห่งที่ได้รับการศึกษาในรายงานฉบับนี้
ข้อมูลในรายงานฉบับดังกล่าวยังแสดงให้เห็นด้วยว่า คะแนนดัชนีความโปร่งใสตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการมีข้อมูลด้านต่างๆ เกี่ยวกับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่ของการเผยแพร่และการเข้าถึงข้อมูล นอกจากนี้ การปรับปรุงการวางแผนและกฎระเบียบเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นของนักลงทุนภายในประเทศและการลงทุนรูปแบบต่างๆ อาทิ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) นับเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ส่งเสริมให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยมีความโปร่งใสมากขึ้น
รายงานฉบับ Global Real Estate Transparency Index จัดทำขึ้นทุกๆ สองปีโดยบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ระหว่างประเทศ เจแอลแอล (โจนส์ แลง ลาซาลล์) โดยวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อระดับความโปร่งใส อาทิ ปริมาณข้อมูลที่มีการเปิดเผยเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของตลาด บรรษัทภิบาล กระบวนการต่างๆ เกี่ยวกับการประกอบธุรกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ และสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
รายงานฉบับดังกล่าวตั้งค่าดัชนีความโปร่งใสระหว่าง 1 ถึง 5 โดย 1 เป็นค่าความโปร่งใสสูงสุด ทั้งนี้ สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยในรายงานฉบับปี 2559 นี้ มีค่าดัชนีที่ 2.65 ซึ่งปรับดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับรายงานฉบับปี 2549 หรือ 10 ปีที่แล้วที่ไทยเคยมีค่าดัชนีอยู่ที่ 3.40
นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล กล่าวว่า “การมีดัชนีความโปร่งใสตลาดอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น นับเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทย เนื่องจากหมายถึงการมีขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่สูงขึ้นด้วย”
“ประสบการณ์จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า ระดับความโปร่งใสในตลาดอสังหาริมทรัพย์มีความสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณการลงทุน และเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงให้กับเจ้าของ นักลงทุน และผู้ใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ ในการตัดสินใจใดๆ ที่เกี่ยวกับการซื้อ ขาย หรือเช่า” นางสุพินท์กล่าว
นายแอนดรูว์ กัลแบรนด์สัน หัวหน้าฝ่ายวิจัย เจแอลแอล กล่าวว่า “การมีข้อมูลตลาดให้เข้าถึงได้มากและง่ายขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้ค่าดัชนีความโปร่งใสตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ การเติบโตของบริษัทจดทะเบียนและกองทุน/กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มีส่วนช่วยอย่างมากในการทำให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมการลงทุนต่างๆ รวมถึงผลประกอบการด้านการเงินเพิ่มมากขึ้นด้วย”
ไทยโปร่งใสอันดับ 3 ในอาเซียน
ในรายงานฉบับนี้ มีประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมอยู่ด้วย 7 ประเทศ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยมีความโปร่งใสอยู่ในอันดับที่สามรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย
ดร ชัว หยาง เหลียง หัวหน้าฝ่ายวิจัยภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า “เป็นที่น่าสังเกตว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม จัดอยู่ในกลุ่มตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความโปร่งใสในระดับปานกลางซึ่งกำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างอย่างมีนัยสำคัญเกิดขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มประเทศเหล่านี้ยังมีโอกาสที่ดัชนีความโปร่งใสในตลาดอสังหาริมทรัพย์จะปรับตัวดีขึ้นได้อีก หากมีการปรับปรุงกระบวนการต่างๆ เกี่ยวกับการประกอบธุรกรรม กฎระเบียบ และการจัดสรรข้อมูลให้ดียิ่งขึ้น”
“ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทย ซึ่งอยู่ในอันดับต้นๆ ของกลุ่มตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความโปร่งใสในระดับปานกลาง อาจสามารถยกระดับสภาวะแวดล้อมด้านกฎระเบียบและกฎหมาย ด้วยการสร้างฐานข้อมูลการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับโฉนดที่ดิน และเปิดให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่จะซื้อ ขาย เช่า หรือให้เช่าอสังหาริมทรัพย์มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้ดีขึ้น ส่วนเมียนมา หนึ่งในปัญหาสำคัญที่พบคือการขาดความโปร่งใสในธุรกรรมการซื้อ-การขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งรัฐบาลเมียนมาอาจช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้หากมีการจัดทำฐานข้อมูลการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับโฉนดที่ดินที่ให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ และมีการจัดตั้งหน่วยงานควบคุมดูแลการออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการด้านการประเมินราคาทรัพย์สินและตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์” ดร ชัวกล่าว
เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีดัชนีความโปร่งใสของตลาดอสังหาริมทรัพย์ปรับเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด
เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของโลก ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเอเชียแปซิฟิกมีดัชนีความโปร่งใสปรับเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด โดยออสเตรเลียยังคงเป็นตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีดัชนีความโปร่งใสสูงสุดในภูมิภาค และนิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มี “ความโปร่งใสสูง” ของโลก
ส่วนประเทศเอเชียแปซิฟิกที่มีดัชนีความโปร่งใสปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดในการศึกษาครั้งนี้ คือ ไต้หวัน ซึ่งได้ขยับจากกลุ่มตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความโปร่งใสปานกลาง ไปอยู่ในกลุ่มตลาดอสังหาริมทรัพย์โปร่งใส ประเทศอื่นๆ ที่มีดัชนีความโปร่งใสดีขึ้นรองลงมาได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และจีน โดยเฉพาะกลุ่มเมืองหลักของจีนที่เลื่อนขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆ ของกลุ่มตลาดที่มีดัชนีโปร่งใสปานกลาง ส่วนเมียนมามีดัชนีความโปร่งใสดีขึ้นมากเช่นกัน แต่ยังไม่หลุดออกจากกลุ่มตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่โปร่งใส
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีความโปร่งใสในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเอเชียแปซิฟิกปรับตัวดีขึ้น คือการมีข้อมูลตลาดให้เข้าถึงได้มากขึ้น และมีคุณภาพมากขึ้น ในขณะที่บางประเทศมีดัชนีปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การปรับปรุงด้านกฎหมาย การยกระดับมาตรฐานด้านจรรยาบรรณ รวมไปจนถึงการออกกฎระเบียบสำหรับอาคารเขียว
ดร เจน เมอร์เรย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเจแอลแอลภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า “นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ดัชนีความโปร่งใสของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ ยังไม่ได้ขยับขึ้นไปอยู่ในกลุ่มตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความโปร่งใส โดยในบางประเทศยังคงมีปัญหาในหลายๆ ด้าน อาทิ การขาดธรรมาภิบาลขององค์กร การทุจริตคอรัปชั่น และความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆ ซึ่งส่งผลที่ร้ายแรงต่อสังคม ธุรกิจ และการลงทุน”
“ในอนาคต เชื่อว่าพัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทางด้านเศรษฐกิจและในภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศส่วนใหญ่ของเอเชียแปซิฟิกจะช่วยให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของภูมิภาคปรับตัวดีขึ้นต่อไปอีก ซึ่งในเรื่องนี้ แม้นโยบายต่างๆ ของภาครัฐฯ จะมีส่วนสำคัญ แต่การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนก็มีความสำคัญมากเช่นกัน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
The Associated Press
“โฮมโปร” เดินเกมรุก EEC ปักหมุดแลนด์มาร์...
...
พฤกษา - อินโน พรีคาสท์ ชู “พรีคาสท์” นวั...
...
NEPS ผนึก HUAWEI และ LONGi เปิดตัว “SOLA...
...
"ดูโฮม" รุกย่านธุรกิจ เปิด ‘สาขาเทพารักษ...
...
คอนโดฯ ใหม่สุดฮอต! “ศุภาลัย เซนส์ แจ้งวั...
...
บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ
×
เว็บไซต์ “สยามธุรกิจ” ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)
กดยอมรับ