กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ DIPROM ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย (Soft Power) สาขาอาหารเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบริการอาหารไทยไปต่างแดน เพิ่มทักษะ องค์ความรู้ เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ เชื่อมโยงโอกาสสู่ต่างประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยการนำเสนออัตลักษณ์อาหารไทย บริการแบบสากล พร้อมรับมือการผู้บริโภคทั่วโลก
ดร.พลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อาหารไทย ไม่ได้เป็นเพียงแค่เมนูเลิศรส แต่ยังเป็นหนึ่งใน Soft Power ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของประเทศไทย เป็นทูตวัฒนธรรมที่ช่วยเชื่อมโยงผู้คนทั่วโลกเข้ากับเสน่ห์และเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ด้วยรสชาติที่หลากหลาย ความประณีตในการปรุง และเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในทุกจาน ทำให้ครัวไทยเป็นที่รู้จักและชื่นชอบในระดับสากลอย่างแท้จริง ดังนั้นเพื่อต่อยอดจุดแข็งของประเทศในการเป็นแหล่งอาหารชั้นนำ DIPROM จึงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและผลักดันผู้ประกอบการร้านอาหารไทย ให้มีความพร้อมและสามารถก้าวสู่เวทีโลกได้อย่างมั่นคง ผ่านการพัฒนาทักษะองค์ความรู้ และการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกสู่ตลาดต่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันสู่ระดับสากล สอดรับกับการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของรัฐบาล ผ่านนโยบายเรือธงสำคัญ “One Family One Soft Power (OFOS)” โดยเฉพาะ "อาหาร" ซึ่งเป็น 1 ใน 11 สาขาเป้าหมายของประเทศไทย ที่มีศักยภาพสูงและโดดเด่น ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) ดำเนินโครงการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ต่อเนื่อง 2 สาขา ได้แก่
1. สาขาแฟชั่น ผ่าน 3 โครงการหลัก ทั้งการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นไทยสู่สากล และเชื่อมโยง/แลกเปลี่ยนองค์ความรู้แฟชั่นระหว่างประเทศ
2. สาขาอาหาร ผ่าน 4 โครงการหลัก คือ พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านอาหารไทยผ่านโครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย พัฒนาศักยภาพร้านอาหารเชฟชุมชนอาหารถิ่นอาหารไทย ผ่านโครงการ (Local Chef Restaurant) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารชุมชนผ่านโครงการยกระดับศูนย์นวัตกรรมอาหารชุมชน ตลอดจนพัฒนาศักยภาพธุรกิจอาหารจากไทยสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน
ดร.พลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า กิจกรรมการเตรียมความพร้อมร้านอาหารซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปเปิดร้านในต่างประเทศ (DIPROM Thai Cuisine Gone Global) ถือเป็นก้าวสำคัญของ กสอ. ในการผลักดันให้อาหารไทยเป็นที่ยอมรับและสร้างรายได้ในระดับสากลนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ เป็นกิจกรรมรอง ภายใต้โครงการหลัก การพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชนอาหารถิ่นอาหารไทย โครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์สาขาอาหาร มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็น ให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยที่มีความมุ่งมั่น และเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ ผ่านการพัฒนาในด้านการบริหารจัดการธุรกิจ การควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสากล รวมถึง กลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ เพื่อให้ร้านอาหารไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและเป็นที่รู้จักในระดับสากล โดยกิจกรรมดังกล่าว มีเป้าหมายร้านอาหารทั่วประเทศ ที่สนใจเปิดร้านในต่างประทศ ทีร้านอาหารลงทะเบียนเข้าร่วมกว่า 50 ร้าน และผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในวงการอาหารและสาขาที่เกี่ยวข้องกว่า 5 ท่าน เหลือเพียง 10 ร้านอาหารไทยที่พร้อมจะก้าวสู่เวทีโลก
ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า กิจกรรมการเตรียมความพร้อมร้านอาหารซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปเปิดร้านในต่างประเทศ (DIPROM Thai Cuisine Gone Global) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) มอบหมายให้ สถาบันอาหาร ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีกิจกรรมที่หลากหลาย เริ่มตั้งแต่ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “เสริมศักยภาพร้านอาหารไทย สู่การขยายธุรกิจทั่วโลก” เพื่อสร้างองค์ความรู้และเตรียมพร้อมผู้ประกอบการเพื่อไปเปิดร้านอาหารในต่างประเทศ กิจกรรมการให้คำปรึกษาเชิงลึก ด้านการบริหารจัดการร้าน การวางแผนการเงิน และการตลาด และกิจกรรมการสร้างการรับรู้และสรุปผลการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ โดยการจัดแสดงบูธผู้ประกอบการในงานThailand Retail, Food & Hospitality Services (TRAFS 2025) ปีที่ 19 ระหว่างวันที่ 24 - 27 กรกฎาคม 2568 ณ EH 98 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค