สมาคมการค้ายาสูบไทย พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่สงขลา สำรวจสถานการณ์บุหรี่เถื่อนที่ระบาดอย่างหนักในรอบ 10 ปี รุดเข้าพบ “สุพิศ พิทักษ์ธรรม” นายยก อบจ.สงขลา หารือแนวทางการแก้ไขปัญหา เผยเม็ดเงินจัดเก็บภาษีบุหรี่สงขลาลดลง 10 เท่าตัว จาก 80 ล้านบาทเหลือเพียง 7 ล้านบาทต่อปี
จังหวัดสงขลา ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของบุหรี่เถื่อนในประเทศไทย และเป็นต้นทางของบุหรี่เถื่อนที่ส่งพัสดุกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ด้วยตำแหน่งที่ตั้งที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบก และทางทะเล จึงง่ายต่อการลักลอบนำเข้าสินค้าหนีภาษี โดยเฉพาะบุหรี่เถื่อนที่ถูกลักลอบเข้ามาทั้งทางบก และการขนถ่ายทางทะเล นอกจากนี้ การเป็นศูนย์กลางการค้าในภาคใต้ตอนล่างของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำให้มีร้านบุหรี่เถื่อนเปิดในตัวจังหวัดสงขลาอย่างโจ่งแจ้ง
สมาคมสมาคมการค้ายาสูบไทย พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย และสื่อมวลชน ได้ลงร่วมสำรวจ “สถานการณ์บุหรี่ผิดกฎหมายในจังหวัดสงขลา” และเข้าพบนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม นายยกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เพื่อขอทราบแนวทางการแก้ไขปัญหา
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม นายยกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า บุหรี่หนีภาษีนั้นมีมานาน กลายเป็นปัญหาระดับจังหวัด ถึงแม้ตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา ได้ไม่นาน แต่ก็รับทราบปัญหาเป็นอย่างดี หากทุกหน่วยงานจริงจังกับปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น ในส่วนของอบจ.สงขลา หลังรับทราบปัญหาแล้ว จะมีมาตรการเชิงรุก โดยจะออกหนังสือประสานไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง ศุลกากร สรรพากร ตำรวจ มาหารือผลกระทบเรื่องดังกล่าว ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ เพื่อหาแนวทางในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
“ผมได้มอบหมายให้รองนายก อบจ. และหัวหน้ากองคลัง จัดทำหนังสือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พร้อมดำเนินการพูดคุยในระดับผู้บริหารเพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหา ที่ผ่านมา อบจ. เสียโอกาสและรายได้ ปี 2553 มีรายได้ 75 ล้านบาท ปี 2554 รายได้ 80 กว่าล้านบาท แต่ปี 2563-2664 รายได้ลดลงเหลือ 8 ล้านบาท ปี 2566-2567 รายได้ 7 ล้านบาท และปี 2568 (ไตรมาสแรก) จัดเก็บรายได้ 5 ล้านบาท” นายยก อบจ.สงขลากล่าว
นางสาวธัญญศรัณ แสงทอง ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าวว่า การลงพื้นที่สำรวจครั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับสื่อมวลชนในเรื่องปัญหาบุหรี่เถื่อนในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดสงขลา ที่มีอัตราการบริโภคบุหรี่เถื่อนสูงมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศติดต่อกันมาหลายปี และเพื่อให้รับทราบผลกระทบของบุหรี่เถื่อนที่มีต่อร้านค้าถูกกฎหมาย และการพัฒนาส่วนท้องถิ่น
“จากการสำรวจอัตราการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายในประเทศไทยด้วยวิธีการสุ่มเก็บซองบุหรี่เปล่า จัดทำโดยอุตสาหกรรมยาสูบ ล่าสุดในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 พบว่า มีอัตราการบริโภคถึงกว่า 28.1% สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีการสำรวจมากว่า 10 ปี”
โดยผลสำรวจล่าสุดพบว่า จังหวัดสงขลา มีความชุกของบุหรี่เถื่อนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของไทย คิดเป็น 90.8% เป็นรองเพียงจังหวัดสตูลเท่านั้น จึงควรตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดบุหรี่เถื่อนจึงกลายเป็นความปกติของจังหวัดสงขลาไปได้ เบื้องหลังคืออะไร และใครคือผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดในขบวนการนี้
โดยการสำรวจซองบุหรี่เปล่า (EPS) ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 พบสัดส่วนการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมาย (บุหรี่ที่ไม่เสียภาษีในประเทศไทย บุหรี่เถื่อนและบุหรี่ปลอม) ในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นถึง 28.1% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการสำรวจมาในประเทศไทย และเพิ่มขึ้น 2.7% จากการสำรวจครั้งก่อนหน้า ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 โดยขณะนั้นมีสัดส่วนการบริโภคอยู่ที่ 25.4% แสดงให้เห็นว่าปัญหาบุหรี่ผิดกฎหมายยังคงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่ภาคใต้ยังคงเป็นพื้นที่ที่พบสัดส่วนการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมาย เทียบกับจำนวนประชากรของจังหวัด มากที่สุดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมากกว่า 60% ของบุหรี่ผิดกฎหมาย ถูกพบใน 5 จังหวัดในภาคใต้ ได้แก่ สตูล 94.4% สงขลา 90.8% พัทลุง 82.3% ภูเก็ต 73.3% และนครศรีธรรมราช 61.1% บ่งชี้ถึงความชุกชุมของบุหรี่ผิดกฎหมายในจังหวัดนั้น ๆ
“จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ในพื้นที่จังหวัดสงขลาในรอบ 10 ที่ผ่านมา ลดลงอย่างน่าใจหาย จากเดิมที่เคยจัดเก็บได้สูงสุดถึง 80 ล้านบาท แต่ ณ สิ้นปี 2567 จัดเก็บได้เพียง 7 ล้านบาท เท่ากับเราสูญเสียไปกว่า 70 ล้านบาท เงินภาษีเหล่านี้ควรจะสามารถนำมาพัฒนาท้องถิ่นได้ รวมถึงส่งผลกระทบต่อ ร้านค้า เอเย่นต์จำหน่ายบุหรี่ที่ถูกต้องตามกฎหมายกว่า 400,000 รายทั่วประเทศ และร้านค้าบุหรี่ที่ถูกกฎหมายในสงขลาอีกประมาณ 400 ร้าน ได้รับความเสียหายจากยอดขายที่ลดลงไปด้วย” ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าว
ด้านนายกิตติทัศน์ ผาทอง เลขาธิการภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว มีชาวไร่ยาสูบกว่า 25,000 ครัวเรือนได้รับผลกระทบ สูญเสียรายได้จากการที่การยาสูบแห่งประเทศไทยลดปริมาณการสั่งซื้อใบยาสูบลง ซึ่งเรื่องนี้ตนในฐานะตัวแทนของภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย ก็พยายามเข้ามาช่วยเหลือ ร่วมกับสมาคมการค้ายาสูบไทย แก้ไขปัญหาโดยขอความร่วมมือหลาย ๆ หน่วยงาน จึงได้เข้าร่วมให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญาฯ ด้วย
“แต่สิ่งสำคัญที่ต้องให้ภาครัฐเอาจริงเอาจังกับปัญหานี้ เพราะรัฐเป็นผู้เสียหายจากการจัดเก็บภาษีที่ลดลง กว่า 25,000 ล้านบาท จากสถิติการจัดเก็บของสรรพสามิตก่อนหน้านี้สูงถึง 60,000-70,000 ล้านบาท” นายกิตติทัศน์กล่าว