วันนี้ (22 กรกฎาคม 2568) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมการพัฒนาระบบเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างกระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานคร โดยมี นายมนตรี ตั้งเจริญถาวร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้แทนกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ กล่าวว่า การหารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในครั้งนี้ เพื่อบูรณาการความร่วมมือในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1. ความร่วมมือในการบริหารจัดการด้านการจราจร ประกอบด้วย
1.1 แนวทางการบริหารจัดการวินรถจักรยานยนต์ โดย ขบ. จะร่วมกับ กทม. ในการกำกับดูแลวินรถจักรยานยนต์ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งในเรื่องใบขับขี่สาธารณะ และจะมีการหารือแนวทางในการนำแอปพลิเคชันมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งผู้ให้บริการและประชาชนผู้ใช้บริการ โดยให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
1.2 การบูรณาการกล้องวงจรปิดของสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. เพื่อจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการจราจรและการปราบปรามรถสาธารณะที่กระทำผิด ภายใต้โครงการศึกษาการแก้ไขปัญหาจราจรทั้งระบบบนถนนสายหลักในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-Road)
2. ความร่วมมือระหว่าง ขสมก. และ กทม. ในการประสานงานด้าน Feeder รวมถึงพัฒนาเส้นทางใหม่ ซึ่ง สนข. อยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนาระบบการคมนาคมเพื่อเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ต่อเนื่อง (ปี 2568 - 2569) โดยจะศึกษาการปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทางใหม่ในเขตกรุงเทพฯ รวมถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสาร แนวคิดการใช้ระบบตั๋วร่วม และแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเพิ่มปริมาณผู้โดยสาร รวมทั้งรับทราบปัญหาและอุปสรรคสถานการณ์รถโดยสารสาธารณะที่ให้บริการในปัจจุบัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล สถิติ ปัญหา รูปแบบการเดินทาง สภาพปัจจุบัน ก่อนนำไปวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคและเส้นทางที่มีปัญหาต่าง ๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2568 ส่วนการวิเคราะห์เส้นทางรถโดยสารประจำทางใหม่ทั้งระบบในกรุงเทพฯ จะนำแนวเส้นทางของ ขบ. และ กทม. มาพิจารณาร่วมกัน คาดว่าจะได้ข้อเสนอแนวเส้นทางใหม่ภายในปลายเดือนมกราคม 2569
3. การกำหนดจุดที่ตั้งป้ายรถโดยสารประจำทางให้สอดคล้องกับสถานีรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ กทม. อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีป้ายจอด 5,192 ป้าย โดยจะมีการบูรณาการร่วมกันในการบริหารจัดการ ผ่านคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดที่หยุดรถโดยสารในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้แทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นอนุกรรมการ
4. การบริหารสัญญาเช่าพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร จะได้มีการหารือร่วมกันระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับ กทม. ในการบริหารจัดการ รวมทั้งแนวทางการส่งคืนตลาดนัดจตุจักรให้ รฟท. ต่อไป
“การประชุมครั้งนี้เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคมและ กทม. เพื่อเป็นการนำร่องไว้เป็น Model โดยจะนำผลสำเร็จที่ได้จากการดำเนินการครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้กับเมืองใหญ่อื่น ๆ ต่อไป” นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ กล่าว