นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแนวนโยบายและข้อสั่งการในการรณรงค์ป้องกันผลกระทบจากการจุดบั้งไฟที่จะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางการบิน โดยเน้นย้ำว่า “งานบุญบั้งไฟเป็นประเพณีอันดีงามที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานในหลายพื้นที่ภาคอีสาน แต่การบริหารจัดการที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับการเดินอากาศ จึงได้สั่งการให้ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่น รวมถึงการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจ เรื่องการจุดบั้งไฟอย่างไรให้ปลอดภัยต่อการบิน เพื่อทราบถึงปัจจัยและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความปลอดภัยของการบินพาณิชย์และการใช้เส้นทางบิน ซึ่งได้รับรายงานจาก บวท. ว่า ได้มีการดำเนินการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงจากการจุดบั้งไฟ การแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยง รวมถึงจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังในช่วงเทศกาลบั้งไฟที่มีความถี่ของเที่ยวบินสูง โดยเน้นการรณรงค์และสื่อสารเชิงรุกให้มีการแจ้งขออนุญาตก่อนจุดบั้งไฟ นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ผู้บริหารและพนักงานผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ของ บวท. ลงพื้นที่ให้ข้อมูลความรู้ในด้านปัจจัยอันตรายทางการบิน กฎระเบียบ และขั้นตอนวิธีการปฏิบัติในการขออนุญาตจุดบั้งไฟ แก่ฝ่ายปกครองท้องที่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ณ จ.อุดรธานี และ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสถิติการแจ้งจุดบั้งไฟมากอันดับต้น ๆ อีกทั้งมีแผนงานที่จะขยายการรณรงค์เรื่องการจุดบั้งไฟอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ไปยังพื้นที่ภาคอีสานในจังหวัดอื่นๆ ด้วย”
นายสุรชัย หนูพรหม รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวเพิ่มเติมว่า “บวท. ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของ รชค. (นางมนพร) ที่เน้นย้ำเรื่องการรณรงค์สื่อสาร สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการจุดบั้งไฟอย่างไรให้ไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางการบิน ซึ่งปัจจุบันพบว่า ยังมีบางพื้นที่ที่มีการจุดบั้งไฟโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ซึ่งส่งผลต่อการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ จึงได้ประสานงานใกล้ชิดกับหน่วยงานในจังหวัดต่างๆ โดยที่ผ่านมา บวท. ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “บินปลอดภัยไร้ความเสี่ยง” ประจำปี 2568 ณ จ.อุดรธานี โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟในพื้นที่ภาคอีสาน รวมกว่า 44 หน่วยงาน เพื่อทบทวนปรับปรุงกระบวนการทำงานร่วมกัน ย้ำขั้นตอนการแจ้งขออนุญาตก่อนจุดบั้งไฟ แลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยทางการบิน นอกจากนี้ ยังลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลสร้างถ่อ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี จัดงานบุญบั้งไฟ ประจำปี 2568 เพื่อสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟแบบดั้งเดิมของชุมชนและเสริมสร้างความรู้เรื่องการจุดบั้งไฟที่ปลอดภัยต่อการบิน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน”
อย่างไรก็ตาม บวท. ขอความร่วมมือผู้จัดงานทุกพื้นที่ แจ้งขออนุญาตล่วงหน้า ก่อนจุดบั้งไฟทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของเที่ยวบินและผู้โดยสาร รวมทั้งรักษามรดกทางวัฒนธรรมให้ยั่งยืน โดยจำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตอย่างเคร่งครัด โดยผู้จัดงานหรือประชาชนที่ต้องการจุดบั้งไฟ ต้องยื่นคำขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เช่น กำนัน นายอำเภอ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองประจำจังหวัด ล่วงหน้าอย่างน้อย 7–15 วัน ซึ่งสามารถขออนุญาตจุดบั้งไฟผ่าน แอปพลิเคชั่น “บำเพ็ญ” (Bampen) เป็นวิธีที่สะดวกและปลอดภัยสำหรับประชาชนที่ต้องการจัดกิจกรรมจุดหรือปล่อยบั้งไฟ โดยกรอกข้อมูลที่จำเป็นในแบบฟอร์มคำขอ เช่น วันที่และเวลาที่จะจุดบั้งไฟ สถานที่ ขนาดและจำนวนของบั้งไฟ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถประเมินความเสี่ยงและวางแผนการควบคุมได้อย่างเหมาะสม หากสถานที่จุดบั้งไฟอยู่ใกล้สนามบินหรือเส้นทางการบิน จะมีการแจ้งให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ บวท. เพื่อประสานงานและป้องกันผลกระทบต่อการบิน ซึ่งการจุดบั้งไฟโดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ บวท. ได้ประสานงานและขอความร่วมมือให้สายการบิน ตรวจสอบ NOTAM บั้งไฟทุกครั้ง ก่อนวางแผนการบินในภาคอีสาน แจ้งผู้ปฏิบัติการบินทราบถึงช่วงเวลาที่มีกิจกรรมจุดบั้งไฟในพื้นที่ควบคุม ปรับเส้นทางหรือระดับบินสำรอง หากพบว่า NOTAM บ่งชี้ความเสี่ยงสูงในเส้นทางหลัก และประสานเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางกาศ เมื่อพบสัญญาณบั้งไฟระหว่างปฏิบัติการ เพื่อรับคำแนะนำแบบเรียลไทม์ ซึ่ง บวท. เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะร่วมกันสร้างมาตรการ “บินปลอดภัยไร้ความเสี่ยง” ควบคู่ไปกับการสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟอันงดงามของภาคอีสานต่อไป