"สุรพงษ์ ปิยะโชติ" ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่บูรณาการหน่วยงานในกำกับแก้ไขปัญหาและหาแนวทางป้องกันอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับระบบราง กำชับบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เร่งรัดพัฒนารถไฟฟ้ารางเบา “เชียงใหม่” มอบ อทส. พัฒนาที่อยู่อาศัยรอบพื้นที่สถานีรถไฟ ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน
วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2567) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) นายวิทยา พันธุ์มงคล รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พ.ต.อ. ศุภกร ศุภศิณเจริญ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (อทส.) นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และนายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมลงพื้นที่สวนสาธารณะสถานีรถไฟเชียงใหม่ ติดตามความคืบหน้าการปฏิบัติงานของหน่วยงานในกำกับดูแล โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานในพื้นที่ให้การต้อนรับ
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เกิดอุทกภัยพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีแนวโน้ม ที่จะมีความรุนแรงมากขึ้นในทุก ๆ ปี สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวของประเทศ รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประกอบกับนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมบูรณาการร่วมกัน เพื่อศึกษาสาเหตุนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนอย่างเหมาะสม เป็นรูปธรรม และยั่งยืน รวมถึงแผนการเตรียมรับมือไปจนถึงการเผชิญเหตุและแผนการฟื้นฟู เพื่อลดผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยวันนี้ตนและคณะได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามภารกิจหน่วยงานในกำกับ เพื่อขับเคลื่อน การดำเนินงานให้สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม สำหรับแนวทางการป้องกันและแก้ไข กรณีเกิดเหตุอุทกภัยระบบราง ตนได้มอบหมายให้ ขร. ดำเนินโครงการศึกษาจัดทำมาตรฐานระบบระบายน้ำโครงสร้างพื้นฐานระบบราง และจัดทำมาตรการลดความเสี่ยงต่อภัยทางราง ประกอบด้วย การจัดการน้ำ อย่างยั่งยืน (SuDS) ระบบแจ้งเหตุเมื่อเกิดภัยต่อระบบราง (DRT ALERT) การปรับปรุงลำน้ำ การควบคุมปริมาณน้ำ การสร้างระบบระบายน้ำ และการปรับปรุงโครงสร้างทางรถไฟ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ กล่าวต่อว่า จากวิกฤตการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่ที่ผ่านมา พบว่า น้ำล้นตลิ่งแม่น้ำปิงในพื้นที่เขตเมืองเชียงใหม่สาเหตุมาจากหน้าตัดลำน้ำปิงมีขนาดเล็กลงกว่าอดีตมาก ตนจึงได้สั่งการ ให้ ขร. แก้ไขน้ำเอ่อล้นจากแม่น้ำปิงกรณีเร่งด่วนด้วยการขอคืนพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์เข้าไปในลำน้ำปิง ตามระยะความกว้างแม่น้ำปิงที่เหมาะสม รวมถึงหารือร่วมกับหน่วยงานที่ดูแลฝายหินทิ้งเก่าแก่ เช่น แก่เหมืองแก่ฝายเพื่อหาทางออก โดยรับรองว่าจะมีน้ำไหลเข้าเหมืองพญาคำเช่นเดิมแม้ไม่มีฝายหินทิ้งแล้ว พร้อมให้ดำเนินการขุดลอกแม่น้ำปิงน้ำตะกอนออกไปทิ้งนอกเขตแม่น้ำด้วย สำหรับในส่วนของน้ำท่วมบริเวณทางรถไฟระหว่างสถานีสารภี - สถานีเชียงใหม่ ขร. มีแนวทางการแก้ไข ดังนี้ 1) ปรับปรุงชั้นโรยหินทางรถไฟ 2) ก่อสร้าง 2 ท่อสี่เหลี่ยมคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 3-(3.50 x 3.50) เมตร 2 แห่ง (เสาโทรเลข 684/3-4 และ 685/7-8) และขนาด 3-(1.50 x 1.50) เมตร 1 แห่ง (เสาโทรเลข 749/9-10)
ในส่วนของสถานีรถไฟฟ้ารางเบา รฟม. ได้รายงานว่าสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) ได้ทำการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้ารางเบา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีโครงสร้างทางวิ่งผสมระหว่างใต้ดินและระดับดิน 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ - แยกแม่เหียะสมานสามัคคี รวม 16 สถานี ระยะทาง 15.8 กิโลเมตร (กม.) เส้นทางที่ 2 สายสีน้ำเงิน ช่วงสวนสัตว์เชียงใหม่ - แยกศรีบัวเงินพัฒนา รวม 13 สถานี ระยะทาง 11 กม. และเส้นทางที่ 3 สายสีเขียว ช่วงแยกรวม โชคมีชัย - ท่าอากาศยานเชียงใหม่ รวม 10 สถานี ระยะทาง 12 กม. รวมทั้งหมด 39 สถานี ระยะทาง 38.8 กม. ซึ่งตามแผนจะเริ่มดำเนินการเส้นทางที่ 1 สายสีแดงก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาทบทวนโครงสร้าง และระบบที่เหมาะสม คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2570
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับพื้นที่สวนสาธารณะรถไฟเชียงใหม่ จำนวนกว่า 70 ไร่ ของ รฟท. ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่มีแผนพัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะและสวนสุขภาพ (Health Park) แห่งใหม่ใจกลางเมืองให้คนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ปัจจุบันองค์การบริหาร ส่วนจังหวัดเชียงใหม่รับมอบพื้นที่จาก รฟท. โดยมีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสองหน่วยงานระยะเวลา 3 ปี เพื่อพัฒนาพื้นที่ตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งในอนาคตเมื่อมีรถไฟความเร็วสูงกับรถไฟรางคู่เกิดขึ้นแล้ว พื้นที่แห่งนี้จะเป็นประโยชน์กับคนเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวอย่างมาก
นอกจากนั้น นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยรอบพื้นที่สถานีรถไฟที่มีศักยภาพเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลใน “โครงการบ้านเพื่อคนไทย” เป็นการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น โดย รฟท. ได้ดำเนินการตรวจสอบที่ดินบริเวณริมทางรถไฟและสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศที่มีความเหมาะสมสำหรับการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย และได้ให้ อทส. ผู้ดำเนินการบริหารทรัพย์สินของ รฟท. เป็นผู้พัฒนาโครงการ โดย อทส. ได้นำเสนอแบบ การพัฒนาโครงการนำร่องย่านสถานีรถไฟเชียงใหม่ บริเวณตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบ ลักษณะบ้านเดี่ยว 1 ชั้น ขนาด 50 ตารางเมตร จำนวน 35 หลัง และในอนาคตจะมีการพัฒนาโครงการนำร่องประเภทที่อยู่อาศัยแนวสูงต่อไป ทั้งนี้ พื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟเชียงใหม่เป็นทำเลที่ดีประชาชนสามารถเดินทางจากตัวเมืองไป - กลับพื้นที่ที่สำคัญได้อย่างรวดเร็ว และมีความเหมาะสมในด้านการเป็น ที่อยู่อาศัย