รอง คปก.ชี้ "องค์กรอิสระ" หัวใจการตรวจสอบรัฐ

วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

รอง คปก.ชี้


เว็บไซต์ประชาไทร่วมกับโครงการสะพาน จัดสัมมนา "15 ปี องค์กรอิสระ สำรวจธรรมาภิบาล สำรวจประชาธิปไตย" โดยมีผู้เข้าร่วมอภิปรายมากมาย

"ภัทระ คำพิทักษ์" บรรณาธิการข่าว หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ผู้เคยมีบทบาทสำคัญในการขุดคุ้ยกรณีทุจริตยาเมื่อปี 2541 กล่าวว่า การขุดคุ้ยกรณีทุจริตยาดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันระหว่างสื่อมวลชนกับ ป.ป.ช.จนนำไปสู่การนำนักการเมืองที่เกี่ยวข้องมาลงโทษได้ และว่า วัฒนธรรมประชาธิปไตยในสังคมไทยหลายอย่างยังไม่เกิดขึ้น เช่น ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล เมื่อไม่เกิดสิ่งเหล่านี้องค์กรอิสระทั้งหลายจึงมีความจำเป็นต้องมีอยู่ แม้ตัวองค์กรอิสระ หลายแห่งจะมีปัญหาเป็นที่ถกเถียงในสังคม แต่หากดูโดยภาพรวมจะเห็นว่าช่วงนี้ยังคงเป็นช่วงของการเรียนรู้ เป็นช่วงที่มีโจทย์เพิ่มขึ้นหลายอย่าง มีวิกฤติให้เราได้ทดลองหลาย อย่าง ต้องใจเย็นในช่วงการลองผิดลองถูกขององค์กรอิสระทั้งหลาย

"สุนี ไชยรส" รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า หัวใจสำคัญของสื่อในการตรวจสอบ คือ ข้อมูลต่างๆ ต้องเปิดเผยได้ต่อสาธารณะ กลไกขององค์กร อิสระ ตามรัฐธรรมนูญ 2540 จึงเกิดขึ้นบนแนวคิดว่า รัฐบาลต้องถูกตรวจสอบได้ตลอด เวลา การร่วมมือกันระหว่างองค์กรอิสระและสื่อมวลชนจะทำให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในสังคมเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลได้มาก โดยหลักการเราจึงต้องเน้นให้มี เสรีภาพสื่ออย่างสูงสุดในสังคมประชาธิปไตย ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้ที่มาและองค์ประกอบขององค์กรอิสระเพี้ยนจากเจตนารมณ์เดิม ด้วยการออกแบบให้ไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่ส่วนใหญ่ยึดโยงกับศาลซึ่งมีบทบาทในการเลือกสรรองค์กรอิสระ

"สุนี" ยังหยิบยกประเด็นที่ฝากให้ประชาชนจับตา คือ กรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขร่างกฎหมายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยเพิ่มประโยคสำคัญที่แย่มากว่า ห้ามกรรมการสิทธิฯ เปิดเผยข้อมูลที่ได้มาจากการตรวจสอบ เท่ากับเป็นการล็อกมือล็อกเท้าไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม กรณีที่จะเปิดข้อมูลได้เฉพาะการให้การต่อศาล กับการจัดทำรายงานของกรรมการเท่านั้น

"ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี" นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างสื่อและองค์กรอิสระคือ แม้องค์กร อิสระจะเป็นช่องทางข้อมูลที่สำคัญ แต่ยังมีปัญหาการประสานข้อมูล หรือการที่องค์กร อิสระมีเรื่องต้องเก็บรักษาความลับ ปัจจุบันสถาบันอิศราพยายามสร้างความร่วมมือกับ ป.ป.ช.ในการอบรมให้ความรู้ผู้สื่อข่าวถึงบทบาทหน้าที่และช่องทางการเข้าถึงข้อมูล แต่ก็ยังไม่มีการสร้างกระบวนการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม และเร็วๆ นี้ สถาบัน อิศรากำลังจะสร้างความร่วมมือกับคณะกรรมการสิทธิฯ เป็นลำดับต่อไป

"สุภิญญา กลางณรงค์" กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงสถานะความเป็นองค์กรอิสระของ กสทช. ว่ามีความอิสระกว่าหลายองค์กร แต่ศักดิ์ศรีในทางราชการไม่เท่าองค์กรอิสระอื่นๆ เพราะไม่ได้เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยมีลักษณะคล้ายๆ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีรายได้เป็นของตัวเองโดยไม่ต้องขอจากรัฐสภา ข้อดีของการมีรายได้เองคือ อิสระจริง ไม่ง้อทุนจากภาครัฐ แต่ข้อด้อยคือทำให้องค์กรใช้เงินมือเติบและไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ปัจจุบัน กสทช.กลายเป็นองค์กรที่ใช้งบโฆษณามาก ควรให้มีการตรวจสอบ รายปีโดยรัฐสภา นอกจากนี้ ถ้ามีการปรับแก้ พ.ร.บ.กสทช. ต้องระบุในกฎหมายให้ละเอียด ให้หลายอย่างต้องเปิดเผยต่อสาธารณะมากกว่านี้ เช่น การเดินทางไปต่างประเทศของ กรรมการ กสทช. หรือข้อมูลรายงานการประชุมไปจนถึงคำอธิบายต่อการตัดสินใจลงมติต่างๆ ของ กสทช.ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความโปร่งใส


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ