"สุรพงษ์ ปิยะโชติ" ลงพื้นที่ตรวจระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ พื้นที่จังหวัดเพชรบุรี เดินหน้ายกระดับพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ-รถไฟทางคู่ เชื่อมโยงการท่องเที่ยว
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่ตรวจติดตามระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์พื้นที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดเพชรบุรี
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่สำนักงานขนส่งจังหวัดเพชรบุรีเพื่อติดตามการให้บริการประชาชน ซึ่งได้ให้มีการใช้เทคโนโลยีในการอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น การกำกับดูแลระบบการขนส่งทางถนน การดำเนินการเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน การให้บริการรถขนส่งสารสาธารณะทุกประเภทต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ยกระดับการออกใบอนุญาต และตรวจสอบติดตามด้านการบริการ ความปลอดภัยที่มีความเคร่งครัด และเน้นย้ำให้มีการเชื่อมโยงการเดินทางที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟเพชรบุรี สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัด นอกจากนี้ยังได้ติดตามการปรับปรุงพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อทางรถไฟในอนาคต จากการปรับปรุงเส้นทาง เพื่อรองรับการท่องเที่ยวอำเภอชะอำ
จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ติดตามการให้บริการประชาชนทางโครงข่ายรถไฟ พร้อมทั้งติดตามภาพรวมความคืบหน้าโครงการรถทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง 5 สัญญา ดังนี้ ช่วงที่ 1 นครปฐม - หัวหิน ระยะทาง 169 กิโลเมตร 27 สถานี ประกอบด้วย 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม - หนองปลาไหล คืบหน้ากว่าร้อยละ 98 โดยงานระบบรางส่วนแรกแล้วเสร็จ เปิดเดินรถจาก สถานีบ้านคูบัว ถึง สถานีหนองปลาไหล ระยะทาง 36 กม. ส่วนที่เหลือจาก สถานีนครปฐม ถึง สถานีบ้านคูบัว (ระยะที่ 2) มีแผนการแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงสถานีโพรงมะเดื่อ ถึง สถานีบ้านคูบัว คาดว่าจะเปิดเดินรถในเดือนมิถุนายน 2567
และช่วงสถานีนครปฐม ถึง สถานีโพรงมะเดื่อ คาดว่าจะเปิดเดินรถในเดือนสิงหาคม 2567 ด้านสัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล - หัวหิน คืบหน้ากว่าร้อยละ 99 โดยงานระบบรางดำเนินการแล้วเสร็จ จากสถานีหนองปลาไหล ถึง สถานีหนองแก (สถานีหัวหิน) ระยะทาง 76 กม. และเปิดเดินรถแล้ว ส่วนอาคารสถานีทั้งหมด 10 สถานี ดำเนินการส่งมอบงานแล้ว 5 สถานี คงเหลือ 5 สถานี คือ สถานีเพชรบุรี สถานีชะอำ สถานีหนองจอก สถานีหนองไม้เหลือง และสถานีหัวหิน คาดว่าจะส่งมอบแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2567 ส่วนอาคารสถานียกระดับหัวหิน เปิดให้บริการบางส่วนแล้ว เพื่อรองรับการเปิดเดินรถทางคู่ เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
ช่วงที่ 2 หัวหิน - ประจวบคีรีขันธ์ สัญญาที่ 3 ระยะทาง 84 กิโลเมตร ปัจจุบันก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จเปิดเดินรถทางคู่แล้ว ช่วงที่ 3 ประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร ประกอบด้วย สัญญาที่ 4 ช่วงประจวบคีรีขันธ์ - บางสะพานน้อย งานโยธาแล้วเสร็จเปิดเดินรถทางคู่แล้ว และสัญญาที่ 5 ช่วงบางสะพานน้อย - ชุมพร ระยะทาง 80 กิโลเมตร คืบกว่าร้อยละ 99 โดยช่วงสถานีบางสะพานน้อย - สถานีสะพลี ก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จเปิดเดินรถทางคู่แล้ว และช่วงที่เหลือจะเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน 2567
"ตนได้มีข้อสั่งการให้เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ให้สามารถเปิดเดินรถทั้งเส้นทางภายในเดือนสิงหาคม 2567 นี้ ซึ่งจะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งในระบบรางด้วยระบบรถไฟทางคู่ที่สะดวก ตรงต่อเวลา สามารถพัฒนาการท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของพื้นที่และประเทศ"