ทางออกวิกฤติพลังงาน

วันจันทร์ที่ 08 เมษายน พ.ศ. 2556

ทางออกวิกฤติพลังงาน


อนุสนธิจากการเสวนาโต๊ะกลมของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ ชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย เรื่อง "หายนะพลังงานไทย?" เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิด "ไอเดียกระฉูด" ต่อการแสวงหาพลังงานใหม่ๆ ขึ้นมาทันที

ถ้ารัฐบาลคิดจะเป็น "เจ้าภาพหลัก" เสียตั้งแต่วันนี้

อันเนื่องมาจากปัจจุบันพลังงานไทย กำลังพึ่งพาน้ำมันและก๊าซมานานปีดีดัก จนเราใช้นิยามว่า "โชติช่วงชัชวาล พลังงานบริสุทธิ์จากอ่าวไทย" ที่ผมยังจำเสียงก้องกังวานและมีพลังของอาจารย์พิชัย วาสนาส่ง ได้จนเดี๋ยวนี้

แต่ความโชติช่วงเหล่านั้น มันก็ผ่านพ้นระยะเวลาที่ยาวนาน 20-30 ปีมาแล้ว อย่างคุ้มค่า ทำให้ประเทศไทยเจริญเติบโตมาอย่างเต็มกำลัง

ศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ นักวิจัยอาวุโสด้านพลังงานที่เป็นผู้ร่วมเสวนาด้วย ได้เปิดเผยความหลังก่อนเราจะขุดก๊าซขึ้นมาใช้ด้วยว่า ความจริงแล้วรัฐบาลไทยในห้วงปี 2513 ได้อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 600 เมกะวัตต์เรียบร้อยแล้ว ที่อ่าวไผ่ อำเภอศรีราชา

ซึ่งถ้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์วันนั้น ก็อาจเสร็จในปี 2520 และผลิตไฟฟ้าใช้กลางย่านอุตสาหกรรม "อีสเทิร์น ซีบอร์ด" และแหล่งท่องเที่ยวที่พัทยา- บางแสนมาจนถึงปัจจุบัน ก็คงไม่มีปัญหาถูกคัดค้านกันแบบตระหนกตกใจ เพราะ "มายาภาพ" ที่ถูกสร้างให้เกิดความกลัวจนเกินเหตุจากกรณีสึนามิที่ญี่ปุ่น...เพราะทะเลฝั่งอ่าวไทยไม่มีรอยแยกของผิวโลกเป็นสัญญาณบอกเหตุว่าจะเกิดภัยธรรมชาติร้ายแรงเหมือนที่เมืองฟูกูจิมะ

และต้องไม่บิดเบือนข้อมูลของคนญี่ปุ่นตายที่ฟูกูจิมะมากกว่า 20,000 คน นั้น เขาไม่ได้ตายเพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ส่วนใหญ่ตายเพราะคลื่นยักษ์สึนามิต่างหาก

ถ้าเราทบทวนย้อนหลัง กรณีการตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งในอดีต บางทีมันก็พิสูจน์ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงกับการเสพข้อมูลที่คาดว่าอาจเกิดเหตุเภทภัยในอนาคตไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงก็ได้

พลังงานหลักของไทยยังต้องมีการเตรียมการอย่างระมัดระวังและรอบคอบ เพื่ออนาคตลูกหลานของคนไทยทุกคนต่อไป แม้จะมีบางฝ่ายคัดค้านบ้างด้วยเจตนา บริสุทธิ์และหวังดี แต่ต้องมีเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ค้านแบบหัวชนฝา ขนาด เอาเป็นเอาตาย หรือ "ค้านดะ" ไม่ยอมรับฟังข้อดีข้อเสียเพื่อชั่งน้ำหนักว่าสมควรยอมรับหรือไม่แค่ไหน

ศ.ดร.ปรีดา คาดว่าพลังงานไทยยัง "เอาอยู่" อีก 10 ปีหน้า และยังต่ออายุได้อีก 10-15 ปี หมายความว่า ภายใต้ความทุลักทุเลไร้เอกภาพทางความคิดของ คนหลายฝ่าย พลังงานจะสนองตอบประชาชนไทยไปอีก 20-25 ปี โดยถ้าไม่มีมาตรการแสวงหาพลังงานหลักตัวใหม่ทดแทนแล้ว....นั่นแหละ จะถึงซึ่งหายนะ

ทางออกในวันนี้ ท่ามกลางปัจจัยที่มีอยู่ ได้แก่ เทคโนโลยี "ถ่านหินสะอาด"

และถ้าเราไม่อยาก "หน้าแตก" เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาตรฐานสูงอย่างที่ประเทศมหาอำนาจเขาใช้อยู่โดยไร้ปัญหา ประเทศไทยก็อย่าได้กระดากอายเวียดนามที่เขาจะสร้างในอีก 4-5 ปีข้างหน้า

นี่เป็นเรื่องน่าคิดว่าทำไมเวียดนามคิดและตัดสินใจได้เร็วกว่าไทย จะบอกว่า เขาโง่ หรือเขาไม่คิดถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตประชาชนของเขาหรือ มันก็ไม่น่า จะใช่ ถ้าเรามาพิจารณาในมิติที่ว่า ทำไมเวียดนามจึงขายข้าวแซงหน้าไทยไปแล้ว และเขากำลังจะทิ้งห่างไทยไปทีละเรื่องสองเรื่องอย่างน่าเขกกบาลตัวเอง

พลังงานลม กลายเป็นเรื่องที่นักวิจัยมองว่าคุ้มค่า และจะยิ่งคุ้มค่ามากขึ้นไปอีก ถ้ารัฐบาลได้สัมผัสข้อมูลเชิงลึกและ "เข้าถึงงานวิจัย" ของพลังงานลมในทะเลลึก เนื่องจากเทคโนโลยีพลังงานลมทะเลจะผลิตไฟฟ้าได้ถึง 10,000 กิโลวัตต์ ได้ง่ายกว่า

ทำให้ผมนึกถึงแท่นขุดบ่อน้ำมันหรือบ่อก๊าซในทะเล ที่ผุดเป็นดอกเห็ดในอ่าวไทยกำลังดำเนินการอยู่เป็นปกติเวลานี้ จึงไม่น่าจะเกิดกลุ่มต่อต้านที่คิดจะ "ค้านดะ" เพราะขืนแปลงร่างเป็น "ลูกอีช่างค้าน" อย่างไม่มีวันสิ้นสุด สักวันผู้คน ก็จะ "รู้ทัน" ว่ามีเจตนาบริสุทธิ์ หรือเจตนาแอบแฝงกันแน่

ทางออกในการค้นหาพลังงานหลักทดแทน เพื่อแก้วิกฤติปัจจุบัน จึงยังมีโอกาส....อยู่ที่ว่ารัฐบาลตั้งใจจะพลิกวิกฤติวันนี้ให้เป็นโอกาสทองในอนาคตอันใกล้หรือไม่เท่านั้น?


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ