"คมนาคม - เกษตร" ควงแขนลงพื้นที่ท่าเรือเชียงแสน เร่งดันโครงการสัตว์ส่งออกสร้างรายได้เพิ่มปีละ 10 ล้าน

วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2567



นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ติดตามความคืบหน้าโครงการสัตว์ส่งออกมีชีวิตให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและตามมาตรฐานการควบคุมสัตว์และสิ่งแวดล้อม เพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ พัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานรัฐสภา คนที่ 2 นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า และคณะตรวจราชการร่วมลงพื้นที่ฯ ตรวจเยี่ยมท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน พร้อมติดตามความคืบหน้าการใช้พื้นที่ท่าเรือฯ เพื่อส่งออกสัตว์มีชีวิตและลำเลียงปศุสัตว์เพื่อการส่งออก โดยมีนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้นำส่วนท้องถิ่นให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 ณ ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน จังหวัดเชียงราย

ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ได้เริ่มดำเนินโครงการส่งออกสัตว์มีชีวิต โดยได้ขนส่งสุกรเป็นรอบปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2567 โดยโครงการฯ เป็นความร่วมมือระหว่าง กทท. และกรมเจ้าท่าร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรในพื้นที่อำเภอท่าเรือเชียงแสนและพื้นที่โดยรอบท่าเรือ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างรายได้ให้ ทชส. เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ทั้งนี้ กทท. ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จัดทำรายงานศึกษาวิจัยและคู่มือสัตว์ส่งออก-สัตว์มีชีวิต เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมลดความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดจนการขนส่งสัตว์มีชีวิตเป็นไปตามระเบียบข้อกำหนดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

รชค. มนพรฯ กล่าวว่า “รัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดที่จะสนับสนุนการส่งออกโค กระบือ สุกรไปยังประเทศจีน เวียดนาม และประเทศเพื่อนบ้านให้มากที่สุด เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์เหล่านี้เป็นอาชีพเสริมอยู่แล้ว โดยจะผลักดันเป็นอาชีพหลัก ซึ่งเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมาเราก็ทำสำเร็จ มีการส่งออกสุกรล็อตแรก จำนวน 175 ตัว ไปยังประเทศจีน โดยครั้งนี้ตนได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณด่านกักสัตว์ให้มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการควบคุมโรคและความปลอดภัยให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ เชื่อว่า ทชส. เป็นด่านขนส่งสัตว์ที่มีความสำคัญและมีความพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการส่งออกสัตว์ไปยังต่างประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพ รายได้ ตลอดจนพัฒนาการใช้พื้นที่ท่าเรือให้เกิดประโยชน์สูงสุด” 

“ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนพร้อมสนับสนุนการทำงานร่วมกับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ สำหรับการส่งออกสัตว์มีชีวิตเป็นสิ่งที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และรักษาระดับราคาในเรื่องของสัตว์มีชีวิต นอกจากนี้ได้ให้ความสำคัญในการแบ่งพื้นที่ดำเนินการให้เป็นสัดส่วนชัดเจน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับการขนส่งสินค้าทั่วไป และดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎระเบียบข้อกฎหมาย เช่น การแจ้งนัดหมายล่วงหน้า การกำหนดจุดขนย้ายและจุดกักกันสัตว์ การจัดการของเสียสิ่งปฏิกูล การควบคุมเชื้อโรคและโรคระบาด การใช้เส้นทางและระยะเวลาในการขนส่งสัตว์ ตลอดจนการสร้างความเข้าใจกับชุมชน เชื่อว่าการนำร่องด้วยการผลักดันนโยบายภาครัฐและการประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะทำให้โครงการประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับของชุมชนนำมาซึ่งรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศ“ ผู้อำนวยการ กทท. กล่าว

“การส่งออกสัตว์มีชีวิตที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนมีความสะดวกสบายทั้งในส่วนของด้านเอกสารพิธีการศุลกากรที่ท่าเรือให้บริการแบบ One Stop Service การบริหารจัดการพื้นที่ มาตรการป้องกันด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น กลิ่นเสียงรบกวน และความสะอาด รวมทั้งอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น แรงดันน้ำในการทำความสะอาดสัตว์ ไฟส่องสว่าง ทางขึ้นลงของสัตว์ ฯลฯ ส่วนตัวคิดว่าการขนส่งสัตว์ที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ทั้งผู้ประกอบการที่ลดภาระค่าใช้จ่ายในการลงสัตว์ที่ลดลงเกือบ 50% ส่วนท่าเรือก็ได้รายได้เพิ่มขึ้นจากการให้บริการด้วย” นายเศกสันติ์ กองศรี ประธานชมรมผู้ส่งออกสัตว์มีชีวิต จังหวัดเชียงราย กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนเป็นประตูการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน เพื่อส่งเสริมการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ ตามข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ระหว่าง 4 ประเทศ ได้แก่ สป.จีน สปป.ลาว สหภาพเมียนมา และไทย มีท่าเรือขนส่งสินค้า 3 ท่าและท่าเรือขนส่งกลุ่มธุรกิจประเภทน้ำมัน 1 ท่า ปัจจุบันการขนส่งสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าส่งออกประเภทสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตร สัตว์ปีกแช่แข็ง นอกจากนี้ได้มีการขนส่งสินค้าประเภทรถยนต์ทั้งมือหนึ่งและมือสอง เช่น รถกระบะ รถ SUV รถบรรทุกขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ฯลฯ ไปยังสหภาพเมียนมาและ สปป.ลาว เป็นจำนวนมากเนื่องจากทั้งสองประเทศนี้มีความต้องการใช้รถในการขับขี่และจำหน่ายภายในประเทศ



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ