“รมว.ยธ.” นำร่องเรือนจำพิเศษมีนบุรี แยกคุมผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี-เด็ดขาด Kick off ทั่วประเทศ

วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

“รมว.ยธ.” นำร่องเรือนจำพิเศษมีนบุรี แยกคุมผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี-เด็ดขาด Kick off ทั่วประเทศ


กระทรวงยุติธรรม-กรมราชทัณฑ์ เดินหน้าจัดตั้งเรือนจำศูนย์ระหว่างการพิจารณาคดี แยกคุมผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีและผู้ต้องขังเด็ดขาด ออกจากกันเป็นสัดส่วน เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เป็นประธานในพิธีเปิด เรือนจำศูนย์ระหว่างการพิจารณาคดี โดยมี นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วย นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นพ.สมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ คณะผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำ/ผู้อำนวยการทัณฑสถาน นายนนทรัตน์ หอมศรีประเสริฐ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางยะลา รักษาราชการแทนผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษมีนบุรี ผู้แทนจากสำนักอนุญาโตตุลาการ ศาลยุติธรรม, สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย - องค์การมหาชน (TIJ) และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมให้การต้อนรับ ณ เรือนจำพิเศษมีนบุรี 

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ มีนโยบายในการแก้ไขปัญหานักโทษล้นคุกอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งนอกจากจะต้องคำนึงถึงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกประเภทให้เป็นไปอย่างเหมาะสมแล้ว ยังต้องควบคุมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ซึ่งถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาจากศาลว่ากระทำความผิด โดยพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) ได้มอบนโยบายแก่กรมราชทัณฑ์ให้ดำเนินการเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อยกระดับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล โดยมีเรือนจำพิเศษมีนบุรี เป็นเรือนจำต้นแบบ ใช้ชื่อเรียกว่า เรือนจำศูนย์ระหว่างการพิจารณาคดี และได้กำหนดให้มีการเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป (Kick off) พร้อมกันทั่วประเทศ โดยกรมราชทัณฑ์ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งเรือนจำศูนย์ระหว่างการพิจารณาคดี ในเขตจังหวัดต่าง ๆ แบ่งเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มจังหวัดลำปาง กลุ่มจังหวัดพิษณุโลก กลุ่มจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลุ่มจังหวัดขอนแก่น กลุ่มจังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มจังหวัดสงขลา กลุ่มจังหวัดปทุมธานี และกลุ่มกรุงเทพมหานคร

นายสหการณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับเรือนจำอื่น ๆ นอกเหนือจาก เรือนจำศูนย์ระหว่างการพิจารณาคดี ให้ดำเนินการแยกการควบคุมผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีกับผู้ต้องขังเด็ดขาด ตามลักษณะทางกายภาพของเรือนจำตามความเหมาะสม เนื่องจากในบางเรือนจำมีพื้นที่เป็นลักษณะแดนเดียวกันทั้งหมด จึงต้องมีการแบ่งแยกโดยใช้ Block Zone หรือ อย่างน้อยต้องแยกห้องนอนผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีกับนักโทษเด็ดขาดออกจากกันให้เป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน

“โดยกรมราชทัณฑ์ ยังคงปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ให้เป็นไปตามมาตรฐาน การปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง (SOPs) ที่ได้มีกำหนดไว้ในเรื่องของการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีซึ่งเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ โดยประกอบด้วยเรื่องการแต่งกาย รองเท้า เครื่องนอน อาหาร การจัดให้มีจุดบริการ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ห้องสมุด ห้องพยาบาล การบริการเยี่ยมญาติ และการพบทนายความ รวมถึงกิจกรรมที่ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีจะได้รับ ซึ่งเน้นกิจกรรมนันทนาการเป็นสำคัญ เช่น ศิลปะและวัฒนธรรม กีฬา ดนตรี เป็นต้น โดยถือปฏิบัติอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อยกระดับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล” นายสหการณ์ กล่าว



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ