“มนพร” ประชุมแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ กลั่นงบประมาณปี 68

วันพุธที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2567

“มนพร” ประชุมแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ กลั่นงบประมาณปี 68


“มนพร” ประชุมแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลั่นกรองงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 คณะที่ 2.3 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ เมื่อวันพุธที่ 31 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 3 ทำเนียบรัฐบาล และผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings โดยมี        นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ผู้แทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นกรรมการและเลขานุการร่วมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาคำของบประมาณเพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

ซึ่งตามปฏิทินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไว้ กำหนดให้หน่วยขอรับงบประมาณจัดส่งคำขอให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 โดยการจัดทำข้อเสนอการจัดทำงบประมาณดังกล่าว เป็นการบูรณาการร่วมกันของ 7 กระทรวง 25 หน่วยงาน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบคำของบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์) วงเงินรวมทั้งสิ้น 204,716.5671 ล้านบาท (สองแสนสี่พันเจ็ดร้อยสิบหกล้านห้าแสนหกหมื่นเจ็ดพันหนึ่งร้อยบาท) แบ่งเป็น

เป้าหมายที่ 1 โครงข่ายคมนาคมมีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงทั่วถึงอย่างไร้รอยต่อ จำนวน 12 หน่วยงาน (กรมทางหลวง/ กรมทางหลวงชนบท/ กรมเจ้าท่า/ กรมท่าอากาศยาน/ กรมการขนส่งทางบก/ กรมการขนส่งทางราง/ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร/ การรถไฟแห่งประเทศไทย/ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย /สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย/ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่/ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) วงเงิน 203,912.4440 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.61 โดยมีโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M6 บางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา/ M81 บางใหญ่ -กาญจนบุรี/ โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 21 สาย อ.หล่มเก่า - เลย ตอน ต.ร่องจิก - ต.สานตม     จ.เลย/ โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1020 สาย เชียงราย - อ.เชียงของ ตอน บ.หัวดอย - บ.ใหม่ดอยลาน จ.เชียงราย/ โครงการทางแยกต่างระดับสันป่าตอง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่/ โครงการถนนสาย ง3 ผังเมืองรวมเมืองหนองคาย จ.หนองคาย/ โครงการขุดลอกร่องน้ำสำคัญ 10 แห่ง/ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย/ โครงการศูนย์ขนส่งชายแดน จ.นครพนม/ โครงการปรับปรุงท่าอากาศยานชุมพร กระบี่ และสุราษฎร์ธานี/ โครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จ.ภูเก็ต/ โครงการทางหลวงพิเศษสายฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ - ลำลูกกา/ โครงการออกแบบรายละเอียดงานโยธาโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค/ โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร - นครพนม และสายเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ เป็นต้น

เป้าหมายที่ 2 การบริหารจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน และการอำนวยความสะดวก      ทางการค้า พร้อมด้วยการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐานสากล จำนวน 17 หน่วยงาน (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ/กรมวิชาการเกษตร/ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม/ กรมเจ้าท่า/ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน/ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ/ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน)/สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ/ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย/ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี/ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่/ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา/ มหาวิทยาลัยพะเยา/ มหาวิทยาลัยขอนแก่น/ มหาวิทยาลัยนครพนม/ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์/ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี วงเงิน 804.1231 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.39 โดยมีโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการพัฒนาระบบการตรวจสอบ รับรองมาตรฐาน และระบบการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมวิชาการเกษตร ผ่านระบบ NSW/ โครงการเสริมสร้างความสามารถการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้วยการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน/ โครงการส่งเสริมการพัฒนาบริการและขยายเครือข่ายของผู้ให้บริการโลจิสติกส์/ การศึกษาเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของประเทศไทย/ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพด้านระบบรางของประเทศ (National Quality Infrastructure, NQI)/ โครงการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต/ โครงการพัฒนามาตรฐานการวัดพลังงานไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ และคุณภาพไฟฟ้าระดับมาตรฐานอ้างอิงแห่งชาติเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของประเทศไทย/ โครงการพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์/ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจค้นสินค้าทางเรือเพื่อการยกระดับมาตรฐานงานตำรวจในระบบโลจิสติกส์

นางมนพร กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ปี พ.ศ. 2568 นี้ ถือได้ว่า มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะเป็นเครื่องมือสำคัญ
ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหา Missing Link และลดปัญหาคอขวด รวมถึงช่วยให้การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์บรรลุเป้าหมายเป็นไปตามตัวชี้วัดที่ช่วยให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศลดลง และเพิ่มอันดับดัชนีประสิทธิภาพโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (Logistics Performance Index : LPI) ของไทยให้สูงขึ้น โดยอยู่ภายใน 25 อันดับแรก ในปี 2570 โดยมีโครงการสำคัญที่มีวงเงินมากกว่า 1,000 ล้านบาท เช่น โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ถนนสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง - บางปะอิน ส่วนที่ 1 บางบัวทอง -    ลาดหลุมแก้ว ในส่วนงานโยธา/ โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 338 (ถนนบรมราชชนนี) ช่วงพุทธมณฑล สาย 3 - พุทธมณฑล 4 จ.กรุงเทพมหานคร/ โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 331 สายเกาะโพธิ์ - บ.เนินเหิน จ.ชลบุรี/ โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ สาย บ.ใหม่ – สามแยกเข้าสนามบิน จ.ภูเก็ต/ โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 304 สาย ฉะเชิงเทรา - เขาหินซ้อน ตอน บ.ท่าทองหลาง/ และโครงการเชื่อมต่อถนนนครอินทร์ - ศาลายา จ.นนทบุรี จ.นครปฐม ดังนั้น จึงต้องบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การนำงบประมาณไปพัฒนางานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศและตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติฯ และนโยบายของรัฐบาลได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำสรุปข้อเสนอการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์นำเสนอนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนจัดส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ตามขั้นตอนต่อไป



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ