ซีพี ออลล์ จัด “Creative AI Club Hackathon ปีที่ 2” ประชันไอเดียพลิกปัญหาเล็กสู่โอกาสใหญ่ ทีมแชมป์ Gen Z โชว์ผลงาน แอปตรวจจับมิจฉาชีพปลอมเสียงจาก AI แก้ปมแก๊งคอลเซ็นเตอร์

วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2567

ซีพี ออลล์ จัด “Creative AI Club Hackathon ปีที่ 2” ประชันไอเดียพลิกปัญหาเล็กสู่โอกาสใหญ่ ทีมแชมป์ Gen Z โชว์ผลงาน แอปตรวจจับมิจฉาชีพปลอมเสียงจาก AI แก้ปมแก๊งคอลเซ็นเตอร์


ซีพี ออลล์ จัดงาน “Creative AI Club Hackathon 2023” เปิดเวทีประชันไอเดียด้าน AI ระดับ ม.ปลาย-ปี 2 ต่อเนื่องปีที่ 2 ภายใต้แนวคิด “Spark the Pebbles” ดึงเยาวชนระเบิดแนวคิดเปลี่ยนปัญหาเล็กสู่โอกาสทางธุรกิจขนาดใหญ่ภายใน 3 วัน 2 คืน พบหลากหลายทีมทักษะเทพ-ไอเดียสร้างสรรค์ ดึง ChatGPT และ Data Set จากหลากหลายแหล่งสู่ผลงานสุดว้าว ด้านทีม “กำหมัดจับ AI” ดึงปัญหา “แก๊ง Call Center” ที่มีสะสมกว่า 3 แสนคดี พัฒนาแอปตรวจจับมิจฉาชีพปลอมเสียงจาก AI คว้ารางวัลชนะเลิศ

นายป๋วย ศศิพงศ์ไพโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า บริษัทได้จัดกิจกรรมจิตอาสาที่ส่งเสริมให้เยาวชน “กล้าคิด กล้าลงมือทำ” สนับสนุนเยาวชนให้เติบโตขึ้น และร่วมส่งต่อความรู้ให้กับน้องๆ เยาวชนรุ่นต่อๆ ไปอย่างไม่สิ้นสุด โดยการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้มาแสดงศักยภาพ ทั้งในมุมของ การเป็นทีมผู้จัดงาน (Core Leader) และเป็นผู้เข้าแข่งขัน (Hacker) เพื่อระเบิดไอเดีย และสร้างผลงานในระยะเวลา 24 ชั่วโมงภายใต้ธีม “Spark the Pebbles” ของเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อุดมศึกษาปีที่ 1 – 2 ปวช. และ ปวส. จากจังหวัดต่างๆ   และในส่วนของการเข้าร่วมเป็นทีมผู้จัด เราเปิดโอกาสให้น้องได้แสดงความเป็นผู้นำ ได้คิด ได้ลองทำจริง ได้เผชิญกับความท้าทายในรูปแบบที่น้องไม่น่าจะหาได้ง่ายนักในช่วงวัยนี้ ซึ่งในครั้งนี้เรามีน้องๆ ทีมเยาวชนจากโครงการค่าย CAI CAMP รุ่นที่ 6 ก้าวขึ้นมาเป็น Core Leader ในการจัดงาน “Creative AI Club Hackathon 2023” เมื่อช่วงก่อนปีใหม่ที่ผ่านมา

ตัวงานปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Spark the Pebbles” ชวนเหล่า Gen Z มาร่วมพลิกปัญหาขนาดเล็กสู่โอกาสทางธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมา มีบริษัทเทคโนโลยี (Tech Company) หลายราย ที่นำปัญหาเล็กๆ ที่มีอยู่ทั่วไปแบบก้อนหิน ก้อนกรวด มาพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น Grab ที่เปลี่ยนปัญหาการรอแท็กซี่มาเป็นโอกาสทางธุรกิจ หรือ QueQ ที่เปลี่ยนปัญหาการรอคิวหน้าร้านสู่แอปจองคิว จึงคาดหวังว่าหัวข้อดังกล่าว จะเป็นการเปิดกว้างให้เยาวชนสร้างสรรค์ไอเดียจากปัญหาที่พบเห็นได้ทั่วไปสู่ผลงาน AI ที่น่าสนใจได้อย่างหลากหลาย

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว วิชาการใช้คอมพิวเตอร์ เป็นเพียงวิชาเลือก ไม่ใช่วิชาที่ทุกคนต้องเรียน แต่พอก้าวมาถึงจุดหนึ่ง วิชาคอมพิวเตอร์ก็กลายเป็นวิชาบังคับ ที่ทุกคนต้องรู้และเข้าใจ เรื่อง AI ก็เช่นกัน ในอนาคตอันใกล้ AI ก็จะก้าวจากวิชาเลือกมาเป็นวิชาบังคับ เป็นเรื่องพื้นฐานของทุกคนเหมือนวิชาคอมพิวเตอร์ วิชาคณิตศาสตร์ ซีพี ออลล์ จึงมุ่งมั่นจัดเวทีพัฒนาเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นพื้นที่ให้เยาวชนได้เรียนรู้ พัฒนาทักษะที่นำไปประยุกต์ใช้ได้จริง และเวที Creative AI Club Hackathon 2023 นี้ ก็เป็นอีกเวทีหนึ่งที่จัดขึ้นเพื่อให้น้องๆ ได้ระเบิดทักษะของตัวเอง โชว์ของทั้งหมดที่มีภายใต้เวลาอันจำกัด 3 วัน 2 คืน” นายป๋วย กล่าว

นายป๋วย กล่าวอีกว่า ผลงานในปีนี้ มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากเยาวชนในปีนี้รู้จักนำ Generative AI เช่น ChatGPT รวมถึงรู้จักค้นหาชุดข้อมูล (Data Set) ที่มีอยู่แล้วในหลากหลายแหล่ง มาเป็นจุดตั้งต้นและตัวช่วยในการพัฒนาผลงาน ทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างรวดเร็ว และมีหลายผลงานที่หยิบประเด็นระดับชาติมาแก้ปัญหาด้วย AI ได้อย่างน่าสนใจ

สำหรับรางวัลชนะเลิศ จาก Creative AI Club Hackathon ครั้งที่ 2 ได้แก่ ทีมกำหมัดจับ AI กับผลงาน “I Can See Your Voice” แอปตรวจจับการปลอมแปลงเสียงจาก AI เพื่อป้องกันการฉ้อโกง (สมาชิกในทีม : นางสาวบัซลาอ์ ศิริพัธนะ, นางสาวมาริส เมธามณีโขติ, นายคามิน โกวิทวณิช และ นายทัดชัย สุขสราญ) รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ ทีม “Hackperminute” กับผลงาน “MHOR TEXT” แอปเตือนการทานยาด้วย AI อ่านฉลากยา (สมาชิกในทีม : นางสาวกัญญณัช ชูประดิษฐ์, นางสาวฐิตาภา ฉายตระกูล, นางสาวณัฐธิดา ขำดำ และ นายนพัฐกรณ์ อมรมหพรรณ) รางวัลชมเชย ได้แก่ ทีม “CooI” กับผลงาน “LYSEN” แอปแยกลายเซ็นจริงกับลายเซ็นปลอมด้วย AI (สมาชิกในทีม : นายกษิดิศ เสริมศรี, นายชาตวีร์ สุริวงษ์, นายธันยธรณ์ อิทธิอนุวัตร์ และ นายศดิศ วงษ์ประยูร) และทีม “Fēngshui” (เฟิงฉุย) กับผลงาน “FĒNG SHUǏ” แอปแนะนำการจัดบ้านตามหลักฮวงจุ้ยด้วย AI (สมาชิกในทีม : นายฉัตรมงคล พุฒพันธุ์, นายณัฏฐกิตติ์ วงษ์วิบูลย์สิน, นายนรินธร ยางงาม และ นายสันติภาพ ทองจันทร์)

ด้าน น้องเคน-คามิน โกวิทวณิช นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ หนึ่งในสมาชิกทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ กล่าวว่า ปัญหาแก๊ง Call Center ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้คนในวงกว้าง โดยสถิติการโดนหลอกทางโทรศัพท์ของคนไทยในช่วง 1 ปีครึ่ง ระหว่าง 1 มี.ค.2565 – 30 ก.ย.2566 มีมากถึงราว 337,000 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 5,000 ล้านบาท ขณะที่วิธีการหลอกลวงของแก๊ง Call Center มีแนวโน้มพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เช่น มีการบันทึกเสียงของญาติไปหลอกญาติอีกคน ขณะเดียวกัน Gen AI เอง สามารถสร้างหรือลอกเลียนเสียงมนุษย์ได้แล้ว ทางทีมจึงได้สร้างสรรค์ไอเดียพัฒนาแอปและเว็บไซต์ที่ให้ AI ช่วยแยกไฟล์เสียงว่าเป็นเสียงมนุษย์จริงๆ หรือเสียงที่สร้างขึ้นด้วย AI เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยตรวจจับและป้องกันมิจฉาชีพ

แฮกกาธอนครั้งนี้ เปิดโลกของพวกเราสมาชิกทีมมาก เราพบว่าแม้มีเวลาเพียง 1 คืน แต่หากมีความตั้งใจจริง เชื่อในปัญหาที่เรามองเห็น เราก็สามารถเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ภายใต้ความกดดัน และก้าวไปข้างหน้าได้ ทีมได้ทดลองเครื่องมือที่ไม่เคยใช้มาก่อน พยายามหา Data Set เสียงภาษาไทยมาทดสอบการแยกเสียงคนกับ AI จนมีความแม่นยำถึง 94%” นายคามิน กล่าว



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ