วศ.อว. นำทีมประเทศไทยร่วมประชุมการจัดทำมาตรฐานระดับนานาชาติ ISO/TC 157 ถุงยางอนามัย ณ ประเทศสกอตแลนด์ พร้อมร่วมมือ TARRC สถาบันวิจัยด้านยางชั้นนำของประเทศอังกฤษ

วันพฤหัสบดีที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2566

วศ.อว. นำทีมประเทศไทยร่วมประชุมการจัดทำมาตรฐานระดับนานาชาติ ISO/TC 157 ถุงยางอนามัย ณ ประเทศสกอตแลนด์ พร้อมร่วมมือ TARRC สถาบันวิจัยด้านยางชั้นนำของประเทศอังกฤษ


กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.อรสา อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการกองเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อุปโภค (คอ.) ในฐานะหัวหน้าทีมประเทศไทย (Head of Delegates from Thailand) พร้อมด้วย ดร.อรวรรณ ปิ่นประยูร หัวหน้ากลุ่มงานยางและผลิตภัณฑ์ยาง วศ.ได้เข้าร่วมประชุมวิชาการด้านการจัดทำมาตรฐานระดับนานาชาติ ISO/TC 157 Non-Systemic Contraceptives and STI Barrier Prophylactics (ถุงยางอนามัย) โดยมีคณะกรรมการวิชาการจากประเทศที่เป็นผู้แทนผู้ผลิตและนักวิชาการจากหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, องค์การแฟมิลี่ เฮลท์ อินเตอร์เนชั่นแนล, บริษัท เอสเอสแอล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ฯลฯ โดยคณะกรรมการจากประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกถุงยางอนามัยอันดับหนึ่งของโลกที่ครองส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 50% ได้นำเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และร่วมอภิปรายในประเด็นทางวิชาการกับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ณ เมืองเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์

ด้าน ดร. อรวรรณฯ ในฐานะหัวหน้าโครงการ (Project Leader) ในการทบทวนปรับมาตรฐาน ISO 29941:2010 การวิเคราะห์หาปริมาณสารไนโตรซามีนในถุงยางอนามัยที่ผลิตจากน้ำยางธรรมชาติ ได้นำเสนอข้อมูลงานวิจัยศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อผลการวิเคราะห์สารไนโตรซามีน ในการประชุมกลุ่มย่อย WG 21 Chemical Residues ผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศได้ร่วมอภิปรายผลที่ได้จากงานวิจัยดังกล่าวจนได้แนวทางการศึกษาที่เหมาะสมและข้อสรุปของแผนการดำเนินงานเกี่ยวกับการทบทวนมาตรฐานฉบับนี้ร่วมกัน

นอกจากนี้ ผู้แทน วศ. ได้เจรจาความร่วมมือกับ สถาบัน Tun Abdul Razak Research Centre (TARRC) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านยางชั้นนำของประเทศอังกฤษ ถึงขอบเขตความร่วมมือด้านการวิจัยเพื่อศึกษาวิธีการวิเคราะห์หาปริมาณไนโตรซามีนในผลิตภัณฑ์ถุงยางอนามัย กิจกรรม Interlaboratory Testing Program (ITP) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนปรับมาตรฐาน ISO 29941:2010 Condoms — Determination of nitrosamines migrating from natural rubber latex condoms ซึ่งเป็นวิธีวิเคราะห์หาปริมาณสารไนโตรซามีนในถุงยางอนามัยที่ผลิตจากน้ำยางธรรมชาติ ซึ่งทางสถาบัน TARRC ให้การต้อนรับพร้อมนำชมห้องปฎิบัติการวิเคราะห์ฯ ดังกล่าวด้วย



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ