สารวัตรข้าว โชว์สมรรถนะ ตรวจสอบสถานประกอบธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว รวดเร็ว แม่นยำ มีประสิทธิภาพ สอดคล้องตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

วันพุธที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2566

สารวัตรข้าว โชว์สมรรถนะ ตรวจสอบสถานประกอบธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว รวดเร็ว แม่นยำ มีประสิทธิภาพ สอดคล้องตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม


นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว มอบหมายให้ นายชิษณุชา บุดดาบุญ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ นำคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมการตรวจติดตามสถานประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 และ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2550)  และ การตรวจประเมินตามมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (มกษ.4406) ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลก 

นายชิษณุชา บุดดาบุญ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กรมการข้าว เปิดเผยว่า การนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ในครั้งนี้ กรมการข้าวต้องการเผยแพร่องค์ความรู้ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (มกษ.4406) ระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ควบคุมข้าวเปลือก ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e -Rice Regulator System : e – RRS) และระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (มกษ.4406) ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e – GAP Seed : e – GS) ให้เห็นถึงความร่วมมือของผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว กับกรมการข้าว ในการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังป้องกันเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้มาตรฐานออกไปสู่ตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าว และเพื่อประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงการปฏิบัติภารกิจของสารวัตรข้าว ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืชฯ ในพื้นที่ 

สารวัตรข้าว ประกอบด้วย ข้าราชการสังกัดกรมการข้าวตำแหน่งนักวิชาการเกษตร นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร นักกีฏวิทยา นักวิชาการโรคพืช และนิติกร ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการขึ้นไป และ เจ้าพนักงานการเกษตร ตั้งแต่ระดับปฏิบัติงานขึ้นไป  ซึ่งดำเนินการด้วยความรวดเร็ว แม่นยำ ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ สอดคล้องตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้เห็นถึงสมรรถนะในการปฏิบัติงาน ทั้งด้านการตรวจติดตาม ควบคุม กำกับ ดูแลและตรวจสอบสถานประกอบธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว  และ หากพบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยพันธุ์พืชเกิดขึ้น  ก็จะดำเนินการเก็บพยานหลักฐานตามหลักการสืบสวนสอบสวนของกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา รวมถึงกำกัยดูแลการขอการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (มกษ. 4406) หรือ GAP Seed ผ่านระบบ e-GS แบบ End-to-End Process ตั้งแต่การยื่นคำขอจนได้รับการรับรอง ไปจนถึงการได้รับการรับรอง เพื่อส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ควบคุมข้าวเปลือกคุณภาพ ให้เกิดระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ของข้าวคุณภาพตามมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของภาคการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวทั้งระบบของประเทศต่อไป

ทั้งนี้ ในกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแต่ละชั้นเมล็ดพันธุ์ของกรมการข้าวนั้น มาตรฐานที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพในแต่ละชั้นเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดี มีความตรงตามพันธุ์ และปริมาณการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ในชั้นเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่ายของกรมการข้าว ผู้ประกอบการผลิตเมล็ดพันธุ์ สหกรณ์การเกษตร และศูนย์ข้าวชุมชน จะต้องมีแนวทางปฏิบัติให้เป็นตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรฐานสินค้าเกษตร และระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (มกษ.4406) หรือ GAP Seed ซึ่งในแต่ละปีจะมีเมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณ 721,660 ตัน คิดเป็น 56% จากปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกประมาณปีละ 1,276,272 ตัน ขณะเดียวกันก็จะมีเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรเก็บไว้จากฤดูกาลผลิตที่แล้วมาใช้ปลูกประมาณปีละ 554,612 ตัน คิดเป็น 44%

“เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (มกษ.4406) นั้น มีไว้เพื่อคุ้มครองและส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้เมล็ดพันธุ์ดี โดยกรมการข้าวทำหน้าที่ควบคุม กำกับดูแล ผู้ประกอบการค้าเมล็ดพันธุ์ และวางแนวทางการปฏิบัติให้กับเกษตรกร ที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี เหมาะสำหรับนำไปปลูกและผลิตเป็นข้าวเพื่อการบริโภค และนำไปแปรรูป โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสุขภาพความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้เมล็ดพันธุ์”นายชิษณุชา กล่าว

นายชิษณุชา กล่าวต่ออีกว่า ในปี 2566 กรมการข้าว มีเป้าหมายการพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวจากกลุ่มเกษตรกร ศูนย์ข้าวชุมชน สหกรณ์การเกษตร สมาคมผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และภาคเอกชนทั่วไป โดยจะพัฒนาสถานที่รวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมฯ จำนวน 20 แห่ง และ พัฒนาระบบควบคุมภายใน ขอบข่ายแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและขอบข่ายการปรับปรุงสภาพและบรรจุเพื่อจำหน่าย จำนวน 309 กลุ่ม เพื่อให้ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ปริมาณ 25,000 ตัน โดยมีแนวทางการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพด้วยการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรตระหนักและเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีในการเพาะปลูกมากขึ้น โดยภาครัฐจะให้การสนับสนุน ให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิต การปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว หรือ GAP Seed เพื่อพัฒนาการปลูกข้าวของเกษตรกรและการเก็บรักษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ไปจนถึงช่วงฤดูปลูกให้กับเกษตรกรที่เก็บพันธุ์ของตนเองไว้ใช้เพาะปลูก รวมไปถึงส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ตั้งแต่กระบวนการปลูก ไปจนถึงการเก็บรักษาเพื่อรอการจำหน่าย ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนการขอการรับรองตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว หรือ GAP Seed ให้กับเกษตรกรอีกด้วย

“การประชาสัมพันธ์พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม และการตรวจประเมินตามมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (มกษ.4406) สู่สาธารณะ จะช่วยให้เกษตรกรที่เก็บพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง มีความสนใจที่จะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีในการเพาะปลูก และ ปฏิบัติตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งจะช่วยให้ในตลาดเมล็ดพันธุ์ มีปริมาณผลผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือในระบบคุณภาพและมาตรฐานของเมล็ดพันธ์ข้าวของไทย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพดี ส่งผลให้เกิดการพัฒนาและยกระดับการผลิตข้าวคุณภาพดีของประเทศต่อไป ในขณะเดียวกันก็เป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวมีความใส่ใจ เข้าใจ และระมัดระวังในการประกอบธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว ดำเนินการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อีกทั้งยังสื่อให้เห็นอีกว่า หากเกษตรกรต้องการขอการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (มกษ. 4406) หรือ GAP Seed สามารถดำเนินการด้วยความสะดวกและง่าย โดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อ ณ สำนักงาน สามารถติดตามสถานะของการขอการรับรอง โดยสามารถเรียกดู e-Certification ที่ลงนามมโดยใช้ e-Signature ได้ทุกที่ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว การตรวจสถานประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยมีกลุ่มเครือข่ายระหว่างสารวัตรข้าวและผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว ช่วยประสานงานและเฝ้าระวังเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้มาตรฐานในตลาดเมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะช่วยให้มีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดได้น้อยลง”นายชิษณุชา กล่าวตอนท้าย



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ