MEB ผู้นำธุรกิจ E-BOOK ของไทย ครองแชมป์ทุกมิติ ระดมทุนเข้า mai ลุยขยายฐานลูกค้าในกลุ่มเอเชีย

วันพุธที่ 08 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

MEB ผู้นำธุรกิจ E-BOOK ของไทย ครองแชมป์ทุกมิติ ระดมทุนเข้า mai ลุยขยายฐานลูกค้าในกลุ่มเอเชีย


การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้เข้ามามีบทบาทและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตประจำวันของมนุษย์เป็นอย่างมาก และจากข้อมูลการวิเคราะห์จาก Hootsuite และ We are Social ในเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมาของประชากรทั่วโลกที่อยู่ในช่วงอายุ 16 ถึง 64 ปี มีการซื้อเนื้อหาสื่อบันเทิงออนไลน์ทุกเดือน พบว่าการซื้อวรรณกรรมออนไลน์ อยู่ที่อันดับ 8 ของรายการซื้อคอนเทนต์ดิจิทัลทั้งหมด หรือคิดเป็น 13.3% ของรายการที่มีความนิยมทั้งหมด  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมของการอ่านวรรณกรรมออนไลน์ และยังมีแนวโน้มการเติบโตได้ในอัตราที่สูงได้อีกในระยะยาว 

บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MEB ดำเนินธุรกิจจำหน่ายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ผ่านแพลตฟอร์ม meb และ readAwrite เป็นแพลตฟอร์มสำหรับอ่านวรรณกรรมออนไลน์ระดับแนวหน้าของประเทศไทย โดยมีวรรณกรรมเพื่อนักอ่านมากกว่า 1,000,000 เรื่องและมีสมาชิกมากกว่า 8,000,000 ราย  รวมทั้งยังเป็นบริษัทในเครือของบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยถือครองหุ้นผ่านบริษัทในเครือ

ปัจจุบัน MEB มีฐานะเป็นผู้นำบริษัทจำหน่ายหนังสือออนไลน์ในประเทศไทยที่สามารถครองอันดับ 1 ในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากรายได้รวมเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ในด้านความพึงพอใจของผู้ใช้งาน โดยแอปพลิเคชัน meb และ readAwrite มี Review Score ที่สูงที่สุดบน App Store และ Google Play Store ประเทศไทย ขณะที่ในส่วนของอัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ 3 ปีย้อนหลัง บริษัทฯ มีอัตราการเติบโตของรายได้สูงสุดในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน รวมทั้งในด้านของจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ จะพบว่า readAwrite เป็นเว็ปไซต์ E-Book สัญชาติไทยที่มีสถิติผู้เข้าชมเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย

เมื่อครองความเป็นหนึ่งในทุกด้านของประเทศไทยแล้ว การผลักดันการเติบโตในอนาคตต่อไป MEB จึงต้องการรุกขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดต่างประเทศ ดังนั้นเพื่อเพิ่มศักยภาพฐานทุนและการยกระดับองค์กรเพิ่มคุณภาพการบริหารจัดการให้ได้มาตรฐานระดับประเทศ บริษัทฯจึงเลือกเข้าระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในครั้งนี้

ภายใต้แกนนำของ “รวิวร มะหะสิทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MEB กล่าวว่า บริษัทฯได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 75,500,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท หรือคิดเป็น 25.17 % ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด โดยเสนอขายในราคาหุ้นละ 28.50 บาท ซึ่งจะได้รับเงินจากการระดมทุนในครั้งนี้ประมาณ 2,151.75 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายว่า "MEB" ในหมวด บริการ

ขณะที่วัตถุประสงค์ในการใช้เงินระดมทุนครั้งนี้ประกอบด้วย 1. เพื่อใช้สำหรับการขยายธุรกิจที่อยู่ในแพลตฟอร์มปัจจุบัน (meb readAwrite และ Hytexts) โดยการเพิ่มเนื้อหาวรรณกรรมออนไลน์ ประเภทนิยายและไม่ใช่นิยาย 2. เพื่อใช้สำหรับการขยายธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจปัจจุบันไปยังต่างประเทศ โดยเน้นการใช้ภาษาท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ ไปพร้อมกับซื้อลิขสิทธิ์วรรณกรรมภาษาไทย แปลเป็นภาษาอังกฤษ และ 3. เพื่อใช้ในการปรับปรุงพัฒนาแพลตฟอร์มปัจจุบันให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ และจากแผนการใช้เงินดังกล่าว บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานในอนาคตให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

“การรุกขยายไปตลาดต่างประเทศเป็นปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตได้เป็นอย่างดีในอนาคต ซึ่ง MEB มีความพร้อมทั้งในด้านฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง การมีพันธมิตรรายใหญ่อย่าง CRC ช่วยสนับสนุน ขณะที่การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทัพย์ mai จะเพิ่มศักยภาพทั้งในด้านภาพลักษณ์เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศสอดคล้องกับแผนการขยายธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อเปิดโอกาสสำคัญในการต่อยอดธุรกิจทั้งการสร้างแพลตฟอร์มใหม่หรือการควบรวมกิจการหรือการเข้าซื้อกิจการในอนาคต สำหรับประเทศที่เป็นเป้าหมายแรกที่จะรุกขยายไปจะเป็นโซนกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งได้มีการศึกษาไปเบื้องต้นแล้วพบว่า เป็นประเทศที่มีขนาดตลาดใกล้เคียงกับไทย และมีโอกาสการเติบโตได้อย่างแน่นอน”

ทั้งนี้ โครงการอนาคตในแบบแสดงรายการข้อมูลของMEB ยังได้ระบุถึงแผนที่จะขยายธุรกิจไปต่างประเทศ โดยคาดว่าจะมีรายจ่ายที่เกี่ยวข้องจำนวนประมาณ 230 ล้านบาท ในช่วงปี 2566-2567 โดยจะมีการสร้างแพลตฟอร์มวรรณกรรมออนไลน์ใหม่ในต่างประเทศในโดยใช้ภาษาท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ โดยเน้นประเทศในทวีปเอเชียเป็นหลัก เพื่อให้นักเขียนอิสระและสำนักพิมพ์มาจำหน่ายวรรณกรรมเป็นเล่มหรือเป็นตอนผ่านแพลตฟอร์มวรรณกรรมออนไลน์ ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับแพลตฟอร์ม readAwrite

นอกจากนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าว ยังสามารถเปิดโอกาสให้นักเขียนอิสระและสำนักพิมพ์ในไทยเผยแพร่ผลงานวรรณกรรมในต่างประเทศได้ โดยอาจต้องมีขั้นตอนการแปลวรรณกรรมจากภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศด้วย โดยบริษัทฯ คาดว่าจะพัฒนาระบบแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2566 และเริ่มเปิดดำเนินการได้ประมาณช่วงต้นปี 2567

รวมทั้งยังมีแผนในการสร้างแพลตฟอร์มการจำหน่ายวรรณกรรมออนไลน์ใหม่ในภาษาอังกฤษ ในรูปแบบแพลตฟอร์มที่บริษัทฯ จะให้นักเขียนอิสระสามารถจำหน่ายผลงานวรรณกรรมในภาษาอังกฤษเป็นตอนได้ ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับแพลตฟอร์ม readAwrite เพื่อส่งเสริมให้นักเขียนอิสระในต่างประเทศสร้างสรรค์ผลงานของตนผ่านแพลตฟอร์มของบริษัทฯ คาดว่าจะพัฒนาระบบแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2566 และเริ่มเปิดดำเนินการได้ประมาณช่วงต้นปี 2567

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในด้านฐานะการเงินของMEB ผลประกอบการของบริษัทฯ ในปี 2562 – 2564 และงวด 9 เดือนของปี 2565 มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ มีรายได้รวมเท่ากับ 618.72 ล้านบาท 1,004.68 ล้านบาท 1,456.38 ล้านบาท และ 1,263.54 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 82.09 ล้านบาท 164.74 ล้านบาท  275.34 ล้านบาท และ 241.85 ล้านบาท ตามลำดับ

สาเหตุที่รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากรายได้จากการจำหน่ายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) จากทั้งแพลตฟอร์ม meb และ readAwrite ที่มีจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน (Monthly Active User หรือ MAU) ของทั้ง 2 แพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น โดย MAU ของแพลตฟอร์ม meb ในปี 2562 เพิ่มขึ้นจาก 0.34 ล้านราย/เดือน เป็น 0.58 ล้านราย/เดือน ใน 9 เดือนปี 2565 และ MAU ของแพลตฟอร์ม readAwrite เพิ่มขึ้นจาก 1.78 ล้านราย/เดือน ในปี 2562 เป็น 5.71 ล้านราย/เดือน ในงวด9 เดือนปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมทางการตลาด และรายการส่งเสริมการขาย และผลจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่สนใจการอ่านวรรณกรรมออนไลน์มากยิ่งขึ้น

จากผลงานในอดีตสะท้อนให้เห็นว่า บริษัทฯมีศักยภาพการเติบโตได้อย่างโดดเด่นแม้จะต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจชะลอตัวที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 โดยจะเห็นว่าอัตราการเติบโตรายได้ย้อนหลัง 3 ปีเฉลี่ยอยู่ที่ 53.3% อัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 18-19% และอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่ 26-28% 

ขณะที่อัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนผู้ถือหุ้น ล่าสุด 9 เดือน ปี 65 อยู่ที่ 0.03 เท่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บริษัทฯไม่มีภาระหนี้สินที่จะเป็นความเสี่ยงในอนาคต และเมื่อการระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ได้สำเร็จ จะทำให้เพิ่มศักยภาพฐานทุนให้แข็งแกร่งมากขึ้น ทั้งจากแหล่งทุนที่มีความพร้อม มีพันธมิตรรายใหญ่ช่วยสนับสนุน และแนวโน้มอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต ตลอดจนการมีฐานะเป็นผู้นำธุรกิจ เดินหน้ารุกขยายตลาดในภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า MEB ยังมีโอกาสและช่องทางการเติบโตทางธุรกิจได้อีกมาก พร้อมทั้งสร้างรายได้และกำไรในเติบโตต่อเนื่อง สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างยั่งยืน



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ