10 ทุนยักษ์ขอไลเซ่นส์ตั้งธนาคารมือถือ virtual bank เขย่าบัลลังก์สถาบันการเงิน

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2566

10 ทุนยักษ์ขอไลเซ่นส์ตั้งธนาคารมือถือ virtual bank เขย่าบัลลังก์สถาบันการเงิน


พลันที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำหนดแนวทางการอนุญาตการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาและให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล หรือ Virtual bank ปรากฏว่ามีผู้สนใจยื่นขอไลเซ่นส์แล้วประมาณ 10 ราย จากหลายประเภทธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นแบงก์ชาติจะให้ไลเซ่นส์นำร่องก่อน โดยจะมีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตไม่เกิน 3 ราย

กระบวนการเริ่มจากการรับสมัคร เปิดให้ผู้ที่สนใจจัดตั้ง Virtual Bank สามารถหารือและยื่นคำขออนุญาตจัดตั้ง รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องมายังธปท.ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยหลักเกณฑ์การขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank มีผลบังคับใช้ จากนั้นจะคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำขอฯ และนำเสนอรายชื่อผู้เหมาะสมที่สุดต่อ รมว. คลัง พิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 3 เดือน ผู้ผ่านการคัดเลือกให้จัดตั้ง Virtual Bank จะต้องเริ่มเปิดดำเนินการภายใน 1 ปี คาดว่าน่าจะจัดตั้งได้เร็วสุดภายในปี 2567-2568 ทุนจดทะเบียนเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความคุ้นชินกับการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ โดยเฉพาะการสแกน QR Code ผ่านโมบายแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น Mobile Banking และ e-Wallet ขยายวงกว้างมากขึ้น ครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุที่อาจยังไม่เคยใช้งานมาก่อน จากเดิมที่อาจกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ข้อมูล ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2566 ปริมาณธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง Internet Banking, Mobile Banking, และ e-Money น่าจะมีสัดส่วนแตะร้อยละ 95 ของปริมาณธุรกรรมทั้งหมด โดยมีปริมาณธุรกรรม 36,510 – 37,970 ล้านรายการ หรือเติบโตราวร้อยละ 40.0 – 45.6 จากปี 2565

สำหรับกลุ่มผู้เล่นในธุรกิจบริการชำระเงินออนไลน์ในปัจจุบันอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มธนาคารที่เป็นผู้ให้บริการ Internet Banking หรือ Mobile Banking ซึ่งมีบทบาทในธุรกิจให้บริการชำระเงินออนไลน์ค่อนข้างมาก และ 2) ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ที่เป็นผู้ให้บริการ e-Wallet ทั้ง 2 กลุ่มต่างมีเป้าหมายแตกต่างกันออกไป โดยกลุ่มธนาคารมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนจากการให้บริการสาขาในระยะยาว ขณะที่กลุ่ม Non-Bank มักมีเป้าหมายเพื่อเติมเต็ม Ecosystem ในธุรกิจของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ผู้ให้บริการทั้ง 2 กลุ่ม มีเป้าหมายสูงสุดคือ การต่อยอดธุรกิจไปสู่การสร้างรายได้ ซึ่งเป็นระยะแห่งความท้าทายทางธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต พยายามขยายบริการให้ครอบคลุมนอกเหนือจากบริการที่มีอยู่ เพื่อสร้างความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน

อย่างไรกก็ตาม การต่อยอดไปสู่โมเดลธุรกิจใหม่เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ท่ามกลางโจทย์เฉพาะด้านในแต่ละธุรกิจและการแข่งขันที่เข้มข้นกับกลุ่มผู้เล่นเดิมในตลาด เช่น ในกรณีของผู้ให้บริการ e-Wallet ที่ต้องการต่อยอดมาสู่การให้บริการสินเชื่อ ก็ย่อมจะต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการแข่งขันกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีทั้งความน่าเชื่อถือ ข้อมูลด้านการเงิน และฐานลูกค้าที่มีศักยภาพเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน การให้บริการสินเชื่อเองก็มีโจทย์เฉพาะในการขยายฐานลูกค้าไปยังรายย่อยให้มากขึ้น รวมไปถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ๆ ด้วยเงื่อนไขที่ดีกว่าเดิม หรือในกรณีของกลุ่มธนาคารที่ต้องการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นเพิ่มเติม อาทิ Online Delivery และ e-Market Place ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันกับกลุ่มผู้เล่นเดิมในตลาดที่มีทั้งฐานลูกค้าและความเชี่ยวชาญในธุรกิจ ซึ่งอาจจะทำให้ต้องแบกรับต้นทุนการดำเนินงานที่สูงมากในระยะแรก ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนด้านการตลาดในการทำโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้า ค่าขนส่ง รวมถึงค่าจ้างผู้ให้บริการจัดส่งอาหารหรือไรเดอร์ เป็นต้น

จึงเป็นเรื่องน่าจับตาว่า การอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาและให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล หรือ Virtual bank ครั้งนี้จะพลิกบทบาทธุรกิจการเงินในอนาคตอย่างไรบ้าง



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ