“กรมคุก” ถอดบทเรียนจลาจล “เผา” เรือนจำบุรีรัมย์-กระบี่ ยกโมเดลเรือนจำใหม่

วันเสาร์ที่ 03 ธันวาคม พ.ศ. 2565

“กรมคุก” ถอดบทเรียนจลาจล “เผา” เรือนจำบุรีรัมย์-กระบี่ ยกโมเดลเรือนจำใหม่


ราชทัณฑ์ จัดแสดงนิทรรศการถอดบทเรียนจากเหตุจลาจลเผาเรือนจำ พร้อมเผยโมเดลรูปแบบเรือนจำใหม่ 2 ประเภท อิงตามบริบทราชทัณฑ์ไทย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ได้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการของกรมราชทัณฑ์ กรณีถอดบทเรียนเหตุจลาจลและการเผาเรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์และเรือนจำจังหวัดกระบี่ โดยมี นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ (ฝ่ายปฏิบัติการ) นำการเยี่ยมชมนิทรรศการดังกล่าว ณ กระทรวงยุติธรรม ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า กรมราชทัณฑ์ได้จัดแสดงนิทรรศการเพื่อเป็นการเตือนความจำ พร้อมบอกเล่าถึงสาเหตุ แนวทางแก้ไข และทำความเข้าใจต่อสังคม ถึงเหตุการณ์จลาจลและการเผาทำลายเรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563 และเรือนจำจังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 15-17 ธันวาคม 2564 ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าปัจจัยหลักมาจากทั้งด้านกายภาพ ที่มีความแออัดของจำนวนผู้ต้องขัง รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ โดยกรมราชทัณฑ์ ได้ถอดบทเรียนและดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ แล้ว เช่น การจัดทำมาตรฐานในการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง (SOPs) การสร้างระบบสืบสวนหาข่าวและเครือข่าย การซ้อมแผนเผชิญเหตุทุกไตรมาส เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งคณะทำงานศึกษารูปแบบเรือนจำใหม่ที่สอดคล้องกับภารกิจงานราชทัณฑ์ในอนาคต โดยศึกษาจากรูปแบบเรือนจำของต่างประเทศและประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทงานราชทัณฑ์ไทย ทั้งนี้ รูปแบบเรือนจำใหม่ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. เรือนจำรูปแบบใหม่ (Multifunction Prison) เป็นเรือนจำรูปแบบวิทยาลัย (Campus) ความมั่นคงปานกลาง ตอบสนองต่อภารกิจได้หลากหลาย

2. เรือนจำเฉพาะทาง (Specialized Prison) เป็นเรือนจำที่ใช้แผนผังเรือนจำรูปแบบสนาม/ลานบ้าน (Courtyard) ที่แยกพื้นที่ใช้สอยแต่ละแดนออกจากกันอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่ส่วนกลางที่ผู้ต้องขังสามารถสลับเวลาการเข้าใช้งานได้ พร้อมปรับเป็นเรือนจำเฉพาะทางต่าง ๆ ได้ อาทิ เรือนจำอุตสาหกรรม เรือนจำกีฬา เรือนจำการศึกษา ฯลฯ ซึ่งกรมราชทัณฑ์คาดว่าจะนำไปใช้ในการออกแบบและก่อสร้างเรือนจำใหม่ในอนาคต

นายอายุตม์ กล่าวปิดท้ายว่า ในการก่อเหตุจลาจลของผู้ต้องขังที่ผ่านมา เป็นเหตุร้ายที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการ อย่างไรก็ดี กรมราชทัณฑ์ ได้พยายามนำเหตุการณ์ในครั้งนั้นมาวิเคราะห์เป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงแก้ไข มิให้เกิดเหตุซ้ำอีก และพร้อมที่จะพัฒนาระบบการควบคุมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ