คมนาคม เปิดงานนิทรรศการ “Transport United for Happy Journey : คมนาคมรวมเป็นหนึ่ง เพื่อการเดินทางแห่งความสุข”

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2565

คมนาคม เปิดงานนิทรรศการ “Transport United for Happy Journey : คมนาคมรวมเป็นหนึ่ง เพื่อการเดินทางแห่งความสุข”


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดนิทรรศการและการเสวนาสร้างการรับรู้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี และยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558 - 2565 ภายใต้ชื่องาน “Transport United for Happy Journey : คมนาคมรวมเป็นหนึ่ง เพื่อการเดินทางแห่งความสุข” พร้อมปาฐกถา หัวข้อ “แผนคมนาคมกับการบูรณาการการเชื่อมโยงโครงข่าย” โดยมี นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน และนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารและหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ในวันที่ 15 กันยายน 2565 ณ บริเวณโถงภายในประตู 1 สถานีกลางบางซื่อ

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมเป็นกระทรวงหลักที่รับผิดชอบดูแลการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคของประเทศ แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 แต่การลงทุนในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายคมนาคมของประเทศ ไม่ได้หยุดหรือสะดุดลง เพราะเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเตรียมการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ รองรับการค้า การลงทุนจากต่างประเทศ และลดต้นทุนโลจิสติกส์ด้านการขนส่ง ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย นอกจากนี้ ยังมีวัตถุประสงค์ที่จะเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยตลอดระยะ 2 ปีกว่าที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคู่ขนานกัน ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อให้เกิดโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ในประเทศไทย ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทย และสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจไทย

การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางบก ได้ยกระดับการเดินทางให้มีความปลอดภัย เชื่อมโยงโครงข่ายทั่วไทย และส่งเสริมเศรษฐกิจทุกภูมิภาค ด้วยการเร่งรัดก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน - นครราชสีมา บางใหญ่ - กาญจนบุรี บางขุนเทียน - บ้านแพ้ว และทางพิเศษ สายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอก รวมทั้งมีแผนดำเนินโครงการก่อสร้าง สะพานข้ามเกาะลันตา จ.กระบี่ และสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา พัฒนาโครงข่ายร่วมกัน ระหว่างทางรถไฟกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ภายใต้กรอบแผนแม่บท MR-MAP เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมในรูปแบบใหม่ ที่จะเพิ่มความเชื่อมโยงภายในประเทศภูมิภาคอาเซียน ให้มีความปลอดภัยที่สูงขึ้น และลดภาระการลงทุนของภาครัฐในระยะยาวการยกระดับการเดินทางและการขนส่งทางน้ำ มีการเร่งพัฒนาท่าเทียบเรือ ทั้งท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ และท่าเรือน้ำลึก เช่น การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F เพื่อขยายขีดความสามารถการรองรับตู้สินค้า

พร้อมผลักดันการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับกองเรือพาณิชย์ไทย การพัฒนาโครงการสะพานเศรษฐกิจ เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (Landbridge ชุมพร - ระนอง) พลิกโฉมการขนส่งระบบรางของไทย ให้เป็นแกนหลักของการเดินทาง และการขนส่งเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ และกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ด้วยการเร่งรัดพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมกับเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางระบบรางแห่งใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ยกระดับรถไฟไทยให้เป็นทางคู่ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าของประเทศ และเชื่อมโยงการค้า การลงทุนกับต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งตู้สินค้าทั้งระบบ

ด้านการคมนาคมทางอากาศ ได้เพิ่มขีดความสามารถการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมกับการพัฒนาบุคลากรด้านการบิน และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ซ่อมและบำรุงอากาศยานมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ผลักดันให้เกิดการเพิ่มมูลค่า และเกิดการค้า การลงทุนให้กับประเทศไทย

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมคำนึงถึงความสะดวก และความปลอดภัยในการเดินทาง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ด้วยการพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง แบบไม่มีไม้กั้น (M-FLOW) การเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ด้วยการติดตั้ง Rubber Fender Barrier และ Rubber Guide Post บนทางหลวงและทางหลวงชนบท เพื่อช่วยป้องกันความรุนแรงจากอุบัติเหตุ และช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง เสริมความคล่องตัว ด้วยการกำหนดความเร็วการขับขี่รถยนต์ ได้สูงสุดไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การพัฒนา Application Taxi เพื่อสร้างทางเลือกให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวก และส่งเสริมการสร้างรายได้ให้กับผู้ขับรถแท็กซี่ รวมทั้งการขับเคลื่อนนโยบาย นำรถเมล์ไฟฟ้า และเรือโดยสารประจำทาง ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาให้บริการประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น และช่วยลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม

ภายในงานฯ มีกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย การเสวนาหัวข้อ “Transport United For Happy Journey คมนาคมรวมเป็นหนึ่ง เพื่อการเดินทางแห่งความสุข” โดย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และภาคประชาชน เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งกับการท่องเที่ยว การค้า และบริการ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงความคาดหวังของภาคเอกชนกับการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง การเสนอมุมมองในฐานะผู้ใช้บริการเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และบริการด้านคมนาคมขนส่ง ตลอดจนความคาดหวังของผู้ประกอบการ การจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับแผนงาน โครงการ และการดำเนินงานของกระทรวงฯ การจัดแสดงโมเดลโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม พร้อมทั้งบูธประชาสัมพันธ์และการให้บริการจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม      

กระทรวงคมนาคม ขอเชิญชวนประชาชนและผู้ที่สนใจเข้าร่วมชมงาน “Transport United for Happy Journey : คมนาคมรวมเป็นหนึ่ง เพื่อการเดินทางแห่งความสุข” โดยจัดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันที่ 15 - 16 กันยายน 2565 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ณ บริเวณโถงภายในประตู 1 สถานีกลางบางซื่อ



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ