ป.ป.ช. TaC Team ลงพื้นที่สุราษฎร์ธานี กำหนดข้อตกลงต้านและลดทุจริตลักลอบดูดทรายในที่ดินของรัฐ

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ป.ป.ช. TaC Team ลงพื้นที่สุราษฎร์ธานี กำหนดข้อตกลงต้านและลดทุจริตลักลอบดูดทรายในที่ดินของรัฐ


สำนักงาน ป.ป.ช.  นำโดย นายประทีป คงสนิท ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 8 นายพงษ์ศักดิ์  โชติพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย นายอับดุลฮาลีม สะแมบากอ ผู้อำนวยการกลุ่มประสานการป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 8 และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้โครงการต้านและลดทุจริต ด้วยกลไกสหยุทธ์ เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG : Together against Corruption – TaC)

ในประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตการลักลอบดูดทรายในที่ดินของรัฐพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี ประเด็นความเสี่ยงดังกล่าวมีที่มาจากการปักหมุดของเครือข่ายภาคประชาชน ชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต ว่ามีการลักลอบดูดทรายในพื้นที่หลายอำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ทั้งการดูดทรายนอกพื้นที่อนุญาต การดูดทรายโดยไม่มีใบอนุญาต การดูดทรายต่อเนื่องเมื่อใบอนุญาตขาดอายุ รวมทั้ง มีกรณีการใช้เรือดูดทรายล่องตามลำน้ำและจอดดูดทรายนอกบริเวณที่ได้รับอนุญาต

จากการลงพื้นที่ TaC Team บริเวณคลองพุมดวง อำเภอคีรีรัฐนิคม  พบว่า การดูดทรายของผู้ประกอบการในพื้นที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด อาทิ ไม่มีการปักหลักเล็งบนฝั่งพื้นดิน ไม่มีการลอยทุ่นสีแสดงพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต  มีผู้ประกอบการหลายรายยังคงดำเนินการดูดทรายหลังจากใบอนุญาตขาดอายุ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทุกรายยื่นขอต่ออนุญาตต่อเนื่องโดยใช้แผนที่สังเขปแปลงอนุญาตเดิมแต่จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง ปรากฎภาพแพดูดทรายของผู้ประกอบการอยู่นอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตบ่อยครั้ง รวมทั้ง พบว่าเกิดความเสียหายแก่สภาพตลิ่งและสภาพธรรมชาติของลำน้ำคลองพุมดวง อีกทั้งมีพื้นที่ได้รับอนุญาตดูดทรายและเตรียมจัดตั้งเป็นท่าทรายแห่งใหม่ในเขตชุมชนที่มีถนนขนาดเล็กไม่พร้อมรับน้ำหนักรถบรรทุกทรายขนาดใหญ่           อีกด้วย

ส่วนการลงพื้นที่บริเวณแม่น้ำตาปี อำเภอพุนพิน ซึ่งมีพื้นที่ได้รับอนุญาตให้ดูดทรายหลายจุด                     มีผู้ประกอบการหลายรายตลอดแนวลำน้ำ พบว่า ผู้ประกอบการบางส่วนมีพฤติการณ์เช่นเดียวกับผู้ประกอบการในคลองพุมดวง คือไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีการปักหลักเล็งบนฝั่งพื้นดิน ไม่มีการลอยทุ่นสีแสดงพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต  นอกจากนี้ ยังปรากฎความเสี่ยงจากการใช้เรือดูดทรายแล่นเป็นระยะทางไกลจากพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต เพื่อนำทรายไปขึ้นยังท่าทรายในพื้นที่ต่างอำเภอ (อำเภอบ้านนาเดิม) ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตที่สามารถขออนุญาตดูดทรายได้ (zoning) ไม่สอดคล้องกับพื้นที่ทำประชาคมซึ่งเป็นที่มาของการได้รับใบอนุญาตดูดทราย ทั้งนี้ พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ไม่มีการจัดเก็บค่าตอบแทนจากปริมาณทรายที่อนุญาต

นายวิชวุทย์ จินโต  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานการประชุมกำหนดข้อตกลงร่วมกับ             นายประทีป คงสนิท ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 8 และนายพงษ์ศักดิ์  โชติพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงต่อการทุจริตการลักลอบดูดทราย โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นายประเวศ ไทยประยูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายธวัชชัย สุทธิจำนงค์ ผู้อำนวยการตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด นายอภินันท์  นาวิกนันทน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ท. เขต 8 ผู้แทนหน่วยงานที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการดูดทรายและการขนทราย อาทิ อำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอพุนพิน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด  สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา แขวงทางหลวงสุราษฎร์ธานีที่ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ตลอดจนสมาชิกชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โดยที่ประชุมได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและมีความคิดเห็นตรงกันว่า สภาพปัญหาความเสี่ยงต่อการทุจริตการดูดทรายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีประเด็นใกล้เคียงกับการประกอบกิจการดูดทรายในพื้นที่ภาคเหนือ (ลำน้ำปิงและลำน้ำสาขา) และภาคตะวันออกฉียงเหนือ (แม่น้ำโขง) ดังนี้

1. กฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะกรณีที่กฎหมายเปิดช่องให้ผู้ได้รับใบอนุญาตสามารถดูดทรายได้ต่อเนื่องแม้ใบอนุญาตขาดอายุ หากได้ดำเนินการยื่นขอต่อใบอนุญาตภายในระยะเวลา 90 วันก่อนครบกำหนด

2. กระบวนการออกใบอนุญาต มีขั้นตอน กระบวนการที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ใช้เวลานาน

3. หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องมีจำนวนหลายหน่วยงาน แต่ไม่มีการกำหนดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนในการกำกับติดตามตรวจสอบผู้ประกอบการให้ดำเนินการอย่างถูกต้อง

4. การกำหนดอัตราค่าตอบแทนจากการดูดทรายไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับปริมาณทรายที่ผู้ประกอบการดำเนินการดูดได้จริง

5. กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการได้มาซึ่งใบอนุญาตดูดทราย ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนจึงไม่อาจสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่

6. ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสภาพตลิ่งและสภาพธรรมชาติของลำน้ำจากการอนุญาตให้ดูดทราย

ดังนั้น ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตการลักลอบดูดทรายในที่ดินของรัฐ จึงถือเป็นประเด็นความเสี่ยงระดับประเทศ (National Agenda)  ที่มีการปักหมุดความเสี่ยงในลักษณะเดียวกันในหลายพื้นที่หลายภูมิภาค เป็นประเด็นปัญหาอันเนื่องมาจากช่องโหว่ของกฎหมายหรือระเบียบ รวมทั้งมีหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก

ที่ประชุมจึงเสนอให้หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการอนุญาต ควบคุม กำกับ ติดตาม ตรวจสอบ มีการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกัน เพื่อจัดทำแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานกลางสำหรับให้จังหวัดที่มีพื้นที่อนุญาตดูดทรายรับไปปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ โดยในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช. จะวิเคราะห์กรณีที่เป็นความเสี่ยงต่อการทุจริต จัดทำเป็นข้อเสนอแนะหรือมาตรการป้องกันการทุจริตเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 32 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ              พ.ศ. 2561 ต่อไป

ในส่วนของข้อตกลงเพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุจริตประเด็นการลักลอบดูดทรายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี           ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาใน 2 ประเด็น คือ

1. ผู้ได้รับอนุญาตดูดทรายหรือผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในพื้นที่ มีพฤติการณ์ลักลอบดูดทรายนอกพื้นที่อนุญาต และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนด

2. หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องมีหลายหน่วยงาน  ปัจจุบันยังไม่มีแผนการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นไปอย่างถูกต้อง จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการอาศัยช่องว่าง           ในการกระทำความผิด

ที่ประชุมจึงกำหนดข้อตกลงร่วมกันเพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุจริต ดังนี้

1. เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินการของผู้ประกอบกิจการดูดทรายอย่างต่อเนื่อง จึงเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งคณะทำงานร่วม ซึ่งมีปลัดจังหวัดเป็นประธาน มีสำนักงานที่ดินจังหวัดเป็นเลขานุการ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงาน ป.ป.ท. และสำนักงาน ป.ป.ช. โดยกำหนดวงรอบการลงพื้นที่ตรวจสอบการดูดทรายร่วมกันไตรมาสละ 1 ครั้ง รวมปีละ 4 ครั้ง และรายงานผลต่อคณะกรรมการผลักดันแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

2. ให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสุราษฎร์ธานี แจ้งผู้ประกอบการดูดทรายทุกราย ดำเนินการปักหลักเล็งบนฝั่งพื้นดิน และลอยทุ่นสีแสดงพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนร่วมตรวจสอบการประกอบกิจการดูดทรายให้จำกัดอยู่ในเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต โดยให้ดำเนินการเป็นกรณีเร่งด่วน

3. ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการกับผู้ลักลอบดูดทราย ได้แก่ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด นายอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบพื้นที่อนุญาตดูดทราย จัดช่องทางการร้องเรียน (สายด่วน) และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ เพื่อสามารถแจ้งได้อย่างรวดเร็วเมื่อพบเห็นการลักลอบดูดทราย และ                    ให้หน่วยงานนั้นๆ ตอบสนองต่อข้อมูลของภาคประชาชนอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ให้ทุกหน่วยงานแจ้งช่องทางร้องเรียนดังกล่าวต่อชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อช่วยขยายผลประชาสัมพันธ์ผ่านสมาชิกชมรมฯ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1,000 คน ครอบคลุมพื้นที่ 19 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการแจ้งข้อมูลให้ตรงกับหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ

4. สำนักงาน ป.ป.ช. จะรายงานผลการจัดทำข้อตกลงร่วมภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไก สหยุทธ์ฯ ในพื้นที่ภาค 8 (จังหวัดสุราษฎร์ธานี) เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีและเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช โดยในส่วนของการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงต่อการทุจริตการดูดทรายในที่ดินของรัฐในภาพรวมทั่วประเทศ สำนักงาน ป.ป.ช. จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกับหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การถอนหมุดประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตให้แล้วเสร็จได้ในที่สุด

 

 

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ