Toggle navigation
วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม 2568
หน้าแรก
ข่าวสาร
วิเคราะห์-บทความ-ต่างประเทศ
ประกัน
ยานยนต์
การเงิน-ธนาคาร
หุ้น-กองทุนรวม
อสังหาริมทรัพย์
พลังงาน-คมนาคม-โลจิสติกส์
อุตสาหกรรม-เออีซี-เอสเอมอี
ไอที
การศึกษา-กทม
การตลาด-ซีเอสอาร์
เกษตรยุคใหม่-ภูมิภาค
บันเทิง
ขายตรง
ประชาสัมพันธ์
PR NEWS -ข่าวประชาสัมพันธ์
ไลฟ์สไตล์
ท่องเที่ยว
แฟชั่นโซไซตี้-ดูดวง
ช๊อป-ชิม-ชิล
สุขภาพ-ความงาม
วิดีโอ-คลิปข่าว
E-Book
นสพ. สยามธุรกิจ
ติดต่อเรา
สามารถส่งข้อมูล ข่าวสาร ทางอีเมลล์ : siamturakijonlinenews@gmail.com และ สำหรับฝ่ายโฆษณา ทางอีเมลล์ : siamturakijadvertising@gmail.com
หน้าแรก
วิเคราะห์-บทความ-คอลัมน์
มองความคิด..ผ่านเส้นทางการเมือง "สานันท์ สุพรรณชนะบุรี"
มองความคิด..ผ่านเส้นทางการเมือง "สานันท์ สุพรรณชนะบุรี"
วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2556
Tweet
สัมภาษณ์พิเศษ
"สานันท์ สุพรรณชนะบุรี" ผ่านงานการเมืองมาแล้วทั้งสนามการเมืองระดับชาติ และระดับท้องถิ่น เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 2 สมัย ครั้งแรก ปี 2531 และได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2535
ระหว่างที่ทำงานการเมืองก็นั่งเป็นประธาน สหกรณ์ออมทรัพย์ครูพัทลุง และตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูพัทลุงในเวลาต่อมา ถือเป็นบุคคลที่บุกเบิกวงการสหกรณ์ออมทรัพย์ ครูให้เข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของแม่พิมพ์ทั้งหลายจน ถึงปัจจุบัน
เบนเส้นทางมาเล่นสนามการเมืองท้องถิ่น ด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหาร ส่วนจังหวัด (อบจ.) พัทลุง ที่เปิดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นจากประชาชนโดยตรง โดยในวันที่ 14 มีนาคม 2547 ก็คว้าชัยชนะมาอย่างท่วมท้น และปี 2551 ก็คว้าเก้าอี้ตัวเดิมมานั่งอีกสมัย
พร้อมได้รับการโหวตจากที่ประชุมใหญ่สมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย ให้นั่งนายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทยอีกหนึ่งตำแหน่ง ระหว่างการครองเก้าอี้นายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย ได้วิพากษ์ปัญหาการกระจายอำนาจและเสนอความเห็นที่แหลมคมต่อแนวทางการทำงาน ของท้องถิ่นแบบตรงไปตรงมาหลายครั้ง
แม้ว่ากฎหมายจะเปิดโอกาสให้ลงสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.ได้ไม่จำกัด แต่ "สานันท์" ก็ทำตามปณิธานที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้น นั่นคือ การทำงานในตำแหน่งนายก อบจ.พัทลุง 2 สมัยก็เพียงพอแล้วสำหรับนักการเมืองคนหนึ่ง โดยไม่ยึดติดกับเก้าอี้ ลาภยศ และสรรเสริญใดๆ
ปัจจุบันแม้ไม่มีตำแหน่งทางการเมือง แต่ ก็เกาะติดสถานการณ์บ้านเมืองอย่างใกล้ชิด พร้อมให้ความเห็นและเสนอทางออกของวิกฤติ ต่างๆ ผ่านสื่อเป็นระยะ
"สานันท์" ให้ความเห็นถึงสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันว่า น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากผู้มีอำนาจทางการเมืองไม่ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะปัญหา ปากท้อง ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตก ต่ำ ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ และที่หนักที่สุดคือปัญหาการเมืองที่ส่งผลกระทบไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา
"หากมองกันให้ดีบ้านเมืองเจอวิกฤติครั้งแล้วครั้งเล่า และแต่ละครั้งก็ทำให้เราสูญเสียโอกาสที่จะพัฒนาบ้านเมืองไปมาก ประชาชนคนในชาติมีความแตกแยกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทะเลาะ และในที่สุดก็เกิดการนองเลือดอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ตอบแบบให้เข้าใจง่ายๆ คือ ทัศนคติของคนในชาติแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และทัศนคติที่แตกต่าง และไม่ยอมรับกันก็นำ มาสู่การแบ่งฝ่าย และร้ายที่สุดก็คือการแตก ความสามัคคี สุดท้ายก็เข้าห้ำหั่นกันแบบเอาเป็นเอาตาย"
อดีต ส.ส.พัทลุง กล่าวอีกว่า ทางออกมีน้อยเหลือเกินเพราะปัจจุบันไม่มีใครฟังใครแล้ว แต่ฝ่ายที่มีหน้าที่และมีอำนาจต้องเลิกทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองก่อน พร้อมเปิดโอกาสให้มีเวทีถกเถียงและแลกเปลี่ยนเรื่องต่างๆ กันอย่างกว้างขวางและถึงที่สุด เพราะการพูดคุยกันเท่า นั้นถึงจะทำให้เข้าใจกัน หลังจากนั้นเมื่อเข้าใจกันแล้ว ก็เลิกทำสองมาตรฐาน และให้ทุกฝ่ายเข้ามาแก้ไขปัญหาร่วมกันทางออกมีไม่เยอะ แต่ต้องลองดู
นอกจากนี้ "สานันท์" ยังชี้ว่า เมื่อทุกอย่างคลี่คลายแล้ว ส่วนที่เกี่ยวข้องต้องปรับโครงสร้างอำนาจในการบริหารบ้านเมืองใหม่ เป็นการรื้อใหม่ทั้งระบบ โดยวางกรอบให้องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น หรือ อปท.ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหาร ส่วนตำบล หรือท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอื่น มีบทบาทในการพัฒนามากยิ่งขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่าให้วางบทบาทการพัฒนาประเทศ ไว้ที่ท้องถิ่น ส่วนรัฐบาลก็ทำในด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ดูแลเรื่องเศรษฐกิจภาพรวมรวมทั้ง ไปดูด้านการต่างประเทศ การทหาร และความมั่นคง
"เพราะประเทศรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางมานาน ทำให้เมื่อเกิดปัญหา ถนนทุกสายก็มุ่งมาที่กรุงเทพฯ หรือส่วนกลาง แต่รัฐบาลหรือราชการส่วนกลางก็แก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนไม่ได้ หรือแก้ได้บ้าง แต่ก็ไม่ครอบคลุมทุกประเด็น ปัญหาเดิมที่มีเยอะอยู่แล้วก็เกิดปัญหาใหม่ และเมื่อวางบทบาทรัฐบาลไว้มาก แต่ไม่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาทำให้บ้านเมืองเกิดความทับถมของปัญหา ยากเกินกว่าที่รัฐบาล จะแก้ไขได้เพียงลำพัง"
อดีตนายก สมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ดังนั้นหากวางบทบาทการพัฒนาไว้ที่ท้องถิ่น หรือให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดการปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง ปัญหาจะไม่หมักหมมขนาดนี้ เพราะปัจจุบันท้องถิ่นมีศักยภาพมาก ทั้งตัวผู้บริหาร และข้าราชการส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงแนวนโยบายต่างๆ ก็สอดรับกับความต้องการของพี่น้องประชาชนเนื่องจากคนท้องถิ่นย่อมรู้ปัญหาในพื้นที่ได้ดีกว่าส่วนกลาง ฉะนั้นเมื่อเกิดปัญหาก็ให้คนในพื้นที่นั่นแหละแก้ไขปัญหา
"แต่ปัจจุบันและที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามที่จะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางมาตลอด แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าให้มีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น ให้ถ่ายโอนภารกิจงบประมาณ และบุคลากรมาให้ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น รวมไปถึงให้จัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นให้แล้วเสร็จภาย ใน 2 ปี แต่สุดท้ายก็ไม่มีรัฐบาลไหนทำตามที่รัฐธรรมนูญ กำหนดไว้"
"สานันท์" ให้ความเห็นอีกว่า ในอดีต และปัจจุบันการทำงานของท้องถิ่นก็ยังเต็มไปด้วยปัญหา แม้ว่าบางโครงการประชาชนต้องการให้ท้องถิ่นดำเนินการ และเราเห็นว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ ต่อคนในพื้นที่ แต่หน่วยตรวจสอบต่างๆ เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ทักท้วงว่าไม่คุ้มค่า และไม่เกิดประโยชน์ บางครั้งต้องให้คืนเงิน
"อย่างเช่นสมัยที่เป็นนายก อบจ.พัทลุง เห็น ว่าการพาพระคุณเจ้า หรือพระภิกษุไปสังเวชนียสถานในต่างประเทศ เพื่อให้พระคุณเจ้าได้เห็นสถานที่จริงเพื่อจะได้เผยแผ่ธรรมะของพระพุทธองค์ ให้กับชาวบ้านได้เห็นภาพและแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น แต่ สตง.ก็บอกว่าไม่เกิดประโยชน์ สิ้นเปลือง นี่จึงเป็นอุปสรรคหนึ่งในการทำงานของท้องถิ่นใน อดีตและปัจจุบัน"
นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐบาลนำข้อเสนอต่างๆ ของคณะกรรมการหรือสถาบันการศึกษาที่มีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมาปรับใช้ เช่น ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) ที่เสนอให้มีการกระจายอำนาจมาที่ท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ท้องถิ่นเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ และช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ
อดีตนายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย เสนอทางออกอีกว่า ปัจจุบันกระแสจังหวัดจัดการตนเอง และท้องถิ่นรูปแบบพิเศษมาแรงมาก นั่นหมายความว่าประชาชนในพื้นที่ได้ตื่นตัวในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากยิ่งขึ้น เข้าไปกำหนดอนาคตตัวเองมากยิ่งขึ้น และเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า พี่น้องประชาชนพร้อมแล้วที่จะเลือกตั้งผู้บริหารจังหวัด หรือผู้บริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดจากประชาชนโดยตรง
"การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง แทนการที่รัฐบาลแต่งตั้ง ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายด้านการกระจายอำนาจในเมืองไทยอย่างมาก เพราะทราบกันดีว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางการเมือง บางจังหวัดเปลี่ยนผู้ว่าฯปีละหลายคน ทำให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดไม่ต่อเนื่อง หากประชาชนเลือกผู้ว่าฯที่มาจากคนในพื้นที่การทุ่มเทในการทำงาน หรือความต่อเนื่องในการทำงานก็จะมีมากขึ้น หากผู้ว่าฯคนไหนไม่ทุ่มเทหรือไม่มีผลงาน 4 ปี ก็ให้พี่น้องประชาชนวัดผลได้หรือเลือกคนใหม่มาทำงานได้"
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ "สานันท์" คลุกคลีกับท้องถิ่นมานาน ก็ยอมรับว่าท้องถิ่นในภาพรวม เองก็มีจุดอ่อน เช่น รายได้ท้องถิ่น ที่กฎหมายหลายฉบับยังกำหนดให้ท้องถิ่นมีข้อจำกัดในการ หารายได้ พูดง่ายๆ ลู่ทางในการหารายได้ของท้องถิ่นมีจำกัด ทำให้ต้องพึ่งรายได้หรือเงินอุด หนุนจากรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ บางแห่งก็ไม่เพียง พอต่อการพัฒนาพื้นที่ ดังนั้นส่วนที่เกี่ยวข้องต้อง เร่งผลักดันให้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น เข้าสู่กระบวนการตรากฎหมายในรัฐสภาโดยเร็ว เพื่อให้เกิดการปรับรื้อท้องถิ่นใหม่ทั้งระบบ
"ขณะที่ฝ่ายบุคลากรทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำยังไม่กล้าคิดนอกกรอบ ท้องถิ่นบางแห่งยังขาดโครงการที่เป็นนวัตกรรมท้องถิ่น ส่วนหนึ่งเข้าใจว่าระเบียบกฎหมายไม่เอื้อ แต่ถ้าท้องถิ่นทำงานเหมือนราชการส่วนภูมิภาคก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้ ดังนั้นผู้บริหารท้องถิ่นเองต้องกล้าโชว์วิสัยทัศน์เพื่อให้ชาวบ้านมั่นใจว่าท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการให้บริการกิจการสาธารณะอย่างแท้จริง"
ส่วนกระแสของคนท้องถิ่นที่มีการตั้งพรรคการเมืองเพื่อคนท้องถิ่นนั้น "สานันท์" บอกว่า ไม่เห็นด้วย เพราะการตั้งพรรคการเมือง ไม่ควรตั้งเป็นพรรคเฉพาะกิจที่ให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่นโยบายของพรรค การเมืองควรจะมีทุกมิติและครอบคลุมทุกด้านเพื่อให้เกิดการแก้ไขให้ประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ควร มาเน้นเฉพาะแค่เรื่องท้องถิ่น
อดีตส.ส.พัทลุง และอดีตนายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย กล่าวสรุปว่า หน้าตาของประเทศไทยในอนาคตในมิติด้านโครงสร้างอำนาจ ต้องเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากส่วนกลางมา ไว้ที่ท้องถิ่นให้เต็มที่ ให้ท้องถิ่นได้มีบทบาทและเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง โดยที่การกำกับดูแลท้องถิ่นจากส่วนต่างๆ ยังเข้มข้นเหมือนเดิม เพื่อให้เกิดการตรวจสอบและให้โครงการต่างๆ โปร่งใสและเกิดประโยชน์กับชุมชนอย่างเต็มที่
"ส่วนรัฐบาลต้องประคับประคองประเทศให้เดินไปตามแผนที่คนทั้งประเทศได้กำหนดร่วมกัน การบังคับใช้กฎหมายต้องยุติธรรม คำนึงถึงหลักความเป็นธรรมและเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ การจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรธรรมชาติต้องเป็นธรรมและเข้าถึงได้จากทุกฝ่าย ที่สำคัญทุกคนต้องมีวินัย และเคารพสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น หากเราอยู่กันอย่างนี้ได้ สังคมที่ทุกคนใฝ่หาและอยากให้สงบสุขก็เกิดขึ้นได้"
เป็นมุมคิดของ "สานันท์ สุพรรณชนะบุรี" อดีต ส.ส.พัทลุง อดีตนายก อบจ.พัทลุง 2 สมัย และอดีตนายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย ที่เป็นเสียงหนึ่งของคนในสังคมที่ต้องการเห็นบ้านเมืองมีการพัฒนาและทุกฝ่ายอยู่กันอย่างมีความสุขเพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
The Associated Press
“ทักษิณ” พ่อมดการเมือง????...
...
สังคมอุดมการพนัน By นายหวานเย็น...
...
ประธานาธิบดีพันธุ์หมาบ้า...
...
7 วิธีเปลี่ยนผู้ติดตามให้กลายเป็นลูกค้าป...
...
2025 ภาษีที่บิดเบือนกับประวัติศาสตร์ บท...
...
บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ
×
เว็บไซต์ “สยามธุรกิจ” ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)
กดยอมรับ