ครม. ไฟเขียวลงทุนอุตฯเหมือง หลังโควิด-สงครามทำขาดแคลนค่าขนส่งสูง

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ครม. ไฟเขียวลงทุนอุตฯเหมือง หลังโควิด-สงครามทำขาดแคลนค่าขนส่งสูง


สมาคมสินแร่ฯขานรับรัฐบาลเริ่มตาสว่าง  ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง  ชี้โควิดและสงครามเปลี่ยนโลกเปลี่ยนวิธีคิดต้องพัฒนาทรัพยากรในประเทศแทนการนำเข้า  เสนอทบทวนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทแร่ให้เข้าสถานการณ์

              ตามที่มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  2 สิงหาคม พ.ศ.2565 กำหนดนโยบายส่งเสริมและแนวทางการแก้ไขปัญหาการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของประเทศไทย  โดยเห็นสมควรปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง พร้อมทั้งกำหนดสิทธิประโยชน์ให้มีความเหมาะสม โดยแบ่งประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มกิจการสำรวจแร่  กลุ่มกิจการทำเหมืองแร่/แต่งแร่  และกลุ่มกิจการถลุงแร่หรือประกอบโลหกรรม นั้น 

          ดร.วิจักษ์ พงษ์เภตรา นายกสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง กล่าวว่า  เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลกลับมาเล็งเห็นถึงบทบาทและความสำคัญของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่สมควรต้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง  เพราะเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่เป็นฐานของการพัฒนาประเทศ  และจะเป็นกำลังสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  กับเสริมสร้างความแข็งแกร่งจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจที่มีแนวโน้มจะขยายตัวมากขึ้น

          “เราเคยมีแนวคิดในการนำเข้าสินแร่จากต่างประเทศแทนการพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ  แต่โรคระบาดใหม่และสงครามทำให้สินแร่หลายอย่างขาดแคลน  ราคาแพงขึ้น  ค่าขนส่งสูง  มีความไม่แน่นอนในการผลิตและขนส่ง  จึงจำเป็นต้องทบทวนนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติรวมถึงแผนแม่บทแร่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต” ดร.วิจักษ์กล่าว

          ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มความต้องการใช้แร่สูงขึ้น  ทั้งแร่โลหะพื้นฐาน โลหะมีค่า แร่หายากและแร่อุตสาหกรรมอื่นๆ  อันเป็นผลจากนโยบายสางเสริมพลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า  การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า  และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  โดยในปี 2563 มูลค่าเพิ่มของการทำเหมืองแร่คิดเป็นสัดส่วน 2.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP)

         อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังประสบปัญหาเกี่ยวกับแร่ในด้านต่างๆ อาทิ ต้องพึ่งพาการนำเข้าแร่จากต่างประเทศ  ขาดการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากแร่  ขาดมาตรการและแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมแหล่งวัตถุดิบในกระบวนการผลิต  และขาดการลงทุนเพื่อลดผลกระทบจากการทำเหมือง

          อนึ่ง คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกระทรวงอุตสาหกรรม ประสานความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมต่อไป



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ