“พนัส แอสเซมบลีย์” โชว์ผลงานวิจัยและพัฒนารถบรรทุกหกล้อไฟฟ้าดัดแปลงเชิงพาณิชย์ฝีมือคนไทย สำเร็จ!!

วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

“พนัส แอสเซมบลีย์” โชว์ผลงานวิจัยและพัฒนารถบรรทุกหกล้อไฟฟ้าดัดแปลงเชิงพาณิชย์ฝีมือคนไทย สำเร็จ!!


บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มหาวิทยาลัย และหน่วยงานพันธมิตร โชว์ผลงานวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมรถบรรทุกหกล้อไฟฟ้าดัดแปลง ที่พัฒนาเป็นรถบรรทุกขยะแบบอัดท้าย ในงาน Low Carbon City & EV Expo 2022 มหกรรมจัดแสดงยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีเมืองคาร์บอนต่ำ ระหว่างวันที่ 20-22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ณ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยมีคุณวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ผู้บริหารระดับสูงของจังหวัด ผู้ประกอบการด้านยานยนต์ไฟฟ้า และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชมงาน

รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. ได้กล่าวว่า ทาง บพข. ให้การสนับสนุนทุนวิจัยกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต หรือ Future Mobility ในหลายลักษณะ โดยยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงนับว่าเป็นตลาดที่มีความต้องการ ถูกพูดถึงและได้รับความสนใจสูงในหลายเวที เนื่องจากผลกระทบของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนระบบ Logistics แรงกดดันทางธุรกิจที่ภาคเอกชนได้รับในรูปแบบของ Non-Tariff Barrier ในด้านการไปสู่ Net Zero GHG และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม PM2.5, Global Warming ทำให้ภาคเอกชนต้องปรับเปลี่ยนระบบขนส่งไปสู่ระบบที่ปล่อยมลพิษต่ำ หรือแบบไร้มลพิษ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยจากการมีสงคราม และผลกระทบในวงกว้างจาก Covid ทำให้กำลังในการจับจ่าย หรือการลงทุนของประชาชนและภาคธุรกิจนั้นลดลงไม่สามารถซื้อรถใหม่ได้ในทันที และตลาดก็ยังไม่มีรถไฟฟ้าใหม่มารองรับในส่วนนี้

สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเชิงพาณิชย์ มีข้อดีคือสามารถออกแบบให้ตรงกับรูปแบบความต้องการการใช้งานเฉพาะด้านได้ การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง จึงกลายเป็น เทคโนโลยี หรือ Solutions ที่สังคมกำลังมองหา และเป็นสิ่งที่ทาง บพข. ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาและยกระดับ ให้มีคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัยที่สูงมากขึ้น

นอกจากนี้ บพข. ยังเล็งผลลัพธ์จากการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ที่จะเหนี่ยวนำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญอื่นๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน อาทิ อุตสาหกรรมยายนต์ไฟฟ้าดัดแปลง อุตสาหกรรมการผลิตมอเตอร์ ระบบควบคุม (Controller) และ Software ที่เกี่ยวข้อง แบตเตอรี่แพ็ค และรวมไปถึงกลุ่มของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนสำหรับตลาดหลังการขายของรถยนต์ไฟฟ้า (After Market) ได้อีกด้วย สุดท้ายนี้อยากเห็นการเผยแพร่องค์ความรู้และการผลิตจริงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดการพัฒนา Ecosystem บุคลากร และเกิดการใช้งานจริงในชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลาย และสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อไป

ด้าน ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย คณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต บพข. สอวช. ได้กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐอยากเห็นภาคเอกชนไทย มีความสามารถและความเชี่ยวชาญระดับสูงและก้าวขึ้นสู่เวทีโลก โดยการให้ทุนวิจัยมุ่งเน้นให้เกิดการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน และการสนับสนุนให้เกิด Ecosystem มาตรฐานและกลไกการขยายผล นอกจากนี้ยังต้องการได้รับการผลักดันและต้องการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มเติมในหลายส่วนโดยในเชิงนโยบายได้มีโอกาสเข้าไปเป็นคณะทำงานร่วมจัดทำรายงานการศึกษาร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง และระบบกักเก็บพลังงาน ในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อร่วมสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงนี้ขึ้น และได้กล่าวว่า “เรามีโอกาสที่จะร่วมกันสนับสนุนและสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้เพียงครั้งเดียว และต้องทำให้สำเร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 5-10 ปี นี้เท่านั้น ถ้าผ่านโอกาสนี้ไปก็จะไม่มีโอกาสแบบนี้เข้ามาได้อีก” อยากสร้างและเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาคการศึกษาวิจัยและหน่วยงานภาคเอกชนไทยร่วมมือกัน เข้ามาขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยในหัวข้อที่มีความท้าทาย และเมื่อทำเสร็จแล้วอยากให้นำผลงานวิจัยเชิงพาณิชย์มาจัดแสดงเพื่อให้เป็นทางเลือกของประชาชน และผู้ที่ต้องการ Solutions ได้นำไปต่อยอดทดลองใช้งานจริงได้มากขึ้นในอนาคต 

ขณะที่ นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ได้กล่าวว่า บริษัท ฯ มียุทธศาสตร์และพันธกิจ ที่ชัดเจนในการมุ่งสู่ธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่และโมบิลิติ้แพลตฟอร์ม ผ่านทางการวิจัยพัฒนาและการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรในบริษัท ฯ และการพัฒนาโซ่คุณค่าผู้ประกอบการไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บพข. โดย บริษัท ฯ มุ่งเน้นเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในระยะแรกเนื่องจากมีความต้องการจากลูกค้าที่เป็นฐานลูกค้าเดิมจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่มีฝูงรถที่ต้องการปรับเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า ภายในงบประมาณที่เหมาะสม การโชว์รถรถบรรทุกหกล้อดัดแปลงเชิงพาณิชย์ในงาน Low Carbon City & EV Expo 2022 ครั้งนี้ จึงเป็นการตอกย้ำและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ ทั้งทางด้านวิศวกรรมและด้านเศรษฐศาสตร์ อนึ่ง บริษัท ฯ ยังเน้นย้ำเรื่องของการให้บริการแบบครบวงจรที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศของไทย ได้แก่ การให้บริการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าและการบริหารไฟฟ้าจากสายส่ง การให้คำปรึกษาด้านการบริหารเส้นทางและขนาดแบตเตอรี่ที่เหมาะสม การให้บริการหลังการขาย การให้บริการด้านการจดแจ้งเปลี่ยนทะเบียน รวมถึงการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ ได้แก่ การขายชุด Conversion Kit และการเปิดสาขาแบบ Franchise พร้อมการฝึกอบรมวิศวกรและช่างชำนาญการด้าน EV Conversion”

“ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ดังนั้น บริษัท พนัส ฯ ได้มีการร่วมวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้าน Engineering, Development, and Test ของโมดูลแบตเตอรี่ กับบริษัทแบตเตอรี่ระดับโลก Contemporary Amperex Technology Co., Limited (CATL) ภายใต้ MOU ความร่วมพัฒนาธุรกิจแบตเตอรี่ในไทยและอาเซียน ตั้งแต่ วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 และจะได้รับโมดูลแบตเตอรี่ภายในเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2565 เพื่อนำมาใช้กับรถบรรทุกไฟฟ้าดัดแปลงเชิงพาณิชย์ตามความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อจัดจำหน่ายทั้งในไทยและต่างประเทศ” 

ขณะที่ นายนที สุดอ่อน หัวหน้าส่วนงานวิศวกรรมไฟฟ้า ฝ่ายพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ได้นำเสนอกระบวนการคิดด้านการพัฒนาว่า ผลิตภัณฑ์รถบรรทุกหกล้อไฟฟ้าดัดแปลง ได้เริ่มต้นออกแบบให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการและผู้ใช้งาน  มุ่งเน้นการประเมินต้นทุนเป็นอันดับแรก และการเลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่เหมาะสม มีการคำนวณและการจำลองการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ในทุกขั้นตอนการออกแบบเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนนวัตกรรมพิเศษที่ออกแบบเฉพาะบริษัท พนัส ฯ คือ ระบบ Active Cooling System สำหรับควบคุมอุณหภูมิไม่ให้แบตเตอรี่ทำงานในสภาวะที่ร้อนเกินไปและช่วยให้ยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ให้ยาวนานขึ้น เหมาะกับการใช้งานในประเทศเขตร้อนเช่นประเทศไทย มีการใช้ระบบทำความเย็นในห้องโดยสารและระบบระบายความร้อนของแบตเตอรี่แบบ Common AC Compressor เพื่อลดต้นทุนการใช้อุปกรณที่ซ้ำซ้อนในระบบ รวมถึงการพัฒนา In-House Software Development สามารถปรัปแต่งสมรรถนะได้อย่าง Real-Time และรองรับการพัฒนาต่อยอดสู่ยานยนต์อัตโนมัติ

นายนที ยังเน้นย้ำ Specifications และผลลัพธ์ของสมรรถนะที่ได้จากการพัฒนาว่า “ผลิตภัณฑ์รถบรรทุกหกล้อไฟฟ้าดัดแปลง ใช้ระบบส่งกำลังเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ PMSW ขนาด 250 kW เชื่อมต่อกับเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดรองรับการขึ้นเขาและสภาพถูมิประเทศ และมีระบบชาร์จพลังงานไฟฟ้าป้อนกลับ (Regenerative System) สูงสุด 150 kW ส่วนแบตเตอรี่เป็นแบบลิเทียมไออน มีให้เลือก 3 ขนาดตามระยะทางการใช้ ได้แก่ 90kWh (ระยะทางสูงสุด 180 km.) 140kWh (ระยะทางสูงสุด 290 km.) และ 280 kWh (ระยะทางสูงสุด 580 km.) โดยสามารถเลือกประเภทการชาร์จได้ทั้งแบบธรรมดา (AC Charge) ขนาด 22kW พร้อมอุปกรณ์ On-Board Charger และแบบเร็ว (Fast Charge) ขนาด 150 kW ที่สามารถชาร์จแบตเตอรี่เต็มได้ในเวลาน้อยกว่า 1 ชั่วโมง

ขณะที่ คุณกมลทิพย์ อินทรคีรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการหน่วยกลยุทธ์ธุรกิจนวัตกรรม ได้สะท้อนมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์และการพาณิชย์ว่า หากเปรียบเทียบรถบรรทุกเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมัน พบว่าต้นทุนรถบรรทุกไฟฟ้าดัดแปลง ในปีที่ 7-12 หลังจากการใช้งานมาจนคุ้มทุนแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายส่วนแรก คิดเป็นสัดส่วน 50%-70% ของรถบรรทุกใหม่ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในเชิงความคุ้มค่าระยะยาว จะพบว่าอัตราค่าใช้จ่ายต่อปีของรถบรรทุกไฟฟ้าดัดแปลงจะถูกกว่ารถน้ำมันถึง 1 ใน 3 ซึ่งปัจจัยโดยตรงที่สำคัญ ได้แก่ ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และค่าซ่อมบำรุงรักษารายปีเป็นหลัก ซึ่งรถบรรทุกไฟฟ้าดัดแปลงที่นำไปจัดแสดงนั้น ได้ทดสอบในพื้นที่ EEC พบว่ามีประสิทธิภาพการสิ้นเปลืองพลังงานที่ 0.65 kWh/kW และค่าใช้จ่ายสำหรับพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 2.67 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งเป็นที่น่าพอใจกับผู้ประกอบการหลายรายที่ได้มาทดสอบขับเอง รวมถึงความพึงพอใจของความราบรื่นในการขับขี่

คุณกมลทิพย์ ยังฉายภาพกรณีศึกษาอีกว่า จากการคำนวณ Operation Cost ของผู้ประกอบการบางรายพบว่าการใช้รถบรรทุกหกล้อไฟฟ้าดัดแปลง สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 175,000 บาทต่อปี และคืนทุนภายในเวลา 3 ปี นอกจากความคุ้มค่าด้านต้นทุนแล้ว ยังอุ่นใจในเรื่องของการบริการหลังการขายและการประกันด้วย Panus Care ที่บริษัท ฯ พร้อมดูแลทุกเส้นทางการขับขี่อีกด้วย

นับว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ได้สร้างสรรค์นวัตกรรม แสดงผลงานวิจัยและพัฒนาในระดับความพร้อมในการขยายผลเชิงพาณิชย์ ในงาน Low Carbon City & EV Expo 2022 ณ จังหวัดนครราชสีมา โดยก่อนหน้านี้ได้แสดงผลงาน รถบรรทุกสิบล้อไฟฟ้าดัดแปลงในงาน Bangkok International Motor Show 2022 ณ อิมแพค ชาเลนเจอร์ กรุงเทพฯ สำหรับผู้ประกอบการหรือท่านที่สนใจสามารถติดต่อ ได้ทาง Line OA: panusdrive หรือโทร 08 0073 9483

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ