“สสว.” ผุดมาตรการ “SME ปัง ตังได้คืน” อัดฉีดงบ 400 ล้าน ดันให้ SME 6,000 ราย พัฒนาธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS

วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

“สสว.” ผุดมาตรการ “SME ปัง ตังได้คืน” อัดฉีดงบ 400 ล้าน ดันให้ SME 6,000 ราย พัฒนาธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS


สสว. เปิดมาตรการใหม่ล่าสุด “SME ปัง ตังได้คืนภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ Business Development Service อัดฉีดงบกว่า 400 ล้านบาท ให้เอสเอ็มอีใช้บริการพัฒนาธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS (https://bds.sme.go.th/) ตั้งเป้าปี 2565 ช่วยเอสเอ็มอีให้ได้กว่า 6,000 ราย

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสวฺ.) กล่าวว่า สสว. เริ่มดำเนินโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ Business Development Service มาตั้งแต่ต้น ปี 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการมีโอกาสเข้าถึงบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเลือกประเภทของบริการที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจตัวเองได้ เรียกว่า Business  Development Service  หรือ BDS โดย สสว. จะอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาให้แก่ผู้ประกอบการ แบบร่วมด้วยช่วยจ่ายในสัดส่วนร้อยละ 50 – 80 ตามขนาดของธุรกิจ สูงสุดถึงรายละ 200,000 บาท

ในปีนี้ สสว. ได้เตรียมงบประมาณเพื่อช่วยอุดหนุนผู้ประกอบการกว่า 400 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการกว่า 6,000 ราย มุ่งเน้นการอุดหนุนพัฒนาใน 3 ด้าน คือ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและการตลาด และการพัฒนาการตลาดต่างประเทศ

นายวีระพงศ์ กล่าวเสริมว่า แนวคิดหลักของมาตรการใหม่ล่าสุดของ สสว. ที่มีชื่อว่า SME ปัง ตังได้คืน คือ ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้พลิกฟื้นและพัฒนาธุรกิจให้ก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง โดยเบื้องต้น สสว. พิจารณาผู้ประกอบการใน 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ 1. กลุ่มท่องเที่ยว (Restart) เช่น โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร บริการเพื่อสุขภาพ นำเที่ยวหรือจำหน่ายของที่ระลึก เพื่อพลิกธุรกิจขานรับนโยบายเปิดประเทศ 2. กลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่ม (Food) รวมไปถึงการผลิตยาและสมุนไพร 3. กลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve เช่น อุตสาหกรรมการบิน อากาศยานและเครื่องมือแพทย์ และ 4. กลุ่ม BCG เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว กลุ่มเกษตรแปรรูป และการค้าและบริการอื่น ๆ

ข้อดีของมาตรการ SME ปัง ตังได้คืน คือ นอกจากเอสเอ็มอีจะโตขึ้นจากการพัฒนาบริการด้านมาตรฐานจนทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้น จนปังแล้ว เอสเอ็มอีก็ต้องได้ตังคืนด้วย ซึ่งมองว่าได้ตังคืนสองต่อ คือ ตังได้คืน ต่อที่ 1 จากการที่เอสเอ็มอีพัฒนาเสร็จสิ้นแล้ว จะได้เงินคืนจาก สสว. 5080% ไม่เกิน 200,000 บาท และตังได้คืน ต่อที่ 2 คือ หลังจากที่เอสเอ็มอีได้รับการพัฒนาธุรกิจจากการที่ได้รับมาตรฐานต่างๆ และได้กำไรกลับมาให้สู่ธุรกิจผอ.สสว. ระบุ

ด้านคุณสมบัติของเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการคือ กลุ่มธุรกิจ Micro SME หรือรายย่อย มีรายได้ 1.8 ล้านบาทต่อปี จะได้รับสิทธิ์ในการช่วยเหลืออุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาไม่เกิน 80% สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท กลุ่มธุรกิจขนาดย่อม ในภาคการผลิต มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี และภาคการค้า และภาคบริการ มีรายได้ไม่เกินปีละ 50 ล้านบาท รับเงินสนับสนุนร้อยละ 50 - 80 สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดย สสว. ตั้งเป้าจะพัฒนาและให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี 6,000 ราย

สำหรับผู้ให้บริการทางธุรกิจซึ่งเป็นส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในด้านการยกระดับมาตรฐาน ด้านการตลาด ที่ขึ้นทะเบียนบนระบบ BDS เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้มีจำนวนกว่า 80 หน่วยงาน และขึ้นบริการบนระบบแล้ว 100 บริการ ซึ่งบริการที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ บริการการจัดทำฉลากโภชนาการ บริการเตรียมความพร้อมเพื่อรับรองเครื่องหมายทางเลือกสุขภาพ บริการขออนุญาต อย. และบริการให้คำปรึกษาการจัดทำระบบมาตรฐานฮาลาล เป็นต้น ซึ่งคาดว่า หลังจากนี้ สสว. จะสร้างให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างโอกาสและสร้างการเติบโตให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับบริการและการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS (https://bds.sme.go.th/) โดยขั้นตอนการรับบริการมีเพียง 3 ขั้นตอน คือ

1) ยืนยันตัวตนเป็นผู้ประกอบการตามคุณสมบัติที่โครงการระบุ รอแจ้งผลอนุมัติผ่าน SMS และอีเมล

2) ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อได้รับการอนุมัติ เอสเอ็มอีต้องเลือกผู้ให้บริการที่สนใจ แล้วจึงจัดทำข้อเสนอการพัฒนาบนระบบ พร้อมแนบใบเสนอราคาตามแพ็กเกจที่เลือกมาบนระบบ รอแจ้งผลอนุมัติผ่าน SME และอีเมล

3) ทำสัญญาข้อตกลงกับ สสว. และเริ่มการพัฒนากับหน่วยธุรกิจที่ได้เลือกไว้ เมื่อเสร็จสิ้นจึงนำใบเสร็จมาเบิกค่าใช้จ่ายที่ สสว. โดยปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว และเอสเอ็มอีสามารถยื่นขอรับการพัฒนาได้ถึง 31 กรกฎาคม 2565 และพัฒนาจนเสร็จสิ้นได้ถึง 30 กันยายน 2565 สนใจดูรายละเอียดได้ที่ https://bds.sme.go.th/ หรือ โทร. 1301 หรือโทร. 0 22983190 หรือ 0 2298 3050 หรือติดต่อที่ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (ศูนย์ OSS ประจำจังหวัดทุกจังหวัด)



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ