นับตั้งแต่ประเทศไทยจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯของไทยได้รับการยอมรับจากนักลงทุนไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) เป็นที่ยอมรับด้านความยั่งยืนผ่านสายตาเวทีระดับโลก สะท้อนจากบริษัทจดทะเบียนจำนวน 24 บริษัทสามารถเข้าคำนวณในดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ที่มีจำนวนสูงสุดในอาเซียน ขณะที่ในปี 2564 ตลาดหลักทรัพยฯมีการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) คิดเป็นมูลค่าสูงกว่า 4.5 แสนล้านบาท นับเป็นมูลค่าสูงสุดในภูมิภาคเอเชียและติดอันดับที่ 18 ของโลก
ล่าสุด นับเป็นข่าวดีของนักลงทุน และผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs และ Startups เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯเตรียมเปิดบริการ "กระดานซื้อขายหุ้นแห่งที่ 3" หรือ "LiVE Exchange" เพื่อช่วยสร้างโอกาสที่ดีให้กับผู้ประกอบการ SMEs และ Startups เข้าถึงแหล่งเงินทุนนำไปต่อยอดสร้างการเติบโตธุรกิจและยังควบคู่ไปกับการเปิดโอกาสให้กับผู้ลงทุนเข้ามาแสวงหาผลตอบแทนในบริษัทที่มีโอกาสเติบโตก้าวกระโดดในอนาคต
โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มอบหมายให้ นายประพันธ์ เจริญประวัติ เป็นผู้จัดการ LiVEx เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่นายประพันธ์ เป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ซึ่งนายประพันธ์มีส่วนขับเคลื่อนและพัฒนา LiVEx ตั้งแต่เริ่มแรก โดยมีผลตั้งแต่ 15 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป
"ประพันธ์" บอกว่า LiVEx ออกแบบขึ้นเพื่อธุรกิจ SMEs และ Startups ที่ต้องการเติบโต แต่ยังขาดโอกาสต่อยอดธุรกิจ ได้เข้ามาสร้างการเติบโตและก้าวไปสู่เส้นทางตลาดทุน ภายใต้เงื่อนไขที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และเมื่อธุรกิจสามารถสร้างการเติบโตยกระดับไปจนถึงการเข้าจดทะเบียนใน SET และ mai เราก็พร้อมที่จะสนับสนุนผลักดันไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ LiVEx เป็นอีกทางเลือกในการเพิ่มโอกาสลงทุนสำหรับผู้ลงทุนในตลาดทุนไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และผ่านความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. แล้ว การจดทะเบียนและการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) จะมีผลบังคับใช้ 31 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป
สาระสำคัญของเกณฑ์การจดทะเบียนและการซื้อขายหลักทรัพย์ใน LiVEx มีดังนี้
• เกณฑ์ที่เกี่ยวกับการเข้าจดทะเบียนและการเป็นบริษัทจดทะเบียน เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นในวงกว้างจาก ก.ล.ต. และเป็น SMEs ขนาดกลางขึ้นไป ตามนิยาม สสว. หรือ เป็น Startups ที่มี VC (Venture Capital) หรือ PE (Private Equity) ร่วมลงทุน นอกจากนี้ ผู้บริหารบริษัทต้องผ่านหลักสูตรอบรมการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดทุนด้วย ซึ่งภายหลังเข้าจดทะเบียนแล้ว บริษัทมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลตามรอบระยะเวลา และตามเหตุการณ์
• เกณฑ์ที่เกี่ยวกับการซื้อขาย กำหนดให้ซื้อขายผ่านสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะผู้ลงทุนที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด ในรูปแบบ Prepaid โดยต้องมีหุ้น หรือเงินเพียงพอสำหรับการซื้อขาย โดยเปิดให้ซื้อขายแบบ Auction ด้วยวิธีจับคู่อัตโนมัติ (Automatic Order Matching : AOM) วันละ 1 รอบ ระหว่าง 9.30–11.00 น. พร้อมชำระราคาและส่งมอบแบบ Gross Settlement ภายในวันเดียวกันกับวันที่ซื้อขาย (วันที่ T) และไม่มีการกำหนด Ceiling & Floor และ Circuit Breaker
ข้อแตกต่างระหว่าง LiVE Exchange, mai และ SET
4 ข้อแตกต่าง เพื่อประกอบการตัดสินใจเบื้องต้น ระหว่าง LiVE Exchange, mai และ SET
1. ขนาดกิจการ
- LiVE Exchange: ธุรกิจ SMEs และ Startups
- SET และ mai: ธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่
2. เกณฑ์การกำกับดูแล
- LiVE Exchange: เพื่อให้กลไกการกำกับดูแลมีความเหมาะสมและไม่เป็นภาระมากเกินไปในการระดมทุน จึงพัฒนาหลักเกณฑ์ภายใต้แนวคิด ‘Light Touch Supervision’ มีการผ่อนปรนเกณฑ์บางเรื่อง และเน้นการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญ อาทิ งบการเงิน อาจจะทำเพียง 2 ครั้ง คือ ครึ่งปีและรายปี การระดมทุนไม่จำเป็นต้องแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน โดยผู้เสนอขายหลักทรัพย์สามารถจัดเตรียมข้อมูลได้ด้วยตนเอง
- SET และ mai: การกำกับดูแลด้วยกฎเกณฑ์ที่เข้มกว่า และมีการติดตามการปฏิบัติตามเกณฑ์ (Full Supervision)
3. ประเภทผู้ลงทุน
- LiVE Exchange: จำกัดประเภทผู้ลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงในการลงทุน โดยพิจารณาจากฐานะทางการเงิน ความรู้ และประสบการณ์ในการลงทุน รวมทั้งมีความเข้าใจในความเสี่ยงในหลักทรัพย์ที่จะลงทุน
- SET และ mai: ผู้ลงทุนทุกประเภท
4. วิธีการซื้อขาย
- LiVE Exchange: ซื้อขายเป็นรอบ (Auction) โดยช่วงแรกจะเปิดซื้อขายวันละหนึ่งรอบในช่วงเช้า ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ในรูปแบบ Prepaid (ผู้ขายต้องมีหุ้นอยู่ในพอร์ตและผู้ซื้อจะต้องมีเงินพร้อมจ่าย) ชำระราคาและส่งมอบภายในวันที่ T
- SET และ mai: ซื้อขายต่อเนื่อง (Continuous Trading) ตามช่วงเวลาที่กำหนดผ่านบริษัทหลักทรัพย์ ชำระราคาและส่งมอบในวันที่ T+2