นิรโทษกรรม ทักษิณ ปลดปล่อย มาร์ค-สุเทพ ความเหมือนในความยุ่งเหยิง

วันพุธที่ 06 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นิรโทษกรรม ทักษิณ ปลดปล่อย มาร์ค-สุเทพ ความเหมือนในความยุ่งเหยิง


วิเคราะห์การเมือง : by นพคุณ ศิลาเณร

ขณะนี้ อารมณ์มวลชนเสื้อแดงถูกประเมินว่า อยู่ระหว่าง "ไม่พอใจกับ แตกแยก" แต่เส้นแบ่งอารมณ์ทั้งสองกลับ "หนาทึบ" ยิ่ง ดังนั้นความไม่พอใจจะพัฒนา ไปสู่ความแตกแยกจึงยากลำบากและไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ

ความไม่พอใจของคนเสื้อแดงมีจุดเริ่มต้นจาก "ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม" ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรค เพื่อไทย ถูกคณะกรรมาธิการแปรญัตติแปลง เนื้อหาให้ "ปลดปล่อย" นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หลุดพ้นจากข้อหา "สั่งฆ่าประชาชน"

ส่วนอารมณ์แตกแยกนั้น เป็นการยกระดับความไม่พอใจคณะกรรมาธิการฯ ไปสู่ข้อสงสัย "จุดยืน" ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็น เสียงข้างมากในคณะกรรมาธิการฯ นั่นเท่ากับ พรรคเพื่อไทย "ไฟเขียว" ให้แปลงเนื้อหาการนิรโทษกรรมเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อ "อภิสิทธิ์-สุเทพ"

มวลชนเสื้อแดงรุมวิจารณ์จุดยืนพรรค เพื่อไทยอย่างรุนแรง แล้วลากยาวไปตำหนิ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า เอาตัวรอดและอยู่ เบื้องหลังการรอมชอมประโยชน์ให้อภิสิทธิ์-สุเทพ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยนักโทษเสื้อแดงออกจากคุก ซ้ำร้ายยังไม่อนาทรร้อนใจกับ "วิญญาณคนตาย" จำนวน 100 ศพ ในเหตุการณ์ล้อมปราบกลางกรุงเทพฯเมื่อเมษา-พฤษภา 2553 ซึ่งมวลชนเสื้อแดงต้องการลากคนสั่งฆ่ามาลงโทษตามกฎหมาย

แต่เส้นแบ่งความไม่พอใจกับความแตกแยกนั้น กลับถูกอธิบายด้วยกฎศาสนาในหลัก "เวรกรรม" ว่า แม้เอาผิดฆาตกรตาม กฎหมายไม่ได้ แต่เวรกรรมจะลงโทษคนใจอำมหิตจนตกนรกหมกไหม้

ดังนั้น แรงกดดันที่เกิดจากร่างกฎหมาย นิรโทษกรรม ย่อมทำให้อารมณ์ไม่พอใจของคนเสื้อแดงได้รับการผ่อนคลายความรุนแรงลง ด้วยการนำกฎแห่งเวรกรรมมาย้อมใจ แนวโน้มเกิดการ "แตกหัก" แบบประกาศแยกทางหรือเลิกสนับสนุนพรรคเพื่อไทยคงมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

กล่าวถึงที่สุดแล้ว "ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย" ย่อมสูญเสียทางการเมืองกับคนเสื้อแดงอยู่บ้าง แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นแตกหัก ส่วนแรงกดดันหนักหน่วงจากฝ่ายต่อต้านทั้งพรรค ประชาธิปัตย์ และกลุ่มประชาชนอื่นๆ นั้น เป็น เพียงปฏิกิริยาของ "ฝ่ายตรงข้าม" ต้องหาเหตุโวยวายแล้วฉวยโอกาสไล่รัฐบาลและล้มพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นสิ่งปกติในทางการเมือง ที่ดำเนินอยู่เป็นประจำ

+ ความเหมือนในความแตกต่าง

ไม่ต้องสงสัยในท่าทีเกี่ยวกับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่ง ชาติ หรือ นปช.เป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหว เพราะพลังส่วนนี้ไม่ต้องการให้ "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ได้ประโยชน์จากการนิรโทษกรรม

ความชัดเจนในจุดยืนอยู่ที่แกนนำอย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ มีความตั้งใจให้ "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ถูกดำเนินการตามกฎหมายจากเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนเมื่อเมษา-พฤษภา 2553

รหัสความไม่พอใจนั้น เน้นหนักกับสำนึกคนเสื้อแดงในกรณี "ความตายและคนติดคุก" ซึ่งเกิดจากการกระทำในสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล

"จตุพร-ณัฐวุฒิ" แยกแยะและแสดง ออกชัดเจนว่า พวกเขาสนับสนุนให้ "ทักษิณ" ได้ประโยชน์จากร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่เรียกว่า "เหมาเข่ง" เพราะทักษิณไม่ได้เกี่ยวข้องกับความตายและคนติดคุก

แต่คือผู้ถูกอำนาจคณะรัฐประหารปี 2549 ยัดเยียดความผิดให้ ด้วยการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งเป็นองค์กรเถื่อนในความหมายกระบวนการยุติธรรมมาเล่นงานทักษิณในข้อหาคอร์รัปชั่น

สำหรับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น แกนนำทั้งสองตอกย้ำมาตลอดว่า ต้องการให้ คนติดคุกมีอิสรภาพ และเอาผิดกับคนที่ทำให้ เกิดความตาย ดังนั้น พวกเขาจึงล็อกเป้าการ นิรโทษกรรมไม่เกี่ยวกับ "แกนนำ" เพื่ออภิสิทธิ์-สุเทพถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ความไม่พอใจของแกนนำเสื้อแดงและมวลชนเสื้อแดงอยู่เพียงแค่อภิสิทธิ์-สุเทพได้ประโยชน์จากการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง

ส่วนอภิสิทธิ์-สุเทพแล้ว กลับไม่พอใจและต้องการต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ในเนื้อหาหลักสำคัญว่า ต้องไม่เอื้อประโยชน์ให้ทักษิณ

เมื่อการแปรญัตติออกมาให้เกิดการนิรโทษกรรมเหมาเข่งแล้ว อภิสิทธิ์-สุเทพ รวมทั้งกลุ่มประชาชนที่ไม่เอาทักษิณจึงโหมแรงต่อต้านอย่างหนัก โดยพลังกลุ่มนี้ลากไปถึงขั้นว่า ถ้าปลดปล่อยทักษิณให้พ้นผิดแล้ว ย่อมมีความหมายถึงต้องคืนเงินจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทที่ถูกยึดด้วยข้อหาคอร์รัปชั่นจาก การขายหุ้นด้วย

ดังนั้น การต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจึงอยู่ที่เป้าหมาย "ต่อต้านทักษิณ" ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงประกาศตลอดเวลาเช่นกันว่า ไม่ต้องการให้นิรโทษกรรมตัวเอง

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ นับเป็นสิ่งแปลกในวงการเมืองไทย เพราะความไม่พอใจของ "คู่ขัดแย้ง" ทั้งสองฝ่ายล้วนสะท้อนถึงความไม่ต้องการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งทั้งสิ้น แต่เป้าหมายของการต่อต้านนั้นกลับมี เงื่อนไขที่แตกต่างกัน

เมื่อพิจารณาอย่างหยาบๆ แล้ว ทุกกลุ่มพลังล้วนใช้เงื่อนไขร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งมาเป็น "เกมการเมือง" ทั้งสิ้น จนทำให้สถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในสภาวะ ยุ่งเหยิงและแทบไร้ทางออก

+ เสียงข่มขู่และสู้เพื่อถอย

สถานการณ์การเมืองนับแต่เดือนพฤศจิกายนจะเคลื่อนไปทางใด ย่อมสุดคาด-คะเน แต่ทุกความเป็นไปล้วนพัวพันกับรหัสตัวเลข 4.6 ทั้งนั้น

รหัสตัวเลข 4.6 ล้วนสัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมืองอย่างน้อย 2 กรณีที่เป็นเงื่อนไขไปสู่ความปั่นป่วนยุ่งเหยิงในสังคม

ตัวเลข 4.6 แรกเกี่ยวข้องกับกรณีศาลโลกจะพิจารณาตีความปัญหา "เขาพระวิหาร" ในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ โดยกรณีนี้ถูกขยายผลจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลว่า หากผลการตีความทำให้ไทยต้องเสียพื้นที่ทับซ้อนจำนวน 4.6 ตารางกิโลเมตรแล้ว

ประชาชนจะออกมาชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อ ไล่รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยโยงใยไปเป็นเกม การเมืองว่า ย่อมเสียพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร แลกกับผลประโยชน์พลังงานในอ่าวไทย

นี่เป็นอีกเกมหนึ่ง และเป็นเรื่องใหญ่

ส่วนรหัสตัวเลข 4.6 ที่สอง เป็นการเชื่อมโยงไปสู่ความสัมพันธ์ในประเด็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง ซึ่งจะทำให้ "ทักษิณ" ได้ประโยชน์เงินจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท กลับคืนมา

นี่เป็นอีกเกมหนึ่ง ซึ่งเป็นความยุ่งเหยิงทางการเมืองในเดือนพฤศจิกายน

แต่เกมรหัสตัวเลข 4.6 ทั้งหมดนี้ ผูกมัดกันไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านครั้งสำคัญอยู่ที่เงื่อนไขต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นหลัก โดยเกมตีความเขาพระวิหารเป็นเพียงการอุ่นเครื่องให้ฮึกเหิมเท่านั้น

จุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหวในเกมกฎหมาย นิรโทษกรรมนั้น จะเปิดฉากขึ้นจากเสียงข่มขู่ ว่า "ผ่านวาระ 3" ด้วยเนื้อหาการนิรโทษเหมาเข่งให้ "ทักษิณ" ได้ประโยชน์แล้ว

สุเทพประกาศว่า จะเป่านกหวีดเคลื่อนขบวนต่อต้านทันที

ปัญหามีว่า เมื่อร่างกฎหมายนิรโทษ-กรรมเป็นเพียง "ร่าง พ.ร.บ." ธรรมดา ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามกระบวนการ 3 วาระ ทั้งสิ้น

แล้ววาระ 3 ของฝ่ายต่อต้านบ่งบอกถึงการพิจารณาในขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภากันแน่ แต่ถึงที่สุดแล้ว "เกมวาระ 3" ย่อมเป็นการยื้อเพื่อหา "ทางออก" ของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลเช่นกัน

สำหรับรัฐบาลแล้ว แสดงท่าทีชัดเจนว่า การพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจะมีหน้าตาออกมาเช่นไร ย่อมเป็นมติของสภา ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล นั่นคือใช้กระบวนการสภา มีจำแนกความรับผิดชอบของรัฐบาล

ส่วนพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาแล้ว ประเมินกันว่า ต้องผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษเหมาเข่งผ่านวาระ 3 ของสภา ผู้แทนอย่างแน่นอน

ฝ่ายเสื้อแดงจะไม่พอใจ หรือพรรคประชาธิปัตย์จะต่อต้าน ย่อมไม่สามารถสู้เสียง ข้างมากในสภาได้

เป้าหมายของพรรคเพื่อไทย คือ ยื้อไปสู่การพิจารณาของวุฒิสภา และนำขั้นตอนการพิจารณาของสองสภามาเป็นทางออกในอนาคตว่า จะผ่านหรือไม่ผ่านต้องเป็นการพิจารณาและความต้องการของสภา ไม่ใช่ของพรรคเพื่อไทย

สิ่งน่าสนใจอยู่ที่ ทำไมพรรคเพื่อไทยจึงกล้าเล่นเกมแรงโดยยืนหยัดดันร่างกฎหมาย นิรโทษเหมาเข่ง และไม่ใส่ใจเล่นเกมนิรโทษฉบับของนายวรชัยที่เป็นเกมเบาๆ กว่ากันเยอะ

และสถานะของการนิรโทษเหมาเข่งในขณะนี้ถูกต่อต้านอย่างกว้างขวาง โดยฝ่ายนักธุรกิจ สายนักวิชาการ ล้วนแสดงจุดยืนไม่เอาด้วยทั้งสิ้น

อยากที่จะหาคำตอบจากพรรคเพื่อไทย ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนทางการเมืองมาตลอด คือ พยายามผลักดันเกมการเมืองให้ถึงที่สุด เมื่อถึงทางตัน ถูกต่อต้านอย่างกว้างขวางจึงออกอาการ "ถอย" เอาง่ายๆ

เกมร่างกฎหมายนิรโทษเหมาเข่งก็เช่นกัน พรรคเพื่อไทยย่อมสู้ให้ถึงที่สุด แล้วก็ถอยเอาง่ายๆ ได้เช่นกัน แต่จะถอยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใดนั้น สุดจะคาดเดาได้


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ