WHO แถลงการณ์ เตือนอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2564

WHO แถลงการณ์ เตือนอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า


นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ได้ส่งจดหมายถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยจดหมายระบุใจความสำคัญใจคือ หน่วยงานสหประชาชาติในประเทศไทยขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของรัฐบาลไทยในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และขอสนับสนุนรัฐบาลไทยในการห้ามจำหน่ายและนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากนโยบายนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะปกป้องประชาชนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกป้องเยาวชนจากอันตรายของการสูบบุหรี่ทุกชนิด อีกทั้งยังเป็นเป็นไปตามบทบัญญัติของกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบที่ประเทศไทยได้ร่วมเป็นภาคีอยู่ด้วย

“หน่วยงานสหประชาชาติในประเทศไทยให้คำมั่นสัญญาที่จะสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ในการควบคุมการสูบบุหรี่ทุกประเภท และปกป้องประชาชนคนรุ่นปัจจุบัน และเยาวชนคนรุ่นใหม่จากพิษภัยของการสูบบุหรี่ และโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ” คุณเรอโน กล่าว

ขณะที่ แพทย์หญิงเรณู การ์ก รักษาการผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า การสูบบุหรี่ทุกชนิดคร่าชีวิตคนไทยกว่า 70,000 คนต่อปี และก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าถึง 9.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.65 ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) การสูญเสียชีวิตและมูลค่าทางเศรษฐกิจเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ จากนโยบายที่มีความก้าวหน้าและเข้มแข็งของรัฐบาลไทย อัตราการสูบบุหรี่โดยรวมของประชากรไทยจึงลดลงในช่วงปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ากังวลว่าอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กนักเรียนไทย (อายุ 13-15 ปี) กลับเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 3.3 ในปี 2558 เป็น ร้อยละ 8.1 ในปี 2564 บุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยต่อความพยายามในการควบคุมการบริโภคยาสูบของไทย และลดทอนความสำเร็จที่สร้างมาในช่วงหลายทศวรรษ

“ผลการศึกษาหลายฉบับบ่งชี้ว่าบุหรี่ไฟฟ้า อันตรายต่อสุขภาพและไม่ปลอดภัย ถึงแม้ว่าผลกระทบในระยะยาวของบุหรี่ไฟฟ้าจะยังอยู่ในระหว่างการศึกษา แต่ก็มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นที่แสดงให้เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้นอันตราย บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เยาวชนเสี่ยงที่จะเสพติดนิโคตินไปตลอดชีวิต และกลายไปเป็นผู้ที่สูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและธรรดาไปพร้อมกัน ดังนั้น แต่ละประเทศจึงควรบังคับใช้นโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างครอบคลุมและสนับสนุนด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อลดการเสพติดนิโคตินและการการบริโภคยาสูบของประชาชนตามบทบัญญัติของกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบ” แพทย์หญิงเรณู กล่าว



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ