"หมดสิทธิ์กลับบ้าน?"

วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556



วิเคราะห์การเมือง : by นพคุณ ศิลาเณร

นานถึง 8 ปีแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศอย่างโดดเดี่ยว แม้ความรวยทำให้ไม่ลำบาก แต่ "ความอยุติธรรม" จากการเมืองกลับกัดกินใจ ทำให้อยู่เหงาๆ และเจ็บปวดใจร้าวลึก...

เขาเฝ้ารอวัน "กลับบ้าน" ให้มาถึงโดยเร็ว ถึงมีเงินมากสามารถซื้อ "ที่อยู่" เป็นที่พักพิงได้ใหญ่โต แต่ทักษิณกลับหา "ความอบอุ่นจากบ้าน" ไม่ได้

ไม่แปลกหรอก ชีวิตทุกช่วงวันในวัย 64 ปี ทักษิณย่อมครุ่นคิด ค้นหาลู่ทางกลับ ไทยด้วยใจที่เปี่ยมหวัง ซึ่งไม่เคยสมหวังสักครั้ง แต่เขายังเฝ้ารอโอกาสตามประสา นักสู้ผู้ต้องการความยุติธรรมเพื่อกอบกู้เกียรติภูมิ "ชินวัตร" ให้กลับมาอย่างมีศักดิ์ศรี

นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยไปเยี่ยมในต่างประเทศจากหลายพื้นที่ ทั้งฮ่องกง สิงคโปร์ และจีน รวมทั้งดูไบ ทำให้ เกิดความสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แทบทุกครั้งเขาได้แต่พร่ำตามประสาอารมณ์คนไกลบ้านกับนักการเมืองมากหน้าหลายตา อยู่เสมอว่า "อยากกลับบ้าน"

และล่าสุดยังร้องเพลง "คิดฮอดบ้านแฮง" ซึ่งเป็นเพลงบอกเล่าชีวิตในต่างแดนและอารมณ์อยากกลับมาเมืองไทยให้มวลชนเสื้อแดงในต่างแดนได้ฟัง ได้ซาบซึ้ง

+ บ้านอบอุ่นไม่ได้สร้างจากใจโลเล

ในวันนี้และวันต่อๆ ไป...ดูเหมือนว่า บ้านคือสิ่งเดียวที่ปรารถนามากกว่าการ เมืองและอำนาจบารมี แต่กลับไม่มีใครเชื่อใจทักษิณ

จะให้เชื่อใจได้อย่างไร เพราะบ้านเป็นศูนย์รวมทุกอย่างตามความต้องการของมนุษย์ เมื่อมีบ้านย่อมมีหลักปักฐานให้ แสวงหาสิ่งปัจจัยนอกบ้านมาตอบสนองอารมณ์ปรารถนาไม่หยุดหย่อน...

มนุษย์เป็นเช่นนี้และทักษิณก็อยู่ในอารมณ์เช่นนั้น มิแตกต่างกัน

ดังนั้น การเมืองเล่นกันรุนแรง จวน-เจียนเผชิญหน้าแตกหัก เกม "ต้าน-ล้ม" ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษล้วนอยู่ในรหัส "กีดกันทักษิณกลับบ้าน" เพื่อรักษาบ้านของกลุ่มอำนาจเก่าไว้ให้ยั่งยืน

รหัสต้านทักษิณกลับบ้านสะท้อนอยู่ภายใต้เงื่อนไขต้านการนิรโทษกรรมเหมาเข่งสุดซอย สิ่งน่าสนใจอยู่ที่แรงต่อต้าน จากชนชั้นกลาง จากสถาบันการศึกษาที่พร้อมเพรียงรวมพลังกันครั้งสำคัญ ทั้งผู้ พิพากษา หมอ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ล้วนออกมาชูป้ายต้าน ไม่มีสถาบันไหนแตกแถว

ประเมินกันง่ายๆ ว่า หากไม่มีอำนาจชั้นสูงสั่งการ ย่อมไม่เกิดความพร้อมเพรียง ผนึกกำลังต้านได้อย่างเป็นเอกภาพเช่นนี้

และนี่คือ อารมณ์ชิงชังทักษิณที่ซ่อนอยู่ในใจคนชั้นกลางยังมีพลังอยู่สูง

อารมณ์ชิงชังเหล่านั้น ไม่ต้องการคำ อธิบายด้วยเหตุผล แต่พวกเขาต้องการแสดงพลังเพื่อบรรลุเป้าหมายการกีดกันทักษิณกลับบ้านเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ โอกาสกลับบ้านเพื่อเก็บ รับความอบอุ่นจากบ้านจึงค่อยๆ ริบหรี่ลง ไปเรื่อยๆ

แม้ร่ำรวยเพียงใด แต่ทักษิณไม่เคย สร้างบ้านในใจได้สำเร็จเลย นั่นเกิดจากใจ โลเลจึงถูกหลอกซ้ำซาก

+ ถูกหลอกซ้ำซาก

"ทักษิณ" ถูกหลอกมานับครั้งไม่ถ้วน ว่า "จะได้กลับบ้าน" ...ใครสามารถหลอกหรือทำให้ทักษิณผู้มีทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ และอำนาจการเมืองเหนือนักการเมืองทั่วไทยเชื่อได้เพียงนั้น

หากพิจารณาเหตุการณ์ถูกหลอก ย่อมเห็นเกมอำนาจได้เบื้องต้น

ครั้งแรก ช่วงขณะเกิดรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 ทักษิณเกือบตัดสินใจ "ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น" สู้ แต่นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว. กระทรวงการต่างประเทศสมัยนั้นเตือนไว้ พร้อมกับมีสายทางไกลให้ทักษิณอยู่เฉยๆ สักพัก แล้วจะได้กลับบ้าน

ครั้งสอง ทักษิณประกาศเดินขึ้นยอดเขาด้วยตัวเอง ขอร้องไม่ให้คนเสื้อแดงมา ส่ง มวลชนเสื้อแดงงงเป็นไก่ตาแตก พร้อม บ่นพึมพำว่า "อารมณ์ไหน (ว่ะ) นี่"

แต่อีกไม่นาน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ. และคนที่เป็นผู้นำทำรัฐประหาร เสนอร่างกฎหมายปรองดองเข้าสู่สภา ทุกอย่างจึงกระจ่างขึ้นว่า เกิดการประนีประนอมกันในระดับสูงแล้ว

ดังนั้น มวลชนเสื้อแดงจึงต้องถอยห่างออกไปไกลๆ จาก "ดีลอำนาจ" นี้

ครั้งสาม คือการแปลงร่างกฎหมาย นิรโทษกรรมในชั้นกรรมาธิการให้เป็นเหมา เข่ง โดยมีเสียงซุบซิบอยู่เบื้องหลังว่า ดีลอำนาจนี้ "เปิดไฟเขียว" สว่างโล่งให้ทักษิณ กลับบ้านได้

แต่กลับถูกย้อนรอยด้วยมวลชนชั้นกลางออกมาเป่านกหวีดต่อต้านเสียงดังทั่วประเทศ

เพียงแค่สามเหตุการณ์สำคัญนั้น ย่อมสะท้อนว่า ทักษิณพยายามหาทางกลับบ้านด้วยการเจรจาขอไฟเขียวจากกลุ่ม อำนาจเก่า และทุกครั้งล้วนได้รับความมั่นใจ แต่ก็ถูกหลอกซ้ำซาก ไม่เข็ด ไม่จำ

จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.และ หัวหมู่นักต่อสู้ของมวลชนเสื้อแดงประกาศ เตือนครั้งล่าสุดว่า "ถูกหลอกมาตลอด ยังไม่เข็ดอีกเหรอ" แต่ทักษิณยังมีความเชื่อด้วยจิตใจโลเลอยู่เสมอว่า คงได้กลับบ้าน

"ทักษิณ" ส่งสัญญาณใจล่าสุดจาก นอร์เวย์ว่า "ผมมั่นใจว่ายังไงก็ได้กลับ"

ทำไมถึงมั่นใจ ทั้งๆ ที่หนทางกลับบ้าน อย่างสันติโดยผ่านการเจรจาชั้นสูง กลับถูกหลอกมาถึงสามครั้ง ยังจะเหลือหนทาง ใดอีกเล่าให้ทักษิณมั่นใจว่า จะได้กลับบ้าน

นอกจากหนทางที่ผ่านการเผชิญหน้า ขั้นแตกหักเท่านั้น เพราะเส้นทางกลับบ้าน ด้วยกระบวนการออกกฎหมายจากสภามา ถึงขั้น "ปิดประตู" เสียแล้ว

ในเกมออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ถูกแรงต้านอย่างหนักหน่วง ถูกปิดฉากลง ด้วยความพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทยและทักษิณอย่างเจ็บปวดที่สุด เพราะความแพ้ เกิดจากการประเมินสถานการณ์ไม่รอบคอบ ถูกคนรอบข้างหว่านล้อมเพื่อเอาใจ

ดังนั้น การอ้างเหตุผลหลากหลายด้วยการประเมินผ่านสายตาของ "ผู้ชนะ" จึงเกิดความผิดพลาดอย่างมหันต์

นี่คือบทเรียนที่ได้จากความผยองของพรรคเพื่อไทยและฝ่ายยุทธศาสตร์ของพรรค ที่คนวงในเรียกว่า ฝ่ายทีมงาน "Starbucks"

หมกมุ่นแต่กลิ่นรสชาติกาแฟ Starbucks จนละเลยตรวจสอบเหตุผล และมีจุดยืนกับมวลชน

จิตใจที่ว่าอยู่ฝ่ายคุมอำนาจทั้งรัฐบาล และสภา พร้อมๆ กับประเมินออกไปในทำนองว่า กลุ่มต่อต้านไร้พลังหมดแรงมาต่อต้านแล้ว ย่อมเป็นโอกาส "หักดิบ" ด้วยใจของผู้ชนะเกิดขึ้น แล้วจึงนำความแพ้ยับเยินมาให้

การประเมินเช่นนั้น เคยเกิดขึ้นมาแล้วในบทสนทนากับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กระทรวงกลาโหม ที่บอกว่า "หากทหารเอาด้วย แรงต่อต้านก็ไม่ใช่ปัญหาสำคัญ"

นั่นคือการหักดิบในการแก้เนื้อหานิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งเพื่อให้ทหารได้ประโยชน์แลกกับทักษิณได้กลับบ้าน แล้ว สลัด "ฆาตกรสั่งฆ่าคนตาย" ให้ลอยนวล จึงถูกปฏิเสธจากทุกฝ่าย จนถูกรุกไล่ให้พรรคเพื่อไทยถอนร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปรองดองจำนวน 5 ฉบับที่ค้างในสภา ออกทั้งหมด

+ กลับแบบอาการตรอมใจ

อะไรทำให้เกิดการแก้เนื้อหานิรโทษกรรมเป็นเหมาเข่ง คำตอบอยู่ที่อารมณ์อยากกลับบ้านของทักษิณมาอยู่ในจุดสูงสุดแล้ว จึงเกิดอาการออกไปในทางหน้ามืดยอมสละทุกอย่างกระทั่งมวลชนเสื้อแดงเพื่อแลกเปลี่ยนกับโอกาสมองเห็น ด้วยสายตาผู้ชนะ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ และง่ายๆ

เมื่อเกมนิรโทษกรรมเหมาเข่งทำให้ "ทักษิณ-เพื่อไทย" แพ้ และยังสูญเสียมวลชนเสื้อแดงอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องหันกลับมาตรวจสอบการทุ่มเทใจให้ครั้งใหญ่

ราวกับเกิดการปฏิรูปทางใจของคนเสื้อแดง

แต่แรงต่อต้านนิรโทษเหมาเข่งจากคนชั้นกลางได้สะท้อนว่า หนทางเจรจาประนีประนอมเริ่มริบหรี่ลงเช่นกัน ดังนั้น หากโอกาสจะทำให้ทักษิณได้กลับในอนาคต จนถึงประกาศว่า "ผมมั่นใจ ว่ายังไงก็ได้กลับ"

ย่อมเหลือเพียง หนทางแตกหักทาง การเมืองเท่านั้น

ความวุ่นวายทางการเมืองในอนาคต หากพิจารณาผ่าน "ความอยากทางใจในโอกาสกลับบ้าน" ของทักษิณแล้ว ย่อมมีความน่าระทึกผสมส่วนอยู่อย่างมาก

การเมืองในอนาคตไม่ได้อยู่ที่เนื้อหา "เหตุผลและความถูกต้องยุติธรรม" แต่อยู่ที่การหาหนทางกลับบ้านของทักษิณและการกีดกันต่อต้านไม่ให้ทักษิณกลับบ้านของกลุ่มอำนาจเก่าและเครือข่าย

ทุกฝ่ายจึงคำนึงแต่เป้าหมาย ดังนั้น ยุทธวิธีจึงนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายเท่านั้น เมื่อหนทางออกกฎหมายจากสภามาสนองตอบไม่ได้แล้ว ผสมกับอารมณ์คน ชั้นกลางต่อต้าน

ปัจจัยนี้ ย่อมบ่งถึงสถานการณ์เบื้อง หน้าชัดเจนสูงยิ่งคือ หนทางกลับบ้านของ ทักษิณแทบหมดสิ้นลง นอกจากเกิด "อุบัติเหตุการเมือง" นำไปสู่การเผชิญหน้าแตกหักทางอำนาจ จึงพอจะทำให้มีโอกาสเกิดขึ้นได้บ้าง

แต่สิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยนกับหนทางนั้นมีความหมายว่า ทักษิณต้องอยู่ด้วย "ความตรอมใจ" ในบ้านที่ขาดความอบอุ่น

แล้วบ้านอบอุ่นที่ทักษิณต่อสู้และแสวงหาให้ได้มาอยู่ที่ไหน เพราะขณะนี้ มีแนวโน้มว่า กลายเป็นบ้านร้างที่ไม่เคย สร้างเสร็จจากใจที่โลเลเสียแล้ว


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ