ทางคู่สายประวัติศาสตร์ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” เจาะอุโมงค์ลอดภูเขายาวที่สุดในไทย

วันพฤหัสบดีที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ทางคู่สายประวัติศาสตร์ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” เจาะอุโมงค์ลอดภูเขายาวที่สุดในไทย


รถไฟ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” ทางคู่สายประวัติศาสตร์ที่ประชาชนรอคอย เจาะอุโมงค์ลอดภูเขายาวที่สุดในไทย ผุดแลนด์มาร์กท่องเที่ยวแห่งใหม่ เปิดประตูการค้าชายแดนเชื่อม ไทย-อาเซียน-จีน”

รถไฟทางคู่สายเหนือ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” เป็นเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ ที่ใช้เวลาดำเนินการยาวนานมาก นับตั้งแต่เริ่มมีการศึกษาโครงการเมื่อปี 2503 ผ่านรัฐบาลหลายยุค มีการปรับนโยบายหลายต่อหลายครั้ง จากหลายปัจจัยทั้งด้านการเมือง ด้านงบประมาณที่จำกัด  และยังถูกต่อต้านจากกลุ่มเอ็นจีโอ ด้วยเพราะเป็นเส้นทางสายใหม่ที่ต้องมีการเวนคืนตลอดโครงการ แต่ทว่า! กลับเป็นโครงการที่มีเสียงเรียกร้องจาก ประชาชน  ภาคเอกชน หอการค้าจังหวัด ต้องการให้ก่อสร้างมากที่สุดสายหนึ่ง

จนกระทั่งปี 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติโครงการ หลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้นำเสนอผลการศึกษา ซึ่งพบว่าโครงการมีผลตอบแทนและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นเส้นทางรถไฟจะมีศักยภาพสูง ทั้งด้านการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว ถือเป็นการปลดล็อค 60 ปี ที่รอคอย!!!

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีระยะทาง  323.10 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 72,921 ล้านบาท  กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 72 เดือน ( 6 ปี)   มีจุดเริ่มต้นจากสถานีเด่นชัย จ.แพร่ มุ่งหน้าขึ้นเหนือผ่านจังหวัด ลำปาง พะเยาสิ้นสุด ที่บริเวณด่านพรมแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นเส้นทางที่จะเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่ง จากจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า ที่ อ.เชียงของ สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 ไปยัง เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว  และ จีนตอนใต้ ที่เมืองคุนหมิง 

สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดภาคเหนือเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับ อ. เชียงของเป็นโลจิสติกส์ฮับของภาคเหนือ และส่งเสริม จ.เชียงรายเป็นเมืองโลจิสติกส์ (Logistic City) ของภูมิภาคในอนาคต ขณะที่ สามารถเชื่อมโยงจากประเทศจีนตอนใต้ ผ่านลาว มาไทยไปยังท่าเรือแหลมฉบัง รองรับการพัฒนาพื้นที่อีอีซี  ได้อย่างสะดวก เชื่อมโยงการเดินทาง ขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยสามารถเชื่อมต่อกับท่าเรือ และสนามบิน รวมไปถึงโครงข่ายทางหลวงภายในประเทศ เป็นโครงการที่เชื่อมระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC) และอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้อย่างสมบูรณ์  ลดต้นทุนด้านการขนส่งอย่างยั่งยืน และเป็นการเปิดประตูสู่การค้าชายแดนภาคเหนือ เพิ่มช่องทางในการส่งออกสินค้าจากไทยและสร้างโอกาสที่ดีต่อการค้า การลงทุนของประเทศ 

โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ ที่จะเปิดพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ ที่เปี่ยมด้วยศักยภาพ ทั้งด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจและการค้า โดยผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย มีสถานีทั้งสิ้น 26 สถานี ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง มีการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวก ตามหลัก Universal Design

และยังมีการออกแบบรั้วกั้นเขตแนวสายทาง มีสะพานรถไฟ สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 40 แห่ง ทางรถยนต์ลอดรถไฟ 102  แห่ง มีทางเชื่อมรวมและกระจายจราจร ตลอดจนสะพานลอย ทางเท้า และทางรถจักรยานยนต์ข้ามและลอดทางรถไฟ แก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ 254 จุด ตลอดแนวเส้นทาง เพื่อให้สามารถเพิ่มระดับความเร็วในการเดินทางขนส่งได้อย่างปลอดภัย และยังมีลานขนถ่ายสินค้าจำนวน 4 แห่ง และย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 1 แห่ง ที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่ พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อด่านชายแดนเชียงของ

สำหรับเส้นทางที่ผ่าน 4 จังหวัดทางภาคเหนือ ได้แก่

1.จ.แพร่ มีระยะทาง 77.20 กิโลเมตร จำนวน 6 สถานี คือ เด่นชัย, สูงเม่น, แพร่, แม่คำมี ,หนองเสี้ยว และสอง

2.จ.ลำปาง มีระยะทาง 52.40 กิโลเมตร  จำนวน 3 สถานี คือ แม่ตีบ ,งาว และปงเตา

3.จ.พะเยา มีระยะทาง 54.10 กิโลเมตร จำนวน 6 สถานี  คือ มหาวิทยาลัยพะเยา, บ้านโทกหวาก ,พะเยา , ดงเจน, บ้านร้อง และบ้านใหม่

4.จ. เชียงราย มีระยะทาง 139.40 กิโลเมตร  จำนวน 11 สถานี คือ ป่าแดด, ป่าแงะ, บ้านโป่งเกลือ ,สันป่าเหียง, เชียงราย, ทุ่งก่อ, เวียงเชียงรุ้ง, ชุมทางบ้านป่าซาง, บ้านเกี๋ยง, ศรีดอนชัย และเชียงของ

เนื่องจากเส้นทางต้องผ่านภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูง และเขตอุทยาน จึงมีการออกแบบก่อสร้างเป็นคันทางระดับดินและทางรถไฟยกระดับ รวมถึงมีการเจาะภูเขาก่อสร้างอุโมงค์ 4  แห่ง ระยะทางในอุโมงค์ทั้งขาขึ้นและขาล่องรวม 27.03 กิโลเมตร โดยที่ จ.แพร่ มี 2 อุโมงค์ คือ ที่อำเภอสอง โดยอุโมงค์ที่ 1 มีความยาว 1.175  กิโลเมตร  อุโมงค์ที่ 2 ความยาว 6.240 กิโลเมตร  อุโมงค์ที่ 3 อยู่ที่บริเวณ อ.เมือง จ.พะเยา ความยาว 2.700 กิโลเมตร และอุโมงค์ที่ 4 อยู่ที่  อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย  ความยาว 3.400 กิโลเมตร

การเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาลอดใต้ผืนป่าอุทยาน ถึง 4 อุโมงค์ นอกจากเป็นเป็นไฮไลท์สำคัญของการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของแล้ว ยังจะสร้างสถิติใหม่ เป็นอุโมงค์รถไฟที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย เหนืออุโมงค์รถไฟบ้านหินลับ ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ที่มีระยะทางในอุโมงค์ทั้งขาขึ้นและขาล่องรวมกว่า 10.4 กิโลเมตร

และด้วยสภาพพื้นที่ ตลอดสองข้างทางที่สวยงาม มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ผู้โดยสารจะเพลิดเพลินไปกับวิวผืนป่าที่เขียวชอุ่มและสดชื่นสบายตา เส้นทางรถไฟแล่นผ่านเทือกเขา สะพาน สลับกับการลอดอุโมงค์ จึงขึ้นแท่นเป็นเส้นทางรถไฟที่มีทัศนียภาพสวยงามตลอดเส้นทาง และจะสร้างความประทับใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสถานที่ท่องเที่ยวเดิม และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่

ประกอบกับ เส้นทางรถไฟ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จะลดระยะเวลาในการเดินทางได้เร็วกว่า 1 ชม.-1.30 ชม. เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์อีกด้วย จึงเป็นเส้นทางรถไฟแห่งอนาคต ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจการค้า สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ที่เส้นทางตัดผ่าน 

ขณะนี้ การรถไฟฯ ได้ทำการเปิดประมูลตามมติครม.ไปแล้ว แต่มีการคัดค้านโครงการ เรียกร้องให้มีการตรวจสอบและให้ชะลอการประมูล หรือยกเลิกและจัดทำทีโออาร์ จัดการประมูลขึ้นใหม่ โดยอ้างมีข้อสงสัย กำหนดทีโออาร์เอื้อประโยชน์ให้กลุ่ม ผู้รับเหมารายใหญ่ มีการฮั้วราคา ทำให้รัฐเสียประโยชน์ เนื่องจากมีการเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเพียง 60 ล้านบาท

ทุกประเด็นข้อสงสัย รฟท.ได้มีการชี้แจง ข้อเท็จจริง ว่าได้ดำเนินการโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 และดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มีการจัดทำราคากลางคำนึงถึงประโยชน์ของภาครัฐและประเทศชาติเป็นสำคัญ  โดยใช้ราคากลางเดือนตุลาคม 2563 ที่ รฟท.ไม่ได้ปรับราคาใหม่ หากใช้ราคากลางใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็นเดือนที่ประมูลงานนี้ ค่าก่อสร้างรวมทั้งโครงการจะมีมูลค่าสูงขึ้นกว่า 4,600 ล้านบาท จึงทำให้รัฐประหยัดงบเงินได้ถึง 4,600 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการภายใต้โครงการข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งเป็นความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมีผู้สังเกตการณ์ที่กรมบัญชีกลางแต่งตั้งจำนวน 3 คนเข้าร่วมสังเกตการณ์ติดตาม ตรวจสอบทุกขั้นตอน 

โครงการมีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนไปแล้ว และเปิดประมูลแล้ว ด้วยค่าก่อสร้างกว่า 7.2 หมื่นล้านบาทจะเป็นเม็ดเงินที่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานราก  ที่จะเกิดการเกิดการจ้างแรงงาน สร้างงาน กระจายรายได้ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในขณะนี้ และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ โครงการเปิดให้บริการ จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการทำมาค้าขาย ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับประชาชนในจังหวัด ช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน  ช่วยกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทาง

แต่หากเปิดประมูลใหม่ แน่นอน จะต้องจัดทีโออาร์ใหม่ ทำราคากลางใหม่ ใช้ต้นทุนปี 2564 ซึ่งราคากลางจะปรับเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ราคาวัสดุหลักต่างๆที่ผันผวนอย่างมากจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะราคาเหล็ก ที่พบว่ามีการปรับเพิ่มสูงขึ้นจากเดือน ตุลาคม 2563 แล้วมากกว่า 40% อีกทั้งการเปิดประมูลใหม่ จะทำให้เกิดความล่าช้า และต้องเลื่อนโครงการออกไปอีกหลายปี ทำให้ประเทศเสียโอกาสในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ การประมูลใหม่ ด้วยราคาใหม่ที่แพงกว่าเดิม  สุดท้ายกลุ่มทุนผู้รับเหมาได้ประโยชน์...จะมีใครรับผิดชอบหรือไม่

 

 

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ