เดิมพัน 120 วันเปิดประเทศ ผวา! 6 หมื่นโรงงาน คลัสเตอร์ระลอก 4

วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2564

เดิมพัน 120 วันเปิดประเทศ ผวา! 6 หมื่นโรงงาน คลัสเตอร์ระลอก 4


ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ตั้งเป้า ไทยต้องเปิดประเทศภายใน 120 วัน โดยตอนหนึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องมองไปในอนาคตที่ไกลขึ้นอีก คือการเปิดประเทศ และรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยอีกครั้ง นี่คือหนทางสำคัญหนทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ที่ไม่สามารถทำมาหากินกันได้มาเป็นระยะเวลานาน

“วันนี้ ผมขอแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า ผมตั้งเป้าเอาไว้ว่า ประเทศไทยจะต้องเปิดประเทศทั้งประเทศ ให้ได้ภายใน 120 วัน นับจากวันนี้ ส่วนเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ ๆ หากพร้อมได้เร็วกว่าก็ควรทยอยเปิดให้ได้เร็วกว่านั้น นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสเรียบร้อยแล้ว ควรเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัว และไม่ต้องมีเงื่อนไขข้อห้ามที่สร้างความยากลำบาก รวมทั้งคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ หากเป็นคนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ก็ควรที่จะสามารถเดินทางกลับเข้าประเทศของตัวเองได้ โดยไม่ต้องกักตัวเช่นเดียวกัน ในส่วนของสถานที่ทำงานและธุรกิจร้านค้าต่าง ๆ ควรต้องกลับมาเปิดทำการได้ การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ควรทำได้ โดยไม่มีข้อห้ามหรือข้อบังคับแบบเหมารวมทั้งจังหวัด ที่จะสร้างความยากลำบากอีก ยกเว้นหากมีสถานการณ์ร้ายแรงใหม่เกิดขึ้น หรือมีความจำเป็นจริง ๆ ก็ให้พิจารณาเป็นกรณีไป” นายกรัฐมนตรี กล่าว

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับว่า การตัดสินใจดังกล่าว มาพร้อมกับความเสี่ยง เพราะเมื่อเราเปิดประเทศ ไม่ว่าเราจะเตรียมการป้องกันขนาดไหนก็ตาม ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบ้าง แต่เมื่อเราประเมินสถานการณ์ และคิดถึงความอยู่รอดในการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกันบ้าง หากความเสี่ยงนั้น เราได้ประเมินอย่างรอบคอบแล้วว่าอยู่ในระดับที่พอจะรับได้ เราต้องจัดลำดับความสำคัญภายใน สำหรับประเทศไทยของเรา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

หวั่นคลัสเตอร์ระลอก 4

นโยบายการเปิดประเทศภายใน 120 วัน แม้จะเป็นสิ่งที่หลายคนเห็นด้วย แต่ในอีกด้านก็สร้างความกังวลว่าจะส่งผลต่อการระบาดระลอก 4 อาทิ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุความตอนหนึ่งว่า กลัวจะลุกลามต่อไปเป็นการระบาดรอบใหม่ เนื่องจากยอดผู้ป่วยในเขตกทม.และปริมณฑลไม่ยอมลดต่อ มีการระบาดของเชื้อสายพันธุ์อินเดีย เนื่องจากเชื้อสายพันธุ์ที่เข้ามาใหม่จะแสดงความรุนแรงทั้งในการแพร่กระจายง่ายและรุนแรงในแง่ของการเจ็บป่วย การควบคุมการแพร่กระจายในกลุ่มแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายยังทำไม่ได้ดีพอ ส่งผลให้มีการลุกลามออกมาสู่ชุมชนคนไทยรอบข้าง กลุ่มก้อนนี้คงไม่สามารถจัดการได้ด้วยระบบปฏิบัติการปกติ เนื่องจากอยู่นอกเหนืออำนาจของหน่วยงานเฉพาะต่างๆ ที่มีอยู่ แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายนี้น่าจะแทรกซึมเป็นวงกว้าง ตั้งแต่งานบริการในครัวเรือน กิจการขนาดเล็ก ไปจนถึงสถานประกอบการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ หลายคนมองไปถึงการบริหารจัดการแบบสมุทรสาครโมเดล แต่ในครั้งนั้นมีการบูรณาการดำเนินงานทั้งจากหน่วยงานภายในและภายนอกจังหวัด รวมถึงงบประมาณในการดำเนินการที่เพียงพอเพราะไม่มีการระบาดในจังหวัดอื่นมากนัก หากไม่รีบดำเนินการตัดตอนเรื่องนี้ให้ดี เกรงว่าวิกฤติโควิดระลอกสี่จะหนีไม่พ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงการผ่อนผันมาตรการควบคุมโรคในกทม.ที่เพิ่งประกาศไปโดยไม่บอกถึงรายละเอียดมาตรการกำกับดูแลให้เป็นจริง หรือมาตรการเปิดประเทศใน 120 วันโดยหวังจะใช้แต่วัคซีนเป็นคำตอบสุดท้าย ทำให้เสียวสันหลังวาบอยู่พิกล

ผวา 6 หมื่นโรงงาน

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มโรงงานว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นโรงงาน สถานประกอบการ ที่มีผู้ติดเชื้อเกิน 50 คน มีอยู่ 4 จังหวัดคือ สระบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และตรัง ขณะพื้นที่ชายแดนที่พบต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศมีผู้ติดเชื้อเกิน 50 คน 3 จังหวัดคือ จันทบุรี สงขลา ปัตตานี อย่างไรก็ตามในส่วนของการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในกลุ่มโรงงานตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-16 มิ.ย. มีไปแล้ว 27 จังหวัด ซึ่งรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รายงานตัวเลขว่า ขณะนี้มีโรงงานทั่วประเทศ 64,038 แห่ง เป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีแรงงานเกิน 200 คน 3,304 โรง จนถึง 14 มิ.ย. มีโรงงานทั้งหมดทำการประเมินตนเองในระบบไทยสต็อปโควิดพลัส 8,132 โรง เฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ทำการประเมินตนเองแล้ว 2,241 โรง ผ่านเกณฑ์ 1,583 โรง ไม่ผ่านเกณฑ์ 656 โรง และตั้งเป้าตั้งแต่วันที่ 16-30 มิ.ย.จะให้โรงงานทั้งหมดประเมินตนเอง โดยขอความร่วมมือทุกโรงงานต้องทำการประเมินตนเอง เพราะเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะโรงงานที่ทำแล้วไม่ผ่านจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยปรับปรุง ขณะที่พนักงานต้องประเมินตัวเองทุกวัน และสำหรับโรงงานต่างๆนั้นจะมีการประเมินซ้ำทุกๆ 2 สัปดาห์

 “อุตฯ-แรงงาน” เร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มาฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ณ ศูนย์ฉีดวัคซีน บริษัท โรงงานฟุตบอลไทย สปอร์ตติ้ง กู๊ดส์ จำกัด  ถนนฉลองกรุง เขตหนองจอก กทม. ว่า ในส่วนของการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานภาคอุตสาหกรรมขณะนี้มีความก้าวหน้าไปมาก ซึ่งวัคซีนที่ได้มาจะพยายามฉีดให้ได้ตามแผนที่วางไว้ โดยมุ่งเป้าไปที่นิคมอุตสาหกรรมที่มีแรงงานภาคอุตสาหกรรมอยู่จำนวนมากเป็นลำดับแรก ซึ่งตามแผนที่วางไว้จะกระจายไปตามศูนย์ฉีดวัคซีนในนิคมฯ 27 แห่ง โดยหากได้รับวัคซีนมาครบตามจำนวนที่ได้ลงทะเบียนไว้ ก็จะดำเนินการร่วมกับกระทรวงแรงงาน เพื่อฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรมทั้งที่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และนอกนิคมอุตสาหกรรม จำนวนประมาณ 3.3 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 850,000 คน

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนมีความตั้งใจช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน ขณะเดียวกันยังตั้งเป้าสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม เพื่อทำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว ให้ภาคธุรกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้โดยเร็ว ทั้งนี้ มีโรงงานที่ประเมินตนเองผ่าน Thai Stop Covid Plus ตามที่กระทรวงฯ ขอความร่วมมือแล้ว รวมกว่า 8,565 โรงงาน

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์จากตัวเลขจำนวนโรงงาน 64,038 แห่ง จนถึง 14 มิ.ย. มีโรงงานทั้งหมดทำการประเมินตนเองในระบบไทยสต็อปโควิดพลัส 8,132 โรง เท่ากับว่ายังมีโรงงานที่ยังไม่ทำการประเมินอีกถึง 55,906 โรง แม้กระทั่งโรงงานขนาดใหญ่ที่มีเป้าหมายการติดเชื้อมากกว่าโรงงานขนาดเล็ก จำนวน 3,304 โรงงาน ก็ทำการประเมินตนเองเพียง 2,241 โรง อีกพันกว่าโรงงานยังไม่ได้ประเมิน และโรงงานที่เข้ามาประเมินก็มีถึง 656 โรงงานที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์

ซึ่ง ศบค.มีเงื่อนไขว่าหากขอความร่วมมือแล้วเพิกเฉย ไม่มีการประเมินตนเอง อาจเป็นเหตุให้มีการติดเชื้อและกระจายไปยังพื้นที่ ชุมชน ตรงนี้จะมีการพิจารณาเรื่องบทลงโทษ แต่หากโรงงานไหนทำได้ดี จะมีการทบทวนการให้รางวัล ชมเชย ปรับให้เป็นสถานประกอบการต้นแบบ ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าเมื่อถึงสิ้นเดือน มิ.ย.64 โรงงานทั้งหมดจะทำการประเมินได้ครบตามเป้าหมายของ ศบค.หรือเปล่า



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ