เกษตรเมืองตราด ปั้นแบรนด์ทุเรียน ฝ่าวิกฤติโควิด-19

วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2564

เกษตรเมืองตราด ปั้นแบรนด์ทุเรียน ฝ่าวิกฤติโควิด-19


การที่เกษตรกรคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาทำอะไรที่ฉีกแนวจากรูปแบบเดิมๆ ต้องเผชิญกับความกดดันรอบด้าน เพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องเสี่ยงกับผลลัพธ์ว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ถ้าผิดจากที่วางแผนไว้ก็เท่ากับว่าลงทุนไปโดยเปล่าประโยชน์ และต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นสร้างคุณภาพชีวิตใหม่ที่ดีกว่า ก็เท่ากับว่าก้าวล้ำหน้าไปก่อนคนอื่น “คมญ์คริษฐ์ กล่อมสังข์” เกษตรกรดีเด่นแห่งหมู่บ้านไม้รูด ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด คือเกษตรกรที่มีแนวความคิดในรูปแบบนี้

               ด้วยความที่เป็นคนชอบศึกษาหาความรู้ ชอบการคิด วิเคราะห์ในเชิงวิทยาศาสตร์การเกษตร เขาจึงรู้ว่าโลกยุคใหม่กำลังก้าวไปสู่การทำเกษตรแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ชีวิตได้ดีกว่า และเขาไม่รั้งรอที่จะเป็นคนหนึ่งซึ่งเดินเข้าไปหาความเปลี่ยนแปลงนั้น

               “เป้าหมายในการทำเกษตรของผมคือการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างผลกำไรในรูปแบบที่เอาไม่เปรียบผู้บริโภค สิ่งแรกที่เราต้องมีคือ “ความคิด” ต้องคิดเป็น” คุณคมญ์คริษฐ์ กล่าวพร้อมอธิบายต่อว่า “ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรออกมามากมาย โดยเฉพาะปุ๋ยนั้นนับไม่ถ้วน แต่ทุกคนลืมดินหมด ถามว่าผลผลิตที่ดีมีเหตุมาจากไหน เหตุมาจากดิน แต่เวลาปลูกทุเรียนลืมดินหมดเลย มุ่งหวังจะไปหาแต่ปุ๋ย ฮอร์โมน ยา อะไรดีก็ใส่เข้าไป ทำให้ต้นไม้อยู่กับเราไม่นาน ทีนี้ในแนวคิดของผมเป็นคนสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์การเกษตร การใช้ธาตุอาหารในดิน ถ้าค่า PH เหมาะสม ธาตุอาหารทุกตัวก็จะกว้างขึ้น บางทีดินเราไม่จำเป็นต้องใส่สารตัวนั้นตัวนี้ อินทรีย์อย่างเดียวก็เปิดกว้างแล้ว สามารถดึงธาตุอาหารต่างๆที่อยู่ในดินมาใช้ได้ ปรากฏว่าทุเรียนของเรารูปทรงสวย ติดผลดี เซฟต้นทุนตัวนี้ ไม่ต้องใช้น้ำจำนวนมาก สมัยก่อนผสมฮอร์โมน 5-6 ตัว ฉีดกันตะบัน ไร้การควบคุม หนอน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยปุยฝ้ายถ่ายมูลออกมา เกิดราดำเกาะตามลูก ผมเจอมาแล้ว เมื่อเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์จึงเห็นความแตกต่าง แก้ปัญหาราดำด้วยการใช้สมุนไพรคือยาฉุนห่อกระดาษ ทำทั้งแปลง ผลผลิตไม่เสียเกือบ 100% ไม่มีหนอน ไม่ต้องเสียเงินฉีดยารอบหนึ่ง 3 หมื่นบาท ก่อนจะเก็บเกี่ยวใช้กี่รอบ เป็นแสน หรือมากกว่า นี่คือหลักวิธีการเซฟต้นทุน ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค”

               อย่างไรก็ตาม คุณคมญ์คริษฐ์ยอมรับว่าการทำเกษตรอินทรีย์ช่วงแรกอาจไม่เห็นผลทันตา เกษตรกรต้องอย่าท้อ ครั้งสองครั้งอย่าท้อ อย่าคิดว่าไม่มีคุณภาพ อย่าคิดว่าธาตุอาหารไม่ดี การใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียวจะมีอะไร ต้นไม้จะงามได้อย่างไร พอพูดคำว่าอินทรีย์เกษตรกรเมินหน้าหนีหมด ไม่เวิร์ค ธาตุอาหารต่ำ นานาจิตตัง แต่คุณลืมมองดิน ต้นไม้ต้องการธาตุอาหารเท่าไหร่ ในปริมาณเท่าไหร่ ธาตุอาหารตัวไหนล้น ตัวไหนขาด มีใครรู้บ้าง เราเน้นแต่การเร่งดอก เร่งผล เป็นหลัก จนดินขาดความสมดุล การทำเกษตรอินทรีย์ช่วงแรกอาจจะใช้ความอดทนสักนิด ใช้เวลาสักนิด ไม่เห็นผลปุบปับ แต่เมื่อไหร่ติดลมบนทุกอย่างจะดำเนินการไปตามธรรมชาติ เป็นอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องไปทำอะไรเลย ที่เห็นชัดเจนคือการประหยัดต้นทุน จาการขึ้นแปลงทุเรียนเคยใช้น้ำ 5 คิวก็เหลือแค่คิวกว่าๆ

               ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 คุณคมญ์คริษฐ์ก็ปรับตัวด้วยการเพิ่มช่องทางการตลาดทำผ่านระบบออนไลน์ มีแบรนด์ของตัวเองคือ “ทุเรียนสวนเตี่ย By khomkarit”       

               “เราทำแบรนด์ของเราเอง ทำทุเรียนพรีเมียม คนมีเงินเขาก็พร้อมจะบริโภค ขายกิโลละ 200-300 บาท เขาก็พร้อมจะซื้อถ้ามีความปลอดภัย ไม่ต้องให้ตลาดมากำหนดราคา แต่เราสามารถสร้างราคาที่เหมาะสมกับผลผลิตได้ ชีวิตเราจะสดใส ได้สุขภาพที่ดี ทั้งตัวเรา คนในครอบครัว คนงาน และผู้บริโภค ไม่ต้องเอาเงินไปให้ร้านขายยา ไม่ต้องเสียเงินจำนวนมากในการรักษาพยาบาล ผมจึงมีความสุขที่ได้เปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ มีความมั่นใจมาก เพียงแต่ระยะแรกเราต้องอดทนหน่อย” คุณคมญ์คริษฐ์ กล่าว

 

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ