“เงินภาษีของกู”

วันจันทร์ที่ 03 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

 “เงินภาษีของกู”


 

ยุคสมัยนี้คงได้ยินกันบ่อยๆ ใครจะทำอะไรกับบ้านเมืองก็มักจะอ้างว่า “เงินภาษีของกู” กันทั้งนั้น จนชาวบ้านอย่างเราๆท่านๆ สับสนไปหมดว่า ใครกันแน่ที่จ่ายเงินภาษีให้กับ ‘รัฐบาล’ เพื่อเอามาเลี้ยงดูปากท้องประชาชนและพัฒนาประเทศ ซึ่งหากใช้ตัวเลขในปีงบประมาณ 2562 ‘กรมสรรพากร’ จัดเก็บภาษีได้เกือบ 2 ล้านล้านบาท

เชื่อหรือไม่ว่า ตัวเลขจำนวนประชากรของประเทศไทยตามทะเบียนราษฎรในปัจจุบันมีร่วม 67 ล้านคน กลับมีคนยื่นแบบแสดงรายการของปี 2562 ไม่ถึง 12 ล้านคน ซึ่งยอดดังกล่าว น่าจะตกลงพอสมควรในปี 2563 ที่เพิ่งผ่านมา เนื่องด้วยผลพวงของ ‘โควิด’ ต่อระบบเศรษฐกิจ ในบรรดากลุ่มบุคคลเหล่านี้เป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีจริง ๆ ในอัตราก้าวหน้าไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด ซึ่งมักจะเป็นคนทำงานในบริษัทที่มีเงินเดือนสูงระดับหนึ่ง  เจ้าของห้างร้านที่ประกอบกิจการในนามส่วนตัว ผู้ให้เช่าหรือผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ เป็นต้น ที่เหลือ คือ กลุ่มบุคคลที่มีจำนวนเงินได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการแต่ไม่มีเม็ดเงินภาษีที่จะต้องเสีย และยังอาจมีสิทธิได้รับเงินภาษีคืนจากกรมสรรพากรด้วย ฉะนั้น คนส่วนใหญ่ที่ยื่นแบบแสดงรายการเป็นบุคคลที่ไม่มีเงินภาษีให้เสีย แต่กรมสรรพากรอยากได้ฐานข้อมูลในระบบ ‘กฎหมาย’ จึงบังคับให้ต้องยื่นแบบแสดงรายการไว้ก่อน

ยังมี ‘ผู้เสียภาษี’ อีกกลุ่มที่เป็นนักลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนหรือบรรดาเจ้าของกิจการในบริษัทต่าง ๆ ซึ่งมักจะเป็นผู้ที่มีฐานะการเงินระดับบนของประเทศ ‘เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย’ ในอัตราร้อยละ 10 สำหรับเงินปันผล และร้อยละ 15 สำหรับดอกเบี้ย โดยใช้สิทธิเลือกไม่นำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณกับรายได้อื่น ๆ ตอนปลายปี เพื่อลดความก้าวหน้าของอัตราภาษี ซึ่งหากไม่มีรายได้อื่น ๆ แล้ว ‘บุคคลกลุ่มนี้’ ไม่มีหน้าที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด โดย ‘ภาษีหัก ณ ที่จ่าย’ จะถือเป็นที่สุด ส่วนกำไรจากการซื้อขายหุ้นนั้นจะ ‘ได้รับยกเว้นภาษี’ หากได้กระทำในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เมื่อรวม “ผู้ที่ต้องเสียภาษี’ ทั้งสองกลุ่มเข้าด้วยกัน จะพบความจริงที่น่าตกใจว่า จำนวนคนที่ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่กรมสรรพากรจริง ๆ มีจำนวนเพียงไม่เกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ คิดเป็นเงินภาษีที่กรมสรรพากรจัดเก็บได้ทั้งสิ้นร้อยละ 16.74 โดยประมาณ  บางคนอาจแย้งว่า ‘ภาษีเงินได้’ ส่วนใหญ่ของเราเก็บจากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เนื่องจากคิดเป็นเงินภาษีที่จัดเก็บได้ถึงร้อยละ 34.57 บวกกับอีกร้อยละ 5 สำหรับภาษีเงินได้ปิโตรเลียม แต่อย่าลืมว่า บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เป็นเพียง ‘บุคคลสมมติในทางกฎหมาย’ และเจ้าของนิติบุคคลเหล่านี้ทอดสุดท้ายก็ คือ บุคคลธรรมดาในกลุ่มที่หนึ่ง หรือกลุ่มที่สองนั่นเอง ไม่ว่าจะถือหุ้นผ่านบริษัทต่าง ๆ กี่ทอดกี่ชั้นก็ตาม จึงพอพูดได้ว่า ‘ภาษีเงินได้’ ทั้งระบบของประเทศคิดเป็นจำนวนร้อยละ 56 ของเงินภาษีทั้งหมดที่จัดเก็บได้

หากพิจารณาจากมุมมองเฉพาะด้าน ‘ภาษีเงินได้’ แล้ว อาจกล่าวได้ว่า ประชากร 7 ล้านคน กำลังแบกรับภาระเลี้ยงดูประชากรที่เหลืออีก 60 ล้านคนของประเทศ แล้วเงินภาษีที่เหลืออีกร้อยละ 44 ที่กรมสรรพากรจัดเก็บได้ มาจากไหน ก็มาจากภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 39.8 ภาษีธุรกิจเฉพาะร้อยละ 3 (เช่น กิจการธนาคาร การค้าอสังหาริมทรัพย์) ส่วนที่เหลือเป็นอากรแสตมป์ ภาษีการรับมรดกและอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานจัดเก็บภาษีอากรอื่น ๆ อีกเช่น กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต ซึ่งจัดเก็บอากรได้กว่า 100,000 ล้านบาทและภาษีสรรพสามิตได้ประมาณ 550,000 ล้านบาท

ดังนั้น ต่อให้เราไม่ใช่ประชากรในกลุ่มเป้าหมายที่ได้ ‘จ่ายภาษีเงินได้’ ให้แก่กรมสรรพากร แต่จะมากจะน้อยทุกคนย่อมมีส่วนในการ  ‘จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม’ อากรขาเข้า และภาษีสรรพสามิตให้แก่ประเทศเสมอเมื่อมีการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าบริการ กล่าวคือ คนรวยมากบริโภคมากก็ต้องจ่ายภาษีให้รัฐมากหน่อย คนที่บริโภคน้อยก็จ่ายภาษีน้อยลงตามสัดส่วน ก็คงพอที่จะทำให้หลายๆ คนที่ไม่เคยเสียภาษีเงินได้ไม่ว่าโดยตัวเองหรือโดยผ่านบริษัทที่ตนถือหุ้น พูดเสียงดังขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อยว่า “เงินภาษีของกู”

เมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ท่านสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ได้อุตส่าห์ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า จะไม่มีการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 7 ไปที่อัตราเดิมร้อยละ 10 แต่อย่างใด ในฐานะประชากรชาวไทย ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงนัก ก็ช่วยกันคนละไม้ละมือให้ประเทศของเราผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ โดยการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเถอะครับ แม้ว่าขณะนี้จะพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2563 ไปแล้ว แต่ผู้ที่ยังไม่ได้ยื่นแบบ สามารถเลือกใช้ระบบออนไลน์ของกรมสรรพากรซึ่งขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการให้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่มแต่อย่างใด แล้วเราก็จะพูดได้เต็มปากเต็มคำโดยไม่ต้องอายใครว่า “เงินภาษีของกู” น่ะ

บทความโดย : ศ.พิเศษ พิภพ วีระพงษ์
บริษัท ลอว์อัลลายแอนซ์ จำกัด



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ