นักวิชาการฟันธง วิถีแห่งป่าคือเกษตรยั่งยืน (1)

วันอาทิตย์ที่ 07 เมษายน พ.ศ. 2556

นักวิชาการฟันธง วิถีแห่งป่าคือเกษตรยั่งยืน (1)


ประเทศไทยเคยได้ชื่อว่ามีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค อีกทั้งยังได้ ชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร จนส่งผลให้เกษตรกร ทำการเพาะปลูกพืชผลกันมากขึ้นๆ จนกระทั่งทำให้มีการบุกรุกป่าตัดไม้เพื่อทำพื้นที่ เพาะปลูก ส่งผลให้ในปัจจุบันหลายพื้นที่ประสบกับภาวะแห้งแล้งฝนไม่ตกตามฤดูกาล ไม่สามารถปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ดังเดิม แต่ที่จังหวัดน่านโดยเฉพาะที่บ้าน ศรีนาป่าน-ตาแวน เกษตรกรกลับสามารถเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรอย่างต้นเมี่ยง สร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันป่าไม้ก็ยังคงอยู่ได้ควบคู่ไปกับการทำการเกษตร นั่นคือเหตุผลที่สำนัก งานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ มูลนิธิฮักเมืองน่าน ร่วมกันจัด "การประชุม วิชาการ ABC สัญจรจังหวัดน่าน ครั้งที่ 2 : การจัดการดิน น้ำ ป่า และอาชีพ เพื่อ ความยั่งยืนและการพัฒนาบนทุนวัฒนธรรม" ณ โรงแรมเทวราช จังหวัดน่าน เพื่อนำเสนอ ผลงานวิจัยที่ สกว. สนับสนุนทุนวิจัยซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การวิจัยจังหวัดน่านปี 52-56 โดยผลที่ได้จะนำไปใช้ขับเคลื่อน งานพัฒนา สร้างประโยชน์ สร้างความรู้สู่โอกาส และทางเลือกของการพัฒนาจังหวัด น่านใน 4 มิติ ได้แก่ มิติสังคมในเรื่องตัวตน คนน่านกับการจัดการการพัฒนา มิติทรัพ-ยากรธรรมชาติ กับการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า มิติเศรษฐกิจ กับเกษตรบนฐานชีวิต คนน่าน และมิติวัฒนธรรม กับการท่องเที่ยว ฐานวัฒนธรรมโดยชุมชน
ทีมข่าวเกษตรสยามธุรกิจได้ติดตามไปพูดคุยกับดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้-อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คุณสำรวย ผัดผล ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน และคุณบุญทวี ทะนัน-ไชย ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์ ชาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อำเภอศรีนาป่าน-ตาแวน เพื่อค้นหาวิธีการ รักษาป่าควบคู่ไปกับการทำการเกษตร ซึ่งเป็นการพูดคุยในวงสนทนาใหญ่พร้อมกับเดินสำรวจท่องเที่ยวเชิงนิเวศฯ ไปด้วย
เริ่มต้น ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า .สกว. ได้ริเริ่มงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่โดยมีน่านเป็นหนึ่งในจังหวัด เป้าหมายมาตั้งแต่ปี 2550 โดยภาพรวมของ โครงการวิจัยในพื้นที่มีด้วยกัน 70 โครงการ และโครงการติดตามสนับสนุนอื่นๆ อีก 31 โครงการ ครอบคลุมการศึกษาใน 9 ประเด็น ได้แก่ 1.เกษตรกรรมและการจัดการผลผลิต 2.เศรษฐกิจและอาชีพ 3.การท่องเที่ยว 4.การพัฒนาการศึกษา เด็ก เยาวชน และครอบครัว 5.การสร้างความเข้มแข็ง การบริหารจัดการและระบบข้อมูลชุมชน 6.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 7.ประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม และประเพณี 8.สุขภาพ และ 9.โครงการอื่นๆ ทั้งนี้ เป้าหมายและประเด็น ร่วมในการขับเคลื่อนที่ สกว. และภาคีพัฒนา ใน จ.น่าน เห็นร่วมกัน คือ การฟื้นฟูรักษาป่าต้นน้ำและการจัดการที่ดิน เพื่อยกระดับ ความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่อย่างยั่งยืน.
"การจัดการเกษตรป่าเมี่ยงชุมชน และการจัดการน้ำระดับลุ่มน้ำย่อย ที่ตำบล เรือง อำเภอเมือง จังหวัดน่านนั้น ชาวชุมชน บ้านศรีนาป่าน-ตาแวน เขามีวิถีชีวิตกับการ ปลูกเมี่ยงและการดูแลรักษาป่าต้นน้ำห้วยหลวง ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาการจัดการน้ำที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้าน ทำให้แกนนำชุมชน ร่วมกับ อบต.ตำบลเรือง รวมทั้ง "โครงการวิจัยสร้างข้อมูล ความรู้ และกลไกความร่วมมือเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันในการฟื้นฟูรักษาป่าต้นน้ำ และการจัดการที่ดินจังหวัดน่าน" โดยมูลนิธิฮักเมืองน่าน ซึ่งได้รับการสนับสนุน ทุนจาก สกว. ทำให้เกิดกลไกความร่วมมือระหว่างชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสำรวจ จัดเก็บ รวบรวม ข้อมูลด้านทรัพ-ยากรธรรมชาติทั้งป่าและน้ำ เพื่อใช้เป็นฐาน ข้อมูลในการพัฒนาดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในตำบลร่วมกันต่อไปในพื้นที่อื่นๆ"
ทางด้าน คุณสำรวย ผัดผล ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน ได้กล่าวถึงเหตุที่พื้นที่ปลูกเมี่ยงของชาวชุมชนตำบลเรือง อำเภอ เมือง จังหวัดน่าน มีความน่าสนใจในการทำการเกษตรควบคู่ไปกับการรักษาป่าว่า "พื้นที่นี้อยู่ห่างจากตัวเมืองน่าน ประมาณ 15 กิโลเมตร จากคำกล่าวถึงตำบลเรืองที่ว่า "วิถีพอเพียง แบ่งปัน ผูกพัน คน น้ำ ป่า" นอกจากจะบ่งบอกว่าตำบลเรืองเป็นตำบลที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ ป่า และอาหารจากป่าแล้ว ยังเห็นถึงคนในตำบลเรืองมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับป่า และน้ำมายาวนาน รวมไปถึงการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมจากบรรพบุรุษ นำมาเป็นเครื่องยึดโยงใจของคนในชุมชนให้เกิดความพอเพียง แบ่งปัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการที่จะดูแลรักษา ป่าต้นน้ำ"
"ป่าต้นน้ำถือได้ว่าเป็นทรัพยากร ธรรมชาติที่สำคัญต่อการหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในชุมชนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถ้าจะเอ่ยถึงกระบวนการอนุรักษ์ดูแลป่าต้นน้ำห้วยหลวงแล้ว ชุมชนที่นี่ใช้วิถีการปลูกเมี่ยง ซึ่งเป็นกุศโลบายในการดูแลรักษา ผืนป่า และต้นไม้น้อยใหญ่ในขุนป่าห้วยหลวง "เมี่ยง" เป็นคำในภาษาพื้นบ้านของคนภาคเหนือ ใช้เรียกอาหารว่างหรือ "อมเมี่ยง" ซึ่งเป็นอาหารว่างที่ทำจากใบชาอัสสัม นำมา นึ่งและหมัก เมื่อได้ที่แล้วจะมีรสเปรี้ยว เวลา รับประทาน นำใบเมี่ยงที่หมักมาปั้นเป็นคำ หรือเป็น "อม" อมแล้วทำให้ไม่ง่วงนอน"
"คนสมัยโบราณ และปัจจุบันบางส่วน นิยมอมเมี่ยงเวลาทำงานในสวนไร่นาเพราะ มีกาเฟอีน ขณะเดียวกันคำว่า "เมี่ยง" ใช้แทนการเรียกต้นชาด้วยเช่นกัน ชาวบ้าน บ้านศรีนาป่านมีรายได้หลักมาจากการปลูก เมี่ยงขายมาแต่สมัยบรรพบุรุษ และเชื่อว่าต้นเมี่ยงจะอาศัยและเจริญเติบโตได้ดีใต้เงาไม้ใหญ่หรือในดงป่าไม้ใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ เพราะมีความชุ่มชื้นจากใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมกันมานานปีกลายเป็นปุ๋ยชั้นดีที่ชาวบ้านไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีบำรุงต้นเมี่ยงของตนเอง นั่นเป็นเหตุผลทำให้ป่าห้วยหลวงยังคงเป็นป่าไม้ใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์สืบต่อกันมา และ ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ปัจจุบันแกนนำชุมชนได้มีการแบ่งพื้นที่การใช้ประโยชน์ ของป่าออกเป็น 5 ประเภท คือ 1.ป่าต้นน้ำ 2.ป่าเมี่ยง 3.ป่าใช้สอย 4.ป่าชุมชน และ 5.ป่า พิธีกรรม ซึ่งทางชุมชนได้มีข้อตกลงและกฎกติการ่วมกันในการใช้ประโยชน์พื้นที่แต่ละประเภท"
เมื่อคุณสำรวยพูดเรื่องการแบ่งพื้นที่ป่าเป็น 5 ส่วนแล้ว ก็ได้มอบให้ "คุณบุญทวี ทะนันไชย" ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์ชาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อำเภอศรีนาป่านตาแวน อธิบายถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เมื่อคนรุ่นใหม่ ไม่นิยมอมเมี่ยง คุณบุญทวีกล่าวว่า "ถึงแม้ คนตำบลเรืองจะอาศัยระบบวนเกษตรป่าเมี่ยงเป็นกุศโลบายในกระบวนการดูแลรักษาป่าต้นน้ำห้วยหลวงได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ไม่นิยมอมเมี่ยง ผู้สืบทอดการปลูกเมี่ยงและทำเมี่ยงอมขายลดน้อยลง ส่งผลต่อรายได้จากการขายเมี่ยง"
เนื้อหาสาระกำลังเข้มข้นแต่น่าเสียดายต้องหยุดการสนทนาของ "คุณบุญทวี ทะนันไช" ประธานวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผลิตภัณฑ์ชาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ไว้แค่นี้เพราะพื้นที่จำกัด อย่างไรก็ตาม ยังคงเหลือสาระน่าสนใจอีกมาก อดใจรออ่านฉบับหน้าต่อ


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ